ปชป. ถือธงนำแก้รัฐธรรมนูญ ตั้ง 3 เงื่อนไข ร่วม-ไม่ร่วมรัฐบาล สอนมวย “ธนาธร” อ่านรธน.ให้แตกฉาน

วันที่ 28 พฤาภาคม 2562 เมื่อเวลา 11.00 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงข่าว กรณีแกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินทางมาเทียบเชิญ ปชป.เพื่อเข้าร่วมรัฐบาลเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ในฐานะผู้แทนประสานงานทางการเมือง ว่า ยังไม่มีการพูดคุยกันเรื่องร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับ พปชร. แต่เป็นการพูดคุยถึงเรื่องหลักการทำงานของ ปชป.3 ข้อ ได้แก่

1.ยึดหลักประโยชน์ของประชาชนและเทศชาติเป็นที่ตั้งภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.ยึดนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ คือ ชุดนโยบายแก้จน สร้างคน สร้างชาติ เช่น การประกันรายได้ และ 3.เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เช่น ประเด็น ทิศทางการพัฒนาประเทศที่ไม่ชัดเจน สิทธิของประชาชนที่ลดน้อยถอยลง การปราบปรามการทุจริตยังมีช่องโหว่ กระบวนการทางการเมืองที่กำหนดไว้เป็นปัญหาในทางปฏิบัติเป็นอย่างมาก หลายเรื่องและหลายพรรคการเมืองเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน 

“นายเฉลิมชัยศรีคนเดียวไม่อาจตัดสินใจว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีเงื่อนไขว่า การร่วมรัฐบาล พปชร. แต่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องไม่ใช่นายก ฯ เพราะการพิจารณาว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล หรือ จะชูใครเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีการพูดคุยกันและออกมาเป็นมติพรรค ทั้งนี้ การจะร่วมหรือไม่ร่วมต้องตอบคำถามได้ วันนี้เป็นเพียงการพิจารณาผลการประสานงานทางการเมือง ส่วนจะลงมติร่วมหรือไม่ร่วมหรือไม่ต้องรอจาการประชุมร่วม สมาชิกสามารถแสดงออกได้ แต่สุดท้ายจะยุติไปในทิศทางใดขึ้นอยู่กับมติพรรค

“ไม่มีการต่อรอง ไม่คิดว่าพรรคการเมืองไม่มีราคาค่างวด ถ้ายึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ปชป.สามารถพูดคุยได้ทุกพรรค แต่การตั้งต้น อุดมการณ์ นโยบายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” นายราเมศตอบคำถามจะพูดคุยกับ พท.และ อนค.ได้หรือไม่

นายราเมศกล่าวว่า โดยหลังจากนี้ พปชร.ต้องนำหลักการของ ปชป. กลับไปคุยกับกรรมการบริหาร (กก.บห.) พปชร. เพื่อแจ้งกับมายัง ปชป. โดยนายเฉลิมชัย ในฐานะผู้ประสานงาน ต้องนำกลับมารายงาน กก.บห. ปชป. และที่ประชุมร่วม กก.บห.และ ส.ส. ปชป.ในครั้งถัดไป

โดยวันนี้ จะมีการประชุม กก.บห. เวลา 17.00 น. ต่อจากนั้น 17.30 น. จะประชุมร่วม กก.บห.กับ ส.ส.ปชป. โดยมีวาระการประชุม วาระที่ 3 พิจารณาวาระการประสานงานทางการเมือง หลังจากประชุมแล้วจะมีการแถลงข่าวต่อไป ว่า ที่ประชุมมีความเห็นอย่างไร เพราะ ปชป.ไม่ใช่พรรคที่มีใครเป็นเจ้าของ เสียงสะท้อนจากหลายกลุ่มภายในพรรค กก.บห. และ ส.ส. เราจะรับฟังความเห็นต่าง ๆ อย่างรอบคอบ ให้มาหารือกับโฆษกเพื่อสะท้อนให้พรรครับฟังต่อไป ส่วนคนที่มีสิทธิ์ลงมติจะมีการไปพูดกันเพื่อให้ตกผลึกว่าเราจะมีทิศทางใดในวันข้างหน้า

“การจะร่วมหรือไม่ร่วมไม่มีใครตัดสินใจเพียงคนเดียว มติเป็นอย่างไรจะมีเหตุผลรองรับ พรรคจะยึดถือประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง”

นายราเมศยังกล่าวตอบโต้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่กล่าวหา ปชป.ว่ามีการต่อรอง ตั้งแต่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้คืบจะเอาซอก และการแก้รัฐธรรมนูญ ว่า นายธนาธรควรกลับไปอ่านรัฐธรรมนูญให้แตกฉาน เพราะรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่าตำแหน่งประธานสภา ฯ ให้เป็นไปตามมติของสภานั้น และการที่ ปชป.อาสาเป็นผู้นำทางนิติบัญญัติ ต้องแยกออกจากการระหว่างร่วมรัฐบาลกับไม่ร่วมรัฐบาล กับการดำเนินกิจการในทางนิติบัญญัติ

“ผลการเลือกตั้งของ ส.ส.ที่ลงคะแนนให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ฯ ไม่ได้มาจากการจัดตั้ง ไม่ได้มาจากการต่อรอง แต่เป็นเพราะสภาเห็นว่านายชวนเป็นผู้ซื่อสัตย์สุจริต มีความเป็นกลาง”

สำหรับเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองที่มาร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ทุกพรรคร่วมกันได้ ขณะที่พรรคการเมืองบางพรรคนำประเด็นนี้ไปต่อยอดโดยไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะการเสนอแก้รัฐธรรมนูญของ ปชป. ไม่ใช่เป็นการนำประเด็นแก้รัฐธรรมนูญมาต่อรองว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล เพราะพรรคการเมืองเกือบทุกพรรคเห็นตรงกันว่าต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ