พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ฟ้าลิขิตชีวิตต้นแบบ ทหาร ข้าราชบริพาร

รายงานพิเศษ

26 พฤษภาคม 2562 สิ้นรัฐบุรุษ 2 แผ่นดิน “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ประธานองคมนตรี ทั้งนี้ ประกาศสำนักพระราชวัง ได้ประกาศว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยความโทมนัสยิ่ง

“พล.อ.เปรม” เป็นบุตรชายคนที่ 6 จากจำนวน 8 คน ของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม กับนางวินิจทัณฑกรรม

เส้นทางรับราชการทหารของ “พล.อ.เปรม” เป็นทหารเหล่าทหารม้า เข้าร่วมสมรภูมิรบที่ปอยเปต กัมพูชา ในกรณีพิพาทในอินโดจีนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศส 2484 หลังสงครามมหาเอเชียบูรพาระเบิดขึ้นในเอเชีย พล.อ.เปรมก็เข้าร่วมรบอยู่ 4 ปี ระหว่างปี 2485-2488 ที่เชียงตุง และก้าวหน้าในราชการตามลำดับ

แต่เส้นทางเข้าสู่การเมือง “พล.อ.เปรม” ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นชุดที่ร่างรัฐธรรมนูญยาวนานที่สุดถึง 10 ปี และยังเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุคจอมพลถนอม กิตติขจร

 

ฟ้าลิขิตสู่นายกฯ

แต่การขยับเข้าใกล้ศูนย์กลางอำนาจบริหารนั้น อาจเป็นเพราะฟ้าลิขิต เมื่อการรัฐประหาร 6 ต.ค. 2519 ที่ “พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่” เป็นผู้ยึดอำนาจ ขณะนั้นมี พล.อ.เปรมเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ในยศ “พล.ท.” ก็มีชื่ออยู่ในคณะการปฏิรูปการปกครอง เดิมที “พล.ร.อ.สงัด” ไม่ได้ใส่ชื่อ พล.อ.เปรมร่วมคณะปฏิรูป แต่มีการทักว่าควรใส่ชื่อลงไปด้วย เนื่องจากเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 จากนั้นคณะปฏิรูปได้ตั้งรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียรขึ้น แต่อยู่ได้เพียง 1 ปี 2 วัน

เพราะ พล.ร.อ.สงัด หัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้ยึดอำนาจอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2520 และให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกฯ ทั้งนี้ ในคณะรัฐมนตรี พล.อ.เกรียงศักดิ์ มีทหารรวมอยู่ 12 นาย หนึ่งในนั้นคือ “พล.ท.เปรม” (ยศขณะนั้น) ในตำแหน่ง รมช.มหาดไทย

เป็นใบเบิกทางให้เข้ามาชิมลางการเมืองในฐานะฝ่ายบริหารเพราะหลังจากนั้น พล.อ.เปรมเข้าไลน์ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในเวลาต่อมา

เมื่อเปิดให้มีการเลือกตั้ง 22 เม.ย. 2522 แม้กลุ่มกิจสังคม ที่นำโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับการเลือกตั้งมากที่สุด ด้วยเสียง 82 เสียง จากสมาชิกทั้งหมด 301 คน แต่ในเวลาเดียวกันมีการประกาศแต่งตั้ง ส.ว.จำนวน 225 คน แบ่งเป็น ทหารบก 112 นาย ทหารเรือ 39 นาย ทหารอากาศ 34 นาย ตำรวจ 8 นาย พลเรือน 32 คน เมื่อฝ่ายเสียงข้างมากในสภารวมกับเสียง ส.ว. 225 เสียง จึงเทคะแนนให้ “พล.อ.เกรียงศักดิ์” เป็นนายกฯรอบสองด้วย 311 เสียง

อย่างไรก็ตาม “รัฐบาลเกรียงศักดิ์” ไม่ได้เลือกนักการเมืองจากพรรคใหญ่ที่สนับสนุนมาเป็นรัฐมนตรี ครั้นเจอวิกฤตศรัทธาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ-ปัญหาราคาน้ำมัน บรรดานักการเมืองที่เคยอุ้ม “พล.อ.เกรียงศักดิ์” ก็ตีจาก

พรรคการเมืองจึงรวมเสียงยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พุ่งเป้าไปที่ตัวนายกฯ โดยกำหนดไว้วันที่ 3 มี.ค. 2523 ส่วนในทางลับพรรคการเมืองก็หันมาหนุน “พล.อ.เปรม” ซึ่งเป็น ผบ.ทบ.ควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม ให้ขึ้นเป็นนายกฯคนต่อไป

“ผมไม่พร้อม” สู่ “ผมพอแล้ว”

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชิงจังหวะขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เมื่อ 29 ก.พ. 2523 ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเริ่มขึ้น และประกาศลาออกจากตำแหน่งเพื่อยุติปัญหาในสภา แล้ว “พล.อ.เปรม” ได้รับเลือกเป็นนายกฯคนต่อมา โดยได้คะแนนเสียงสนับสนุนมากถึง 399 เสียง ในขณะที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มกิจสังคมได้คะแนนเพียง 39 คะแนน

อย่างไรก็ตาม ก่อนรับตำแหน่งนายกฯ มีกระแสผลักดันให้ พล.อ.เปรมเป็นนายกฯ แต่ปฏิเสธโดยตลอดว่า “ผมไม่พร้อม”

พล.อ.เปรมเล่าว่า “ตั้งแต่พี่เกรียงเริ่มซวนเซนะ เริ่มมีปัญหาในสภา เพราะว่าพี่เกรียงไม่มีพรรคการเมือง ฝ่ายพี่เกรียงมีแต่พวกที่ไม่สังกัดพรรค พี่เกรียงก็เริ่มมีปัญหา แล้วพวกพรรคต่าง ๆ อย่างคุณวีระ มุสิกพงศ์ คุณสัมพันธ์ ทองสมัคร คุณไตรรงค์ สุวรรณคีรี ซึ่งอยู่พรรคประชาธิปัตย์ พวกนี้มาทาบทามชักชวนว่าช่วยไปเป็นหน่อยได้ไหม ตอนนี้ไม่มีใครแล้ว”

“ผมก็ตอบไป เพราะ 1.ไม่อยากเป็น 2.ผมไม่พร้อมที่จะเป็น คุณเกษม ศิริสัมพันธ์ คุณไกรสร ตันติพงศ์ จากพรรคกิจสังคม เคยมาหาที่บ้านมาทาบทาม แต่ในที่สุดก็ต้องเป็น เพราะว่าตอนหลังพรรคการเมืองเริ่มมาหาผม นั่งคุยกัน อย่างพี่มาณ (พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร) หรือนายกฯชาติชาย (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ พรรคชาติไทย) เขาก็มาขอว่า ให้คนอื่นมาพูดทำนองว่า มันไม่มีใครแล้ว ต่อไปนี้จะต้องเป็นผมแล้ว”

นับจากนั้น “พล.อ.เปรม” ก็กลายเป็นนายกฯคนที่ 16 ของเมืองไทย เป็นรัฐบาลนานถึง 8 ปี 5 เดือน มีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ 3 ครั้ง และ “พล.อ.เปรม” ก็ได้รับเลือกจากพรรคการเมืองฝ่ายเสียงข้างมากให้กลับมาเป็นรัฐบาลทุกครั้ง

เกิดกลุ่ม 10 มกรา สิ้นสุดยุคป๋า

กระทั่งรัฐบาล พล.อ.เปรมสมัยที่ 3 สิ้นสุดลง เพราะประกาศยุบสภา เนื่องจาก “กลุ่ม 10 มกรา” ส.ส. 32 คน ในพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลงมติไม่รับร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของฝ่ายรัฐบาลที่ได้นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และงดออกเสียงอีก 6 เสียง เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2531 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์

จึงมีการเลือกตั้งใหม่ 24 กรกฎาคม 2531 ปรากฏว่า พรรคชาติไทย โดย พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรค ได้รับเลือกมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยที่นั่ง 87 ที่นั่ง พรรคกิจสังคมมี 54 ที่นั่ง และพรรคประชาธิปัตย์ 48 ที่นั่ง พรรคราษฎร 21 เสียง ตัวแทนจาก 4 พรรค และพรรคสหประชาธิปไตย ได้เชิญให้ พล.อ.เปรมกลับมาเป็นนายกฯต่อไป โดย พล.ต.ชาติชายเป็นผู้กล่าว

พล.อ.เปรมถามว่า “พูดในนามพรรคชาติไทยหรือ”

พล.ต.ชาติชายตอบว่า “พูดในนามของทุกพรรคที่ร่วมมาในวันนี้ เพื่อขอเชิญท่านเป็นนายกฯ” 

พล.อ.เปรมกล่าวว่า “ขอขอบคุณ…ผมขอพอ” เป็นคำตอบที่ปิดฉากยุคป๋า

คำอำลาจากป๋า

“พล.อ.เปรม” ได้กล่าวคำอำลาประชาชนผ่านวิทยุและโทรทัศน์ ในค่ำวันที่ 5 ส.ค. 2531 เวลา 20.30 น.ตอนหนึ่งว่า “พี่น้องที่รักทั้งหลายครับ ตลอดระยะเวลา 8 ปี 5 เดือนที่ผมได้รับพระราชทานมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เข้ามารับผิดชอบในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ผมขอเรียนกับพี่น้องด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า ผมมีปณิธานแน่วแน่ที่จะทำการบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต บริสุทธิ์ และยุติธรรม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ไม่หวังว่าจะอยู่นานหรือมากน้อยเพียงใด”

“รัฐบาลที่มีผมเป็นหัวหน้าคณะ ไม่ว่าจะเป็นชุดไหน จะต้องเป็นรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ภายในชาติ เพื่อยังผลดีและความถูกต้องไปสู่ประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือปัญหาที่มีผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติด้านต่าง ๆ โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของพรรค ของพวกพ้อง หรือกลุ่มใดทั้งสิ้น”

“โดยส่วนตัวผมเองแล้ว ผมเจียมตัวและเจียมใจอยู่เสมอ ไม่เคยมีความทะเยอทะยานทางการเมือง และไม่เคยมักใหญ่ใฝ่สูงที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี การเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นไม่สนุกและเหนื่อย แต่เมื่อต้องเข้ามารับหน้าที่แล้วผมก็พร้อมที่จะเหนื่อยและทำงานอย่างเต็มที่ พร้อมที่จะเผชิญปัญหาต่าง ๆ ทุกอย่างด้วยความกล้าหาญและอดทน” 

ให้ช่วยรักษาประชาธิปไตย

พล.อ.เปรมยังขอบคุณนักการเมืองที่เคยร่วมงานกัน 8 ปี 5 เดือนว่า “ผมขอขอบพระคุณเพื่อนร่วมงานในคณะรัฐบาลชุดต่าง ๆ ที่เคยทำงานด้วยกันมากับผมทุกคน ขอขอบพระคุณพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ได้กรุณาไปเชิญผมให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก ผมได้เรียนหัวหน้าพรรคการเมืองเหล่านั้นไปว่า ‘ผมพอแล้ว’ เพราะได้ทำงานมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร ได้มีโอกาสช่วยดูแลดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย ได้มีส่วนช่วยพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้ยืนยาว สืบเนื่องตลอดระยะเวลาที่เข้ามาดำรงตำแหน่งหน้าที่ ได้มีโอกาสเข้าใจการเมือง รู้จักพรรคการเมือง รู้จักนักการเมือง ทั้งที่เคยร่วมงานกันมาและไม่เคยร่วมงานกันมาได้ดีพอสมควร พอจะพูดได้ว่าเป็นประสบการณ์ของชีวิตที่หาไม่ค่อยได้”

“จึงขอพอ และขอให้ช่วยกันดูแลและพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยต่อไป ให้ระบอบประชาธิปไตยของเราให้เจริญก้าวหน้ามั่นคงต่อไป”

หลังจากอำลาตำแหน่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ “พล.อ.เปรม” เป็นองคมนตรี 23 ส.ค. 2531 และได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องไว้ในฐานะรัฐบุรุษ เมื่อ 29 ส.ค. 2531

“พล.อ.เปรม” ได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาท 2 รัชกาล จนถึงแก่อสัญกรรม