“ทักษิณ” ทุจริตหวยบนดิน ศาลสั่งจำคุก2ปี คิวต่อไปปล่อยกู้กรุงไทย-แปลงสัมปทานมือถือ

แม้ว่าเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีนายสบโชค สุขารมณ์ อดีตประธานศาลฎีกาและองค์คณะผู้พิพากษารวม 9 คน ออกบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดํา อม.1/2551 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในกรณีทุจริตโครงการสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว หรือหวยบนดิน

และที่สุดแล้วศาลฎีกา มีมติเสียงข้างมาก พิพากษาจำคุกนายทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา และให้ออกหมายจับจำเลยมาปฏิบัติตามคำพิพากษา

เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า วัตถุประสงค์การออกสลากกินแบ่งเพื่อหาเงินรายได้เข้ารัฐ โดยก่อนการจำหน่ายสลากหวยบนดินมีการศึกษาข้อกฎหมายและผลกระทบทางสังคมแล้ว ได้ทักท้วงนายทักษิณให้ทราบว่า อาจเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย

แต่นายทักษิณไม่ยับยั้งความเสี่ยง ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้สั่งการให้ ผอ.กองสลาก (ขณะนั้น) เร่งออกสลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว โดยไม่ต้องรอเครื่องพิมพ์สลาก แสดงว่านายทักษิณต้องการออกสลากหวยบนดินโดยไม่คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกองสลาก และไม่แก้ไขข้อกฎหมายก่อน เข้าลักษณะเป็นเจ้ามือรับกินใช้ มีเงื่อนไขเดียวกับหวยใต้ดิน เป็นการพนันขันต่อให้มัวเมาประชาชน ทั้งการนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเข้าสู่วาระจรเป็นเหตุให้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติ โดยเข้าใจว่าเป็นการกระทำโดยชอบตามกฎหมาย

แม้การออกสลากหวยบนดินจะมีรายได้ 123,339,890,730 บาท แต่มีผลขาดทุน 7 งวด รวมจำนวน 1,668,192,060 บาท นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า กองสลากยังได้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารออมสินประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินสำรอง

“แสดงให้เห็นว่านายทักษิณย่อมรู้อยู่แล้วว่ามีความเสี่ยง แต่ไม่มีการป้องกันความเสี่ยงเหมือนขั้นตอนการออกสลากอย่างที่เคยเป็นมา การกระทำของนายทักษิณเป็นความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการดำเนินโครงการออกสลากพิเศษฯ

คดี “หวยบนดิน” ที่ “ทักษิณ” ถูกจำคุก 2 ปี นับเป็นคดีที่ 2 ในรอบปี ที่ศาลมีคำพิพากษาคดีของอดีตนายกต่อจาก คดีหมายเลขดำที่ อม.3/2551 กรณีปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ให้กับรัฐบาลเมียนมาร์ วงเงิน 4 พันล้านบาท เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทชินแซทเทลไลท์ บริษัทในเครือชินคอร์ป ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกนายทักษิณ เป็นเวลา 3 ปี

เท่ากับว่าในครึ่งปีแรก “ทักษิณ” ได้รับโทษจำคุกรวมกัน 5 ปี จากคดีหวยบนดิน + คดีปล่อยกู้ให้กับพม่า อันเป็นผลจากมาตรา 28 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ที่ออกในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีผลบังคับใช้

ซึ่งบัญญัติว่าเมื่อสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วจำเลยไม่มาศาลและได้ออกหมายจับแล้ว ถ้าไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้ และไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะมาต่อสู้คดีเมื่อใดก็ได้ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา

นอกจาก 2 คดีที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาไปแล้ว ยังเหลืออีก 2 คดี “ทักษิณ” ที่ค้างอยู่ในศาลฎีกาขณะนี้เหลือ 1.คดีหมายเลขดำ อม.3/2555 กรณีทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย ศาลฎีกาฯ สั่งออกหมายจับหลังไม่เดินทางมาศาลในการนัดพิจารณาคดีครั้งแรก และไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนนัดพิจารณาคดี เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2561 และขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลฎีกา

(ในเส้นทางคู่ขนานของคดีนี้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำสำนวนสั่งฟ้อง นายพานทองแท้ ชินวัตร (บุตรชายนายทักษิณ) ความผิดฐานฟอกเงิน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งศาลนัดตรวจหลักฐานเมื่อ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา)

2.คดีหมายเลขดำที่ อม.9/2551 กรณีทุจริตออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ-ดาวเทียมเป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ปฯ ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท ศาลฎีกาฯ สั่งออกหมายจับ หลังไม่เดินทางมาศาลในการนัดพิจารณาคดีครั้งแรก 6 มี.ค.2561