รัฐบาล “บิ๊กตู่” 19 พรรคเคว้ง!! ประชาธิปัตย์พลิกคุมเกม 2 อำนาจ นิติบัญญัติ-บริหาร

พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีจำนวนเสียง ส.ส.สุดท้าย 53 เสียง กุมบังเหียนประมุขฝ่ายนิติบัญญัติไว้ในมือ เป็นพรรคอันดับ 4 ที่แพ้การเลือกตั้งมากที่สุดในรอบ 20 ปี

แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็พลิกจาก “พรรคแพ้” เป็นพรรคที่ “ได้เปรียบ” ทางการเมืองแทบทุกทาง ตั้งแต่วันแรกที่ประตูรัฐสภาเปิดขึ้น

เมื่อพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้แต้ม ส.ส.เป็นอันดับ 2 ยก “ชวน หลีกภัย” ใส่พาน “ประธานรัฐสภา” ด้วยการรวบรวมมือในสภาผู้แทนราษฎร 258 เสียง บนความหวังว่าเส้นทางการ “ร่วมรัฐบาล” จะราบรื่น

แต่เพียงชั่วข้ามคืนการเมืองก็แปรเปลี่ยน-กลับกลาย เมื่อข่าวลับถูกคลี่คลาย ตำแหน่งที่ได้ของ “ชวน” กลายเป็น “โควต้าพิเศษ” อย่างยิ่ง เพราะเป็นตำแหน่งที่ถูกสั่งตัด-เจาะจง และต้องการยอมรับ แบบ “ไม่มีการต่อรอง และต้องไม่อยู่ในโควต้า”

เสียง “หม้ายขันหมาก” ดังขึ้นทั่วหมู่บ้านการเมือง สวนกับเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่คาดว่าจะกำชัยเก้าอี้นายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ที่ก้องไปถึงห้องประชุมพรรคประชาธิปัตย์ บ่ายแก่ๆ ถึงค่อนดึก

สิ้นเสียง พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีนัยยะว่าต้องการคุมโผรัฐมนตรีทั้งคณะด้วยตัวเอง “ก็ต้องดูเอง รอให้แต่ละพรรคเขาเสนอเข้ามา แล้วค่อยไปประชุมร่วมกัน… คนที่จะเป็นนายกฯ ก็ต้องดูรายชื่อของแต่ละพรรคที่เสนอมา

จากนั้นจึงพูดคุยกับพรรคร่วมว่าเห็นชอบด้วยกันหรือไม่ ถ้ามีพรรคใดพรรคหนึ่งไม่เห็นด้วยแล้ว จะไปกันได้อย่างไร” วงประชุมที่พรรคแม่ธรณีบีบมวยผม ก็วงแตก

เสียง-ข่าวที่หลุดออกจากพรรคยามค่ำ คือ “ปิดสวิตช์” การโหวต พล.อ.ประยุทธ์ ท่ามกลางข่าว “ใบลาออก” ของอดีตหัวหน้าพรรคคนสำคัญ อย่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

คู่ขนาน-กึกก้อง กับข่าวสำคัญที่ดังขึ้นทั่วท้องพระโรง “เปิดสวิตช์นายกฯ คนนอก” ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ซึ่งสอดคล้องกับเสียงของโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวตอนหนึ่งว่า “อันนี้ก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ถ้าสามารถรวบรวมคะแนนเสียงได้ 500 จาก 750 เสียงในรัฐสภา ก็ให้คนนอกเข้ามาได้ ก็เป็นกระบวนการที่รัฐรรมนูญกำหนดไว้”

ประกอบกับ “หัวใจ” ของการร่วมวงโหวตประธานรัฐสภา และการเจรจาในวงขันหมากสู่ขอร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ ฝ่ายเขี้ยวเกมการเมืองขั้นเทพ ยื่นข้อเสนอ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” เป็นของมัดจำแนบท้ายไว้

แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาข้อเสนอแล้ว ยังแบ่งรบ-แบ่งสู้ สวนกลับ “คิดว่าไม่ใช่การตั้งเงื่อนไขกับผม แต่เป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่ที่ต้องดำเนินการต่อไป เพราะเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง ก็จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายบ้าง ก็ต้องไปว่ากัน เรื่องนี้ต้องแยกประเด็นกับการร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพราะเราทุกคนต้องทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพพอสมควร อย่าลืมว่าประเทศชาติต้องมาก่อนเสมอ ทุกคนต้องปรับตัวเองกันบ้าง”

ความหวังการจัดตั้งรัฐบาล ภายใต้ 19 พรรค 254 เสียง เริ่มสั่นคลอน

พรรคประชาธิปัตย์เจ้าตำรับเกมการเมือง ที่เรียบหรูไร้รอยต่อ เต็มไปด้วยศาสตร์และศิลป์


ระทึกเหนือสิ่งอื่นใด เมื่อสัญญาณแห่ง “คอนเน็กชั่นพิเศษ” พลิกส่งให้พรรคประชาธิปัตย์ กลายเป็นพรรคที่คุมเกมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ตั้งแต่วันเริ่มต้นเปิดปฏิทินการเมืองหน้าแรก