“พปชร.” สาวไส้ประชาธิปัตย์ เล่นเกม-ต่อรอง ประยุทธ์ 2/1 ดีลไม่จบ

หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายอุตตม สาวนายน ยังไม่ยืนยันคำพูดว่า “ปิดดีล” จัดตั้งรัฐบาล 19 พรรค 254 เสียง

และยังมั่นใจว่า “จะไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่มุ่งสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ทำงานรับใช้แก้ปัญหาให้ประชาชนได้”

ภายใต้เงื่อนปมทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ประกอบด้วย 1 ขั้วใหญ่ 5 พรรคเล็ก และ 10 พรรคจิ๋ว ที่แบ่งเกรดเจรจา-ต่อรอง ตำแหน่งรัฐมนตรีมาแล้วกว่า 2 เดือน

ความไม่ลงตัวมากที่สุด อยู่ที่กลุ่มที่พร้อมจะพลิกเป็น “ขั้วใหม่-ขั้วใหญ่” จำนวน 104 เสียง ที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ 53 เสียง และภูมิใจไทย 51 เสียง

ต่างจาก 5 พรรคเล็ก และ 10 พรรคจิ๋ว ที่ตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรี-โควตาการเมืองลงตัว ตั้งแต่วันเริ่มดีล

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 และจะคั่วเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 30 อีกครั้ง จะตั้งเป้าหมายว่า “ต้องการเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก เข้มแข็ง”

แต่การ “ดีลไม่จบ” ทำให้ความหวังที่จะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ-ข้างมาก ยังต้องยื้อ-รอ จนแทบจะนาทีสุดท้ายก่อนขานชื่อ นับคะแนน “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรี

นโยบายและโควตารัฐมนตรีของรัฐบาล “ประยุทธ์ 2/1” ที่พรรคแกนนำ ตั้งโจทย์ตั้งแต่วันแรก 4 กระทรวงที่พรรคร่วมเอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม คือ เกษตรและสหกรณ์, คลัง, คมนาคม, พลังงาน

แต่เมื่อ 2 ใน 4 กระทรวงเป็นเป้าประสงค์ของ 2 พรรค ขั้วใหญ่ ประกอบกับ “ข้อมูลใหม่” บนเงื่อนไขพ่วงมากับตำแหน่ง “ประธานรัฐสภา” ของฝ่ายประชาธิปัตย์ คือ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ”

ยิ่งทำให้เกมการต่อรองเพิ่มดีกรีสูงลิ่ว ลามไปถึงการตั้งแง่ การโหวต-ไม่โหวต ขานชื่อ “ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรี

เสียงและเก้าอี้นายกรัฐมนตรีลำดับที่ 30 จึงแขวนอยู่บนเส้นด้าย

ภายใต้ความอึกทึกของโผว่าที่ “คณะรัฐมนตรี” ที่ประกอบด้วย 4 รองนายกรัฐมนตรี ที่คุมกำลังเศรษฐกิจและความมั่นคง และสังคม คู่ขนานระหว่าง ตัวแทนจากพลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์

นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล

ทีมเศรษฐกิจที่พรรคแกนนำตีตราจองไว้ให้หัวหน้าพรรค คือ รมว.กระทรวงการคลัง ตั้งชื่อ นายอุตตม สาวนายน ไว้แบบอัตโนมัติ “กลุ่มรัฐมนตรี 4 กุมาร” กลับเข้าประจำการครบทุกคน

โควตาของประชาธิปัตย์ยืนยัน 8 ตำแหน่ง ครอบคลุมรองนายกรัฐมนตรี 4 รัฐมนตรีว่าการ ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ (หรือกระทรวงการต่างประเทศ) และ 3 รัฐมนตรีช่วย ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข

ข้อเสนอของประชาธิปัตย์ เป็นที่มาของการ “ดีลล่ม” ในช่วงก่อนถึงวันโหวตนายกรัฐมนตรี เพราะทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ นั้นตกเป็นของแกนนำพลังประชารัฐ ตั้งแต่วันที่เริ่มตั้งพรรค

ทั้ง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค และ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร ต่างตั้งความหวังไว้มากกับ 2 กระทรวงดังกล่าว

แต่เพื่อความลงตัวทางการเมือง แกนนำพลังประชารัฐ พลิกโผกระทรวงยุติธรรมใส่มือสมศักดิ์ เสียงดีลล่ม-ล้มกระดาน จึงเงียบลงชั่วขณะ

แต่ด้วยหลักการต่อรอง ที่ยิ่งใกล้-ยิ่งแพง ยิ่งนาน ยิ่งถูก คล้ายราคาค่าตั๋วเครื่องบิน“โลวคอสต์แอร์ไลน์”

ระหว่างที่รอ “มติพรรคปชป.” แกนนำคนสำคัญของพรรคพปชร. โทรศัพท์เข้าไปหาแกนนำคนสำคัญของพรรคปชป. ที่อยู่ในห้องประชุม พร้อมยื่นข้อเสนอ “หากโหวตนายกรัฐมนตรี แค่ครึ่งพรรค หรือส่วนใดส่วนหนึ่ง ตำแหน่งรัฐมนตรีที่จะได้จาก 8 ก็จะเหลือแค่ 3 หรือ 4 ตำแหน่งเท่านั้น”

พร้อมคำสำทับ-ตัดพ้อหลายประเด็น“ทำไมต้องเปิดเกมอภิปรายคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี โดยไม่จำกัดเวลา เหมือนจงใจเปิดการซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ยังไม่ขึ้นดำรงตำแหน่ง และจงใจปล่อยให้มีการอภิปรายโดยที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้อยู่ในรัฐสภา ถือเป็นการเล่นเกมการเมืองที่ไม่ให้เกียรติพรรค พปชร. และ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างยิ่ง และขอฝากบอกว่าหากเล่นเกมแบบนี้จะยิ่งทำให้ ปชป. พรรคแตกเป็นเสี่ยงๆ เร็วขึ้น”

เมื่อเวลาที่เหลือยิ่งสั้นลง ข้อต่อรองยิ่งยากขึ้น ทำให้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ห้องประชุม ปชป.ต้องเร่งรัดตัดสินใจ ลงมติสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งพรรค

อีกพรรคที่ถือว่ายื่นข้อเสนอ ที่พลังประชารัฐไม่อาจปฏิเสธ คือภูมิใจไทย แม้ “ศุภชัย โพธิ์สุ” ได้เก้าอี้รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ไปแล้วอย่างเป็นทางการ

แต่ตำแหน่งฝ่ายบริหารที่ถือว่าถอยไม่ได้ คือ 1 รองนายกรัฐมนตรี ควบกระทรวงสาธารณสุข และว่าการกระทรวงคมนาคม, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ได้รับข้อเสนอ 1 รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา ประธานยุทธศาสตร์พรรค จะไปเป็นรัฐมนตรี และ 2.ตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีสิทธิ์ที่จะเป็น นายประภัตร โพธสุธน เลขาธิการพรรค

สูตรการนับคะแนนตามรัฐธรรมนูญใหม่ ทำให้การโหวตประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ และประมุขฝ่ายบริหารถูกผูกปมไว้ที่พรรคร่วมรัฐบาล 19 พรรค และความหวังบริการเสริมจากเสียง “งูเห่า” จากอีกขั้ว จนนาทีสุดท้าย