พรรคร่วมยึดกระทรวงเกรด A ตั้งรัฐบาล “ท่ายาก” ฉีกนโยบายหาเสียง

รายงานพิเศษ

2 เดือน 12 วัน หลังการเลือกตั้ง 2562 เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ยังไม่ได้บทสรุปโควตา-เก้าอี้รัฐมนตรี ประจำกระทรวงทั้งเศรษฐกิจ-ความมั่นคง อาทิ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้การนำของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในการจัดตั้งรัฐบาล

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับคะแนนไม่ตกน้ำ-ทุกเสียงของพรรคการเมืองทั้งขนาดกลาง-ขนาดจิ๋วล้วนมีความหมาย ทำให้รัฐบาลชุดใหม่ ที่มี พปชร.เป็นแกนนำจับขั้วจัดตั้งเป็นรัฐบาลผสมถึง 19 พรรค

ทว่าตำแหน่งรัฐมนตรีมี “จำนวนจำกัด” โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ถึงแม้จะผ่านเข้าสภาได้เพียง 53 ที่นั่ง แต่มีอำนาจต่อรองมหาศาล สามารถชี้เป็นชี้ตายรัฐบาลใหม่

แม้ความหมายตามตัวอักษรระหว่าง “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” กับ “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” จะไม่ต่างกันมากนั้น แต่ความหมายตามนัยการเจียนอยู่-เจียนไปของรัฐบาลต่างกันราวฟ้ากับเหว

ข้อกล่าวอ้างของทั้ง พปชร.และ ปชป. จนทำให้การต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี “กระทรวงเกรดเอ” จบไม่ลง คือ “นโยบายเป็นไปในแนวทางเดียวกัน”

หากย้อนกลับไปกลางศึกเลือกตั้ง พปชร.กับ ปชป. ต่างงัดนโยบายลด-แลก-แจก-แถม เกทับ-บลัฟแหลก

“ประชารัฐ” สะดุดถ้วนหน้า

พปชร.ชูนโยบาย “ประชารัฐ” อาทิ นโยบายบัตรสวัสดิการประชารัฐ “ต่อยอด” บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บุตรเรียนฟรีถึงปริญญาตรี ปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 1 พันบาทต่อเดือน เพิ่มวงเงิน 1 พันบาทสำหรับเบี้ยคนพิการ-ผู้ป่วยติดเตียง-โรคเรื้อรัง ลดหย่อนภาษีเงินได้ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่จาก 3 หมื่นบาทต่อคน เป็น 6 หมื่นบาทต่อคน รวมถึงดูแลญาติ

กองทุนประชารัฐกตัญญู-เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ กองทุนบำนาญเอกชนแห่งชาติ ขยายเวลาเกษียณราชการถึงอายุ 63 ปี ลดหย่อนภาษีเงินได้ 6 หมื่นบาทสำหรับดูแลคนพิการในครอบครัว สร้างงานคนพิการ 1 ล้านตำแหน่ง ลดหย่อนภาษีสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยว 6 หมื่นบาท

สวัสดิการ “มารดาประชารัฐ” ถ้วนหน้าดูแลตั้งแต่ตั้งครรภ์ อาทิ ตั้งครรภ์รับเดือนละ 3 พันบาท รวม 2.7 หมื่นบาท ค่าคลอด 1 หมื่นบาท ค่าดูแลเด็ก 2 พันบาท/เดือน จนครบ 6 ปี รวม 1.44 แสนบาท 1.81 แสนบาทต่อเด็ก 1 คน กองทุนสตรีประชารัฐ มาตรการภาษีสนับสนุนเอกชนจัดสถานที่รับเลี้ยงเด็กในที่ทำงาน

เกษตรประชารัฐ “3 เพิ่ม 3 ลด” อาทิ ข้าวได้ราคา-ชาวนาได้เงินเพิ่ม (จำนำยุ้งฉาง) ค่าเกี่ยว 20 ไร่ ไร่ละ 2 พันบาท รวม 4 หมื่นบาทต่อครัวเรือน ค่าเก็บ 3 หมื่นบาท รวม 7 หมื่นบาท กองทุนข้าวเพื่อชาวนา “แบ่งปันกำไรคืนชาวนา” โคบาลประชารัฐ ที่ดินทำกิน “ส.ป.ก.4.0” แหล่งน้ำชุมชนประชารัฐ 3.6 หมื่นหมู่บ้าน

ฝันค้างปลดหนี้ใน-นอกระบบ

ปลอดหนี้นอกระบบผู้ใช้แรงงาน 10 ล้านราย กองทุนลดหนี้ 14.6 ล้านคน ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400-425 บาทต่อวัน ทำงานอยู่ที่บ้าน จบอาชีวะเงินเดือน 1.8 หมื่นบาท ปริญญาตรี 2 หมื่นบาท

มาตรการ “หมดหนี้ มีเงินออม” ปลดหนี้นอกระบบให้ผู้ใช้แรงงาน 10 ล้านคน อาทิ รายได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน พักหนี้ในระบบ-ปลอดต้น 5 ปี ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

ปลดหนี้ชาวนา 5 ปี 3.8 ล้านราย ประกันราคาข้าว 1.5 หมื่นบาทต่อตัน แก้หนี้ข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจ 2 ล้านราย ฟื้นฟูเกิดใหม่ SMEs ไทย 2.5 แสนราย อาทิ ตั้งบรรษัทรับซื้อหนี้ พักหนี้ กู้ใหม่

ช่วยเหลือนักศึกษาที่เป็น-ไม่เป็นหนี้ กยศ. 2.1 ล้านคน อาทิ หยุดดอกเบี้ยเดิม ยกให้หลังหมดหนี้ ลดดอกเบี้ย ปลดภาระบนบ่าครู ตั้งกองทุนปลดหนี้ครู

บ้านล้านหลังพลังประชารัฐ บ้านสุขใจวัยเกษียณ อาทิ Reverse Mortgage เปลี่ยนบ้านเป็นบำนาญ “หมอถึงบ้าน พยาบาลถึงเรือน” อาทิ หมอประจำตัว 1 ต่อ 1 ทีมหมอครอบครัว 6.5 พันทีม นโยบายกรุงเทพ Bangkok Ok

สร้างรัฐสวัสดิการ…รอไปก่อน

ด้าน ปชป. ภายใต้คอนเซ็ปต์ “แก้จน-สร้างคน-สร้างชาติ” อาทิ “เกิดปั๊บ รับสิทธิ์เงินแสน” เงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้า เด็ก 0-8 ขวบ 1 พันบาทต่อเดือน เดือนแรกได้รับ 5 พันบาท เรียนฟรีถึง ปวส. อาหารกลางวันถึง ม.3 เด็กทุกคนพูดภาษาอังกฤษได้ (English for All) ศูนย์เด็กเล็กคุณภาพดีทั่วไทย

เบี้ยผู้ยากไร้ 800 บาทต่อเดือน “โอนตรงเข้าบัญชี” เงินอุดหนุนให้แก่ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี เบี้ยยังชีพคนพิการ 2 ล้านราย 1 พันบาทต่อเดือน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า 1 พันบาทต่อเดือนทุกช่วงวัย

ประกันรายได้แรงงาน 1.2 แสนบาทต่อปี ประกันรายได้พืชผลเกษตรกร อาทิ ข้าวหอมมะลิ 1.5 หมื่นบาท ข้าวโพด 7 บาทต่อกิโลกรัม มัน ยางพารา 60 บาทต่อกิโลกรัม ปาล์ม 4 บาทต่อกิโลกรัม

โฉนดสีฟ้า ยกระดับ ส.ป.ก. ขยายโอกาสเกษตรกร ให้ที่ดิน ส.ป.ก. สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของรัฐ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเกษตรกรรม กองทุนน้ำชุมชน-เกษตรกรมีน้ำใช้

R&D รอลงจากหิ้ง

ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลต่างก็ “ไฮด์ปาร์ก” นโยบาย ซื้อใจ-กระชากคะแนนจาก “โหวตเตอร์” ทั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรค กับ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้ก่อตั้งพรรค 5 เสียง

“ม.ร.ว.จัตุมงคล” เปิดใจว่าหากได้ร่วมรัฐบาล สิ่งแรกที่จะทำในโลก คือ การศึกษา ค้นคว้าและวิจัยในรูปแบบเชิง research ได้แก่ pure research และ apply research ให้เกิดขึ้นให้ได้

“ความยาก คือ ทำเสร็จแล้วไม่ได้เห็นเป็นตัวเงินกลับมาในทันที pure research ขึ้นหิ้งไว้เพราะไม่มีใครนำไปใช้งาน และไม่รู้ว่าเมื่อไรจะมีคนเอาไปใช้ข้อมูล แต่ถ้านำไปใช้ research ตัวนั้นจะสามารถช่วยประหยัดเวลา”

โดยเฉพาะ apply research เพราะเวลานี้ R&D ของประเทศไทยมีเพียง 0.5 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี แต่บางประเทศ เช่น สวีเดน 3.5-3.7 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี

“ประเทศไม่มีทางพัฒนาได้สำเร็จ หากไม่มีการศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนา 1-2 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพีขึ้นไป หากอาจารย์ทำ apply สำเร็จ จะได้รับส่วนแบ่งได้ 10 เปอร์เซ็นต์ 30 เปอร์เซ็นต์”

ราคาข้าว-ยาง-ปาล์ม ค้างเติ่ง

ส่วน “สุเทพ” หมายมั่นปั้นมือที่จะเข้ามาแก้ปัญหา 1.เศรษฐกิจชาวบ้าน “รายได้ดีขึ้น-รายจ่ายลดลง” 2.ผู้ใช้แรงงาน ผู้หาเช้ากินค่ำ-เกษตรกรรายย่อย ไม่มีที่ดินทำกิน และ 3.ปฏิรูปการศึกษา เขาจึงจองทั้ง ก.เกษตรฯ-ศึกษาฯ รวมถึงการปฏิรูปตำรวจ

เกษตรกรขายแล้วต้องได้กำไร 100% ข้าวนาปี นาปรัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด มันสำปะหลัง สับปะรด ต้องกำหนดราคาเป้าหมาย กำหนดเส้นมาตรฐานแห่งความพอเพียง เช่น 15,000 บาท โครงการพิเศษ อบรม ฝึกอาชีพ ทำงานในบ้าน เช่น ทำอาหาร ตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อไปสู่เส้นมาตรฐานของความมั่นคง มีรายได้ 25,000 บาท

“ต้องปฏิรูประบบการศึกษา ต้องการให้ลูกหลานของประชาชนได้เรียนหนังสือฟรีจนจบอาชีวะ จบเทคนิคและมีงานทำ เยาวชน 80% ต้องได้เรียนอาชีวะเพราะเป็นบุคลากรที่ตลาดต้องการ”

ธนาคารต้นไม้เฉาตาย

ฟาก 10 เสียงชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ตามคำประกาศของ “กัญจนา ศิลปอาชา” หัวหน้าพรรค ต่อหน้าคณะเทียบเชิญ นำโดย “อุตตม สาวนายน” หัวหน้า พปชร.

กระแสข่าวจัดตั้งรัฐบาลก่อนหน้านี้ชทพ.ได้รับ 2 เก้าอี้ คือ “วราวุธ ศิลปอาชา” นั่งเก้าอี้ รมว.ทรัพยากรฯ ขณะที่ รมช.เกษตรฯ จะมี “ประภัตร โพธสุธน” เลขาธิการพรรคคุม

พลิกนโยบายเกษตร อาทิ 1.ใช้ตลาดนำเกษตร ส่งเสริมการปลูกพืชรายได้ดี 2.ลดต้นทุนและจัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมและทันสมัย 3.ส่งเสริมการทำงานของอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) คนละ 1,000 บาท/เดือน 4.ทุนเรียนฟรีปริญญาตรีการเกษตร

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม “วราวุธ” กล่าวว่า โครงการธนาคารต้นไม้ ปลูกได้เลย 10 ต้น 100 ต้น ได้ค่าดูแลต้นละ 1 บาท ผู้สูงอายุที่ปลูกได้ 100 ต้น ได้เดือนหนึ่ง 3 พันบาท

กัญชาเสรี-Grab Car ฝันค้าง

ส่วน 51 เสียง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” 7 กระทรวงแกว่งไปมา แน่นอนว่าปักหมุด “กัญชาเสรี” จึงตีตราจอง รมว.สาธารณสุข

ส่วนคมนาคม ภท.มีนโยบาย แก้กฎหมายขนส่ง ทำให้ Grab Car ถูกกฎหมาย ส่งเสริมและเชื่อมการท่องเที่ยว-กีฬาทั้งประเทศ

สอดรับกับแผนขยาย “นโยบายบุรีรัมย์โมเดล” ไปยังจังหวัดต่าง ๆ ใช้เก้าอี้ รมว.ท่องเที่ยวฯเป็นตัวประกันนโยบายด้านคมนาคม+โครงสร้างพื้นฐานของ ภท. จะเน้นทุกอย่างที่เป็น made in Thailand นโยบายเกษตรนั้น ภท.ผลักดัน ระบบแบ่งปันผลกำไรการเกษตร profit sharing ข้าว 70% : 15% : 15% โดยชาวนาได้เงิน 70%

แก้ปัญหาหนี้ กยศ. พักหนี้ 5 ปี ชำระตามความสามารถ-ปลดภาระผู้ค้ำประกัน นโยบายให้ใช้พลังงานจากน้ำมันปาล์ม สร้างรายได้จากผลผลิต

โมเดลน้าชาติยังไม่ฟื้น

ขณะพรรคเล็ก ๆ 1-3 เสียง 10 พรรค มีลุ้นแค่ต่อรองเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ 35 คณะ คาดว่าจะได้คณะกรรมาธิการมาแบ่งให้พรรคร่วม 18 คณะ ซึ่งจะตกลงภายหลังการโหวตนายกฯ


ไม่นับพรรคชาติพัฒนา ที่มี “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค ไปแท็กทีมกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย ของ “ลุงกำนันสุเทพ” ต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีอุตสาหกรรมเพื่อผลักดัน “โมเดลน้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าภาคสอง”