นับหนึ่ง-วิกฤติการเมืองรอบใหม่ “ธนาธร” ท้าใครกล้าพูดต้นตอความขัดแย้ง ขโมยอำนาจ ?

การเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นทางการในรอบ 8 ปี จบลงด้วยบทสรุปที่พลิกตะแคง ตีลังกา

เพราะพรรคอันดับ 2 คือ พรรคพลังประชารัฐ รวบรวมพรรคการเมือง 19 พรรค จัดตั้งรัฐบาล 254 เสียง

แต่พรรคอันดับ 1 คือ พรรคเพื่อไทย กลับรวบรวมเสียงกับพรรคอื่นๆ อีก 6 พรรค เป็น 7 พรรคฝ่ายค้าน

เพราะได้แค่ 246 เสียง พ่ายแพ้ต่อจำนวนที่นั่งในสภา กลายเป็นร่วมฝ่ายค้านโดยพลัน

ท่ามกลางการตั้งคำถามของคนในสังคม – คนที่สนใจการเมืองว่า รัฐบาลผสมจะอยู่สั้นไม่ถึงปี หรือสามารถประคองเสียงปริ่มน้ำไปได้ตลอดลอดฝั่ง

ในโอกาสที่คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางผ่านร้อน – ผ่านหนาว ฝ่าคลื่นลมการเมืองครบ 70 ปี ได้จัดงานเสวนาหัวข้า “ทิศทางการเมืองไทยภายใต้รัฐบาลใหม่ การเมืองของความหวัง หรือ จุดเริ่มต้นของวิกฤตครั้งใหม่?”

เปิดเวทีให้ตัวแทนทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ฝั่งละ 2 คน ประชันความคิดทิศทางการเมืองในวันข้างหน้า

ฝ่ายรัฐบาลมีชื่อ “วิเชียร ชวลิต” นายทะเบียนพรรคพลังประชารัฐ และ “โกวิทย์ พวงงาม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท

ฝ่ายค้านมีตัวแทนคือ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” แกนนำพรรคเพื่อไทย

กับคำถามที่ว่า การเมืองหลังเลือกตั้ง “จะเป็นความหวัง” หรือ “เริ่มต้นวิกฤตครั้งใหม่”

@ หลังเลือกตั้งบรรยากาศการเมืองเปลี่ยน

“วิเชียร” กล่าว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่แปลก มีประชาธิปไตยตั้งแต่ พ.ศ.2475 แต่ก็วนเวียนอยู่ระหว่างการเลือกตั้งกับการปฏิวัติจนเราชาชิน อย่างไรก็ตาม เวลานี้ไม่เหมือนที่ผ่านมา เพราะเราผ่านกระบวนการในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากเดิมเรามีรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นการปกครองในระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อำนาจทั้งหมดอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร

แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เราไม่ให้สิทธิอำนาจแก่สภาเหมือนเดิม เพราะเรามีทั้งสภาและองค์กรอิสระ เป็นลูกผสมระหว่างการปกครองในระบบรัฐสภากับระบอบประธานาธิบดี ซึ่งมีองค์กรอิสระตรวจสอบ ดังนั้น ความหลากหลายแห่งอำนาจจะไม่ได้อยู่ที่สภาเพียงอย่างเดียว

แต่บรรยากาศการเมืองทั้งหมดในขณะนี้ สิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่คะแนนเลือกตั้งที่ปริ่มน้ำ แต่คือการต่อสู้ที่มีลักษณะเปลี่ยนไป กล่าวคือ ก่อนวันที่ 24 มีนาคม แต่ละพรรคแต่ละฝ่ายต่างโฆษณาความดีของตัวเอง มีการเชียร์สนับสนุน โจมตีกล่าวหาคนอื่นน้อยที่สุด นี่คือบรรยากาศการเมืองที่ดีมาก แต่หลังเลือกตั้ง บรรยากาศเปลี่ยนไป แทนที่จะบอกว่าฝ่ายตนดีอย่างไร กลับบอกว่าเพื่อนไม่ดีอย่างไร  ซึ่งถ้าทำแบบนี้ อีกฝ่ายก็ต้องสู้และเกิดคดีความ กลายเป็นปัญหา นี่คือความกังวลว่าจะมีความขัดแย้ง ในทางกลับกัน ถ้าเราพูดถึงข้อดี จะไม่นำคนลงไปสู่ท้องถนน

ส่วนความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์นั้น  คิดว่าไม่มีความแตกต่างจากที่ผ่านมา  ถือเป็นเรื่องปกติ  แต่การเป็นคณะรัฐมนตรีภายใต้กฎหมายใหม่ ซึ่งมีข้อห้ามข้อกำหนดละเอียดกว่า และมีการตรวจสอบจากสังคม จะทำให้นักการเมืองต้องระมัดระวังตัว จนประชาชนอาจจะเห็นว่าเราไม่ทำอะไรเลย ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะเราทำอะไรไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่ตามมา เมื่อให้อำนาจน้อยก็จะทำอะไรได้น้อย ความคาดหวังสูงก็จะเกิดความอัดอั้นตันใจ ว่าไม่ทำอะไรเลย นี่คือข้อจำกัด

@ 5 ปัจจัยชี้ขาดการเมืองวิกฤต

“โกวิทย์” กล่าวว่า เมื่อครั้งตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ  คิดอยู่อย่างเดียวว่าทำอย่างไรให้การเมืองไปข้างหน้า  ทำให้เกิดรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ซึ่งถ้าเริ่มด้วยเรื่องตำแหน่งจะมีปัญหา  ทั้งนี้ การจะไปสู่วิกฤตินั้น คงมีปัจจัยหลายเรื่อง ดังนี้ 1.เสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งมีผลต่อการที่รัฐบาลจะอยู่หรือไป แต่การเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ตัวเลข 244 ต่อ  251 เมื่อรวมกับส.ว.ก็จะเห็นกันอยู่ 2.เรื่องครม. ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่สื่อและประชาชนเฝ้าดูอยู่ว่าจะมีศักยภาพในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ได้แค่ไหน นี่เป็นความท้าทาย 3.รัฐบาลต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต มีธรรมาภิบาล  4.รัฐบาลสามารถสร้างศรัทธากับประชาชน  ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้  ซึ่งนโยบายของพรรคพลังท้องถิ่นไทคือเรื่องกระจายอำนาจ

ต้องดูต่อไปว่าเมื่อไปร่วมรัฐบาลแล้วเราจะทำได้แค่ไหน แต่ตนยืนยันว่าจะผลักดัน เพราะที่ผ่านมาการเมืองแบบรวมศูนย์มันไปไม่รอด ไม่เข้าถึงประชาชน จึงคิดว่าเรื่องนี้จะทำให้การเมืองเป็นความหวังได้ ทั้งนี้ แม้พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกฯจะไม่พูดเรื่องการกระจายอำนาจเลยในวันรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน แต่เราต้องให้ความเป็นธรรมว่าขณะนี้ยังไม่มีการร่างนโยบาย หลังจากนี้ ประชาชนตรวจสอบได้  พล.อ.ประยุทธ์ต้องลดโทนเพื่อเป็นนายกฯในระบอบประชาธิปไตย และต้องวางท่าทีบทบาทให้เหมาะสม

@ ขู่เจอกระทู้ทุกสัปดาห์

ขณะที่ “พงศ์เทพ” มองความหวังหลังเลือกตั้งว่า เราต้องเริ่มด้วยความหวัง ถ้าไม่มีความหวัง ก็ไม่มีอนาคตใหม่ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีบทเรียนมาเยอะ บางครั้งแม้หวังแล้วแต่ก็ไม่เกิดขึ้น เช่น หวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะทำจริงตามคำพูดที่ว่าขอเวลาอีกไม่นาน ซึ่งคำว่าไม่นานของท่านอาจไม่เท่ากับประชาชน

ประเทศไทยหลังจากนี้อาจไม่แย่เหมือน 5 ปีที่ผ่านมา ความหวังอย่างแรก คือเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการตั้งครม.ชุดใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้  คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)และอำนาจของคสช.จะหมดไปในวันที่ ครม.ชุดใหม่เข้าถวายสัตย์  แต่แม้ คสช.จะหมดไปแล้ว แต่ร่างทรงและวิญญาณจะยังอยู่ นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา  ที่ยังอยู่ในครม. จากเดิมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)อาจฟูมฟักรัฐบาลเป็นไข่ในหิน แต่ต่อไปฝ่ายค้านจะตรวจสอบอย่างเข้มข้นในสภาผู้แทนราษฎร สิ่งที่เมื่อก่อนเราสงสัยแต่เขาไม่ตอบ พึ่งองค์กรอิสระก็ไม่เกิดอะไรขึ้น แต่คราวนี้ เจอกระทู้กันได้ทุกสัปดาห์ ข้อสงสัยของประชาชนจะได้รับการเปิดเผย

@ พรรคร่วมไม่เปลืองตัว ป้อง “บิ๊กตู่”

คนในพรรคพลังประชารัฐคงต้องเป็นองครักษ์พิทักษ์ พล.อ.ประยุทธ์เอง  เพราะเกรงว่าพรรคร่วมบางพรรคจะไม่เปลืองตัวมาเป็นองครักษ์ให้  เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คนจะเป็นนายกฯได้ต้องถูกเสนอโดยพรรคการเมืองที่มี 25 เสียงขึ้นไป ซึ่งนอกจากพล.อ.ประยุทธ์แล้วก็มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วนฝ่ายค้านมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัยเกษม นิติสิริ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  ในอนาคต ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลยังอยู่ แต่นายกฯไม่ใช่พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯคนต่อไปอาจมาจากพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)หรือพรรคภูมิใจไทย(ภท.) เพราะพรรคพลังประชารัฐเสนอนายกฯเพียงคนเดียว

นอกจากนี้ รู้สึกไม่สบายใจกับที่มาของส.ว. เพราะไม่โปร่งใส ทำอะไรลับๆล่อๆให้คนสงสัย แม้ในรัฐธรรมนูญจะระบุขั้นตอนไว้ชัดเจน ว่าคนคัดเลือกต้องมีความเป็นกลาง แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีพยายามอ้างที่จะไม่ตอบมาตลอด ช่วงแรกถูกถามว่ากรรมการสรรหาเป็นใคร ท่านก็บอกว่าบอกไม่ได้ เดี๋ยวมีการวิ่งเต้น แต่ตามกฎหมายระบุว่าต้องมีการส่งชื่อบุคคลที่จะเป็นส.ว.ให้คสช.ไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนการเลือกตั้ง แต่นายวิษณุกลับเพิ่งมาบอกเมื่อ 13 มิถุนายน ทั้งที่ควรบอกตั้งแต่เดือนมีนาคม และเมื่อเปิดชื่อ คนก็งงเป็นไก่ตาแตก มีชื่อพล.อ.ประวิตร มีชื่อนายพลที่ไปเป็นส.ว.เสียเอง ทั้งยังมีญาติของกรรมการสรรหา จึงไม่รู้ว่าจะเรียกวุฒิสภา หรือสภาวงศาคณาญาติและบริวารกันแน่ และเป็นไปได้อย่างไรที่บัญชีสำรองส.ว. ไม่ประกาศพร้อมกันทั้ง 2 บัญชี ทั้งยังมีชื่อของเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)อยู่ด้วย  ทั้งที่เป็นตำแหน่งที่มีบทบาทมากในการจัดเลือกตั้ง ซึ่งจะบอกว่าเป็นการเสนอชื่อโดยที่เลขาฯกกต.ไม่รู้เรื่อง คงเป็นไปไม่ได้

@ ความขัดแย้งเข้าสู่เฟส 2

ด้าน “ธนาธร” เชื่อว่า ความขัดแย้งขณะนี้กำลังเปลี่ยนเฟสใหม่ เพราะสิ่งที่เราเป็นอยู่ ไม่ใช่วิกฤติครั้งใหม่ แต่เป็นวิกฤติครั้งเดิมตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 ใจกลางปัญหาไม่ใช่เรื่องบุคลิกท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ แต่อยู่ที่ประเด็นที่ว่าอำนาจในประเทศนี้เป็นของใคร ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เรามีรัฐธรรมนูญ  5 ฉบับ สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยตกลงกันไม่ได้ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของใคร ดังนั้น วันนี้เรายังอยู่ในวิกฤติเดิม แต่เป็นเฟสใหม่  ฝั่งหนึ่งยืนยันว่าอำนาจเป็นของประชาชน แต่อีกฝั่งหนึ่งซึ่งมีผู้สนับสนุนน้อยกว่า เชื่อว่าอำนาจเป็นของคนกลุ่มน้อย และอภิสิทธิ์ชน  ซึ่งเขามีอำนาจปืน รถถัง ถือตาชั่งกฎหมาย

@ กลไก คสช.เปิดประตูความหวัง

แต่คำถามที่น่าสนใจ คือตอนนี้เราอยู่ที่ไหนของวิกฤติ สมรภูมิความคิดเป็นสมรภูมิเดิม แต่เปลี่ยนระยะจากช่วงที่มีคสช. มาสู่ระยะที่ไม่มี คสช. แต่ระบอบคสช.จะยังอยู่กับเรา ในรูปแบบรัฐธรรมนูญ 2560 ส.ว.250 คน  องค์กรอิสระที่แต่งตั้งในยุคคสช. นายกฯอย่างพล.อ.ประยุทธ์ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงกติกาเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งระยะใหม่นี้เองที่เป็นประตูแห่งความหวัง โดยในรอบ 2 วันที่ผ่านมา มีการเคลื่อนตัวทางความคิดจากอนุรักษ์นิยมมาเป็นฝั่งที่เชื่อในอำนาจประชาชน เห็นได้จากพานไหว้ครูของนักเรียนที่สะท้อนว่าความสนใจทางการเมืองมันถูกปลุกขึ้นแล้ว และโอกาสจะดับลงแทบเป็นไปไม่ได้ จึงนึกไม่ออกว่าฝ่ายที่เชื่อในอำนาจประชาชนจะแพ้ได้อย่างไร คนอายุ 18 ปีเพิ่มขึ้นปีละ 7-8 แสนคน นี่เท่ากับประตูมันเปิดแล้ว และหลังจากนี้ พรรคอนาคตใหม่จะตั้งกระทู้ถามในสภาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้การจำกัดสิทธิ์เป็นไปได้ยาก  โดยต้องขอบคุณทุกคนที่ทำให้พรรคเรามีส.ส.มากกว่า 20 คน ทำให้เราเสนอกฎหมายเข้าสู่สภาได้ ยืนยันว่าอนาคตใหม่จะรณรงค์อย่างแข็งขันในสภา เรื่องแรกคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 และ 279 ยุติการเกณฑ์ทหาร ส่งเสริมการกระจายอำนาจ  ซึ่งเราเชื่อว่าเรื่องนี้มันยึดโยงทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

อย่างไรก็ดี ตนไม่รู้จะยินดีกับทุกคนหรือไม่ที่ได้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯอีกครั้ง หลังจากนี้จะมีคนพูดว่ารัฐบาลนี้เป็นประชาธิปไตยและมาจากการเลือกตั้ง อ้างความชอบธรรมให้พล.อ.ประยุทธ์ แต่จริงๆแล้วมันไม่เป็นอย่างนั้น เช่น กรณีการแถลงข่าวของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ในการร่วมรัฐบาลกับพรรคพปชร. ที่ทำให้เห็นว่าการดำรงอยู่ของส.ว.ได้บิดเบือนการตัดสินใจของพรรคการเมืองต่างๆตั้งแต่ก่อนเลือกนายกฯแล้ว เขาจะพูดว่าต่อให้หักเสียงส.ว.ก็ยังชนะอยู่ดี หรือกรณีนายอนุทินที่บอกประชาชนก่อนโหวตนายกฯว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลกับเสียงข้างน้อย ซึ่งถามจริงๆ ว่าถ้าใช้สูตรคำนวณที่คนทั่วไปคำนวณกัน คนที่รวมเสียงข้างมากคือฝ่ายต่อต้านคสช. โดยเราจะมี 253-254 เสียง

ดังนั้น ถ้านายอนุทินใช้ตรรกะนี้จะร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ เท่ากับการใช้อำนาจของกกต.เป็นการปฏิเสธเสียงของประชาชน ยังไม่นับการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้  จึงยืนยันว่าวิกฤติในปัจจุบันยังเป็นเรื่องเดิม คืออำนาจในประเทศไทยเป็นของใคร  วันนี้เรามาสู่สมรภูมิใหม่ที่มีฝ่ายค้าน นี่คือความหวัง และทุกคนมีสิทธิมีความหวังเท่ากัน แต่บางคนมีความหวังมากกว่าคนอื่นๆ ตนอยากให้คนที่เชื่อในประชาธิปไตยเป็นคนกลุ่มนั้น

กับคำถามที่ 2 บนเวที ที่ทำอย่างไรให้ตัวความขัดแย้งที่ลึก นำขึ้นถกเถียงกันบนโต๊ะมีการคิดไม่นำไปสู่ท้องถนน

“วิเชียร” ขายไอเดีย พปชร.ว่า พรรคมีเป้าหมายและทิศทางที่จะทำภารกิจอย่างหนึ่งที่สำคัญคือลดความขัดแย้ง หลังปี 2540 บ้านเมืองแบ่งเป็นสองกลุ่ม สองขั้ว เพราะเราต้องการให้เป็นแบบสหรัฐอเมริกา มี 2 พรรคใหญ่แข่งกัน แต่นิสัยคนเอเชียโต้เถียงไม่เกินสองคำเดี๋ยวปะทะกันแล้ว เราจะเอาแบบฝรั่งไม่ได้ ก่อนหน้านี้สงสารคนเป็นรัฐมนตรีจังหวัดนั้นไปไม่ได้ จังหวัดนี้ไปไม่ได้ ผมต้องพารัฐมนตรีวิ่งหนีฝ่ายตรงข้าม ดูแล้วก็ตกใจบ้านเมืองไปขนาดไหน พปชร.ไม่ต้องการให้มีบรรยากาศแบบนั้น

@ สอนธนาธร ความขัดแย้งไม่ใช่เกิดปี 49

สิ่งหนึ่งที่จะเล่าให้นายธนาธรฟังว่า ไม่ใช่ปี 2549 ที่เป็นศูนย์กลางความขัดแย้ง แต่เราผ่านสมรภูมิมาเยอะ ผมไม่ได้มาในฐานะ พปชร.ที่จะปกป้อง คสช. ที่บอกว่าเป็นองค์รักษ์ความจริงไม่ใช่ คนในธรรมสาสตร์ยุคอดีตทุกคนผ่านสมรภูมิ คำสั่ง คสช.ที่เป็นคำขู่ แต่ที่ผ่านมาไม่ใช่คำขู่ เป็นปัญหาทางสังคมมานานแล้ว เวลาที่แบ่งฝ่ายอย่างเข้มแข็งหลังปี 2540 จะมีการปฏิบัติการทางการเมืองที่เข้มข้น เอาชนะคะคานเกินหลักประชาธิปไตย ไม่เคารพเสียงข้างน้อย เราไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง ถ้าเรากลับเข้าสู่บทบาทให้สภาทำหน้าที่ลดความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นความขัดแย้งและความแตกต่างในสังคม ไม่ได้มาจากแค่การเมืองเพียงอย่างเดียว แต่มาจากชีวิตและสังคมซึ่งมีความแตกต่างอย่างมาก ในรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำความแตกต่างได้ดี เมื่อเหลื่อมล้ำมากความขัดแย้งสูง สังคมจะแก้อย่างไร ถ้าเรามีผู้ประกอบการนายทุนที่เข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่าความขัดแย้งก็เกิดขึ้น ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้

@ บ้านเมืองสงบ – เศรษฐกิจดี

ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำต้องขจัดไปจากสังคม เราเรียกร้องทางการเมืองอย่างเดียวไม่ใช่การแก้ปัญหา เราจึงต้องคิดและทำอย่างไรให้สภามีบทบาทและทำหน้าที่ตรงนี้ อย่าคาดหวังว่ามีการเลือกตั้งแล้วจะนำไปสู่สังคมที่ร่ำรวยได้เลย เพราะเวลานี้เป็นสังคมผู้สูงอายุ เขาไม่มาลงทุนเพราะไม่มีคน คนสูงอายุ 30 เปอร์เซ็นต์แล้ว ทุกคนจะออมเงินแล้วเก็บไว้หลังเกษียณแต่ประเทศเรามีเสน่ห์คือการท่องเที่ยวถ้าบ้านเมืองสงบเรียบร้อย คนก็มาเที่ยว เศรษฐกิจก็จะดี ญี่ปุ่นอยู่ได้ด้วยการท่องเที่ยว แต่ญี่ปุ่นไม่มีอุตสาหกรรมเพิ่มเติม เขาทำไฮเทคโนโลยี ซึ่งเมืองไทยทำไม่ได้ ดังนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญว่า ทำอย่างไรให้เราพาประเทศไปถูกทาง จีนเขาแคร์เรื่องที่จะทำอย่างไรให้ประเทศมีเศรษฐกิจที่ดี เขาจึงกล้าประกาศนโยบายว่าไม่มีคนจนในประเทศจีน เพราะเขาเลือกทางของเขาว่าจะทำอะไรที่ประเทศนี้

@ ประชาธิปไตย 100% พาชาติสำเร็จไม่ได้

แต่ถ้าเราบอกว่าจะทำอะไรก็ตามที่ขออย่างเดียวเปิดให้ฝรั่งยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมไม่เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จก้าวหน้า ไม่ได้แปลว่าไม่ให้ใช้ประชาธิปไตย แต่เรียกร้องให้เราเลือกทางเดินที่จะทำให้สังคมสงบเรียบร้อยและเดินไปข้างหน้าได้ ไม่ต้องการให้ความขัดแย้งถ้าทำอะไรไม่ได้ต่อไปก็ลงไปบนถนน ต่อไปก็ไม่จบกับปัญหา

@ กระจายอำนาจแก้ขัดแย้ง

“โกวิทย์” จากพลังท้องถิ่นไท อดีตอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ.ในฐานะนักวิชาการที่ผลักดันเรื่องกระจายอำนาจ ตั้งใจว่าจะใช้เวทีสภาแก้ความขัดแย้ง

ความขัดแย้งมีหลายรูปแบบอีกประเด็นที่แก้ไม่ตกคือความขัดแย้งทางการเมืองที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซึ่งยังดำรงอยู่และเป็นโจทย์ที่ทุกฝายควรคิด ความเหลื่อมล้ำ ยากจน ยังเชื่อว่าถ้ารัฐบาลกระจายอำนาจสู่ชนบทจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ ส่วนความขัดแย้งในปัจจุบันเป็นการสู้กันทางความคิด ความเชื่อว่าจะเดินอย่างไร

แต่สมัยรัฐบาลสืบทอดอำนาจรัฐบาลรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำไปสู่การเกิดพฤษภาทมิฬ เป็นความขัดแย้งเดินอยู่ข้างถนนแล้วปะทะกันตลอดแล้วแก้ปัญหา พอจบพฤษภาทมิฬ การเมืองกลับสู่สภาแล้วมีการแก้ปัญหานายกฯ ให้มาจากการเลือกตั้ง แก้รัฐธรรมนูญรวดเดียวจบโดยสภามีมติเอกฉันท์ ดังนั้น ในวิถีความคิดแตกต่างกันได้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

@ ชวนเพื่อน ส.ส.ผลักดันกระจายอำนาจ

มองเห็นสภาชุดนี้ที่แตกต่างจากชุดก่อนๆ มีความหลากหลายใน ส.ส.อยู่พอสมควร มีคนรุนใหม่ รุ่นกลาง รุ่นเก่า เราจะทำอย่างไรให้สิ่งที่มีความหลากหลายในสภา ผมชวน ส.ส.หลายท่านในสภาทำเรื่องกระจายอำนาจ ซึ่งผมเอาด้วย ขอให้เสนอกันมาและร่วมกันผลักดัน เพราะในหลายประเทศเป็นเรื่องใหญ่ที่จะสร้างโครงสร้างอำนาจ ดังนั้น เราควรมีจุดร่วมกันในเรื่องความคิด ส่วนความแตกต่างในบางเรื่องที่ไม่ลงตัวก็เก็บไว้ ในสภาควรจะเป็นสภาที่มีเหตุผล

ทางออกหนึ่งที่มองเห็น คือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น คือหัวใจที่ทำให้ประเทศเดินหน้าได้ ใช้สภามาคิดเรื่องแบบนี้ ถ้าเราสร้างการเมืองใหม่ต้องชวนคนต่างพรรค ไม่มีฝ่ายค้าน รัฐบาลในบางเรื่อง เช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังพฤษภาทมิฬมีประเด็นร่วมก็เดินไปด้วยกัน

@ ยุติธรรมไม่มี สามัคคีไม่เกิด

ด้าน “พงศ์เทพ” กล่าวว่า เรื่องความขัดแย้งมีมาอย่างยาวนานและหยั่งรากลึกถึงระดับครอบครัว ส่วนหนึ่งของความขัดแย้งคือความเหลื่อมล้ำ แต่ในสังคมไทยความขัดแย้งช่วงที่ผ่านมา ยังไม่ได้คิดว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัจจัยหลัก เพราะเราเหลื่อมล้ำกันมานานกว่านี้แต่ไม่ขัดแย้งขนาดนี้

มีคำกล่าวว่าความยุติธรรมไม่มี สามัคคีไม่เกิด ปฏิเสธไม่ได้มีการใช้ 2 มาตรฐานในองค์กรต่างๆ ทั้งซีกองค์กรอิสระและตุลาการ ถ้าใช้มาตรฐานเดียวความขัดแย้งไม่เกิดขึ้น องค์กรที่มีความสำคัญที่สุดไม่ได้หวังกับองค์กรอิสระที่กรรมการส่วนใหญ่เข้ามาโดยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ก็มาจากความเห็นชอบของวุฒิสภา ซึ่ง ส.ว.มาจากไหนก็รู้อยู่ องค์กรเดียวที่ฝากความหวังแม้ไม่มากก็คือองค์กรตุลาการ แต่บางคดีก็ถูกตัดตอนโดยองค์กรอิสระได้ เช่น ป.ป.ช.มีมติไม่ส่งไปให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็จบ และยังห่วงศาลปกครองผู้ที่จะเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดได้ ต้องผ่านการเห็นชอบจาก ส.ว.

@ รัฐบาลผสม 19 พรรคทำยาก

อนาคตของคนไทย ซึ่งมีรัฐบาลผสม 19 พรรค แค่จะเอานโยบาย 19 พรรคมาเป็นนโยบายรัฐบาลก็มีความเป็นห่วง พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีนโยบายที่ไม่เคยประกาศต่อประชาชน อีกทั้ง 19 พรรค จะทำงานอย่างเป็นเอกภาพหรือไม่ ซึ่งค่อนข้างจะยากสำหรับ 19 พรรคที่จะชิงไหวขิงพริบเพื่อการเลือกตั้งครั้งตอไป ประชาธิปัตย์เคยมี ส.ส.159 คน ตอนนี้เป็นพรรคอันดับ 4 มี ส.ส.แค่ 52 คน คงไม่พอใจ เพราะถ้าพอใจอาจจะเหลือน้อยกว่านี้

เรื่องความสามารถของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นที่ยอมรับของพรรคร่วมขนาดไหน ก็ยังไม่แน่ใจ ส่วนฝ่ายค้านทำได้คือการตรวจสอบ สำหรับเรื่องรัฐธรรมนูญเขาไม่ได้เขียนให้แก้ แต่เขียนให้ฉีก มีการตั้งเงื่อนไขบ้าๆ บอๆ ไว้ เขียนระเกะระกะ ถ้าแก้มาตรา สองมาตราจะโยงกันไปหมด จึงต้องยกร่างใหม่ แต่ในรัฐธรรมนูญนี้ปิดช่องการแก้ไขไว้ ขนาดรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ทำอะไรก็ยังปวดหัว ดังนั้น ต้องให้มีการทำประชามติว่าจะใช้รัฐธรรมนูญนี้ต่อไปหรือพร้อมใจจะทำกติกาใหม่ที่เป็นธรรม ซึ่งจะเข้าไปสู่สังคมที่อยู่กันได้และแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

@ ถามใครคือต้นตอความขัดแย้ง

ด้าน “ธนาธร” กล่าวว่า ใครกล้าพูดถึงต้นตอความขัดแย้งคืออะไร ตกลงเป็นคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย หรือ คนที่ขโมยอำนาจจากเราไปแล้วไม่คืน ตกลงผมเป็นตัวที่ทำให้สังคมวุ่นวายหรือไม่ แค่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งเป็นเรื่องง่ายๆ นึกไม่ออกว่าสิ่งที่เรียกร้องว่าอำนาจเป็นของประชาชน คนทุกคนควรมีสิทธิเสรีภาพ ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน มีอะไรยากไหม สิ่งที่ผมพูดไม่ได้ไกลเกินฝัน อยู่ในวิสัยที่ทำได้ประเทศไทยเคยทำมาแล้วครั้งหนึ่ง เคยเป็นดวงประทีปแห่งความหวังเรื่องประชาธิปไตยในอาเซียน เราถดถอยแค่ไหนในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา

@ โต้เดือด นั่งร้าน คสช.อย่าอ้างเป็นคนเดือนตุลา

สุดท้ายใครกันแน่ระหว่าง นักการเมืองที่ไปเป็นนั่งร้านให้การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร หรือคนที่เรียกร้องประชาธิปไตยกันแน่ที่เป็นต้นตอของปัญหา ถ้าใครเป็นนั่งร้านให้กับคณะรัฐประหารไม่ต้องมาโอ้อวดว่าเกิดเดือนตุลาปีไหนมองหน้าประชาชนแล้วถามว่าทำไมถึงยอมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อย่าลืมว่าพูดเรื่องความรุนแรงในสังคม ตุลาปีนั้นรุนแรงแค่ไหน แต่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นหนึ่งในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)  เป็นหนึ่งใน คสช. เรื่องความรุนแรงในอดีต แล้วจะตอบเรื่องนี้กับประชาชนอย่างไร ทำไมไม่กล้าพูดเรื่องจริง ว่าคนที่เป็นปัญหาความขัดแย้งไม่ใช่คนที่ลุกขึ้นมาทวงสิทธิเสรีภาพ แต่เป็นคนที่ขโมยอำนาจของเราไปและเขียนกติกาให้อำนาจอยู่กับพวกเขาไปนานแสนนาน ต้องถามกลับอย่าให้เขาตีกินพูดเรื่องลดความขัดแย้ง อย่าให้ใครมาตีกินง่ายๆ

@ ย้อนโกวิทย์ อยู่ผิดพรรค

รวมถึงการพูดว่าเป็น ส.ส.แล้วมีโอกาสที่จะลดความขัดแย้ง แต่กลับเลือกไปส่งเสริมความขัดแย้งให้ดำรงอยู่ในสังคม ไปเป็นนั่งร้านการสืบทอดอำนาจให้ คสช. ดังนั้น การจะลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ยุติราชการรวมศูนย์ ปฏิรูประบบราชการ ว่ากันด้วยข้อเท็จจริง การรัฐประหาร 2549 ถึง คสช. อำนาจถ่ายเทไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้นหรือถูกดึงจากท้องถิ่นเข้ามาส่วนกลาง ระบอบเผด็จการต้องต้องการให้ประชาชนเติบโต ให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนงอกงาม ต้องการเอาพลังศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ของประชาชนออกมาใช้พัฒนาประเทศ หรือต้องการให้อำนาจส่วนกลางไปกดทับประชาชนไม่ให้ประชาชนแสดงออก อำนาจและระบอบแบบไหนที่จะเอื้อให้การกระจายอำนาจเป็นจริงได้ ผมว่าอาจารย์โกวิทย์อยู่ผิดพรรค

@ พัฒนาประชาธิปไตยคู่กระจายอำนาจ

ดังนั้น ถ้าจะกระจายอำนาจได้ต้องพัฒนาประชาธิปไตยไปควบคู่กัน เพราะความเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำคืออำนาจ อำนาจที่กระจุกตัวอยู่ศูนย์กลางทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างมหาศาล เพราะอำนาจคืองบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ในงบประมาณปี 2563 จะใช้ทำอะไร ที่ไหน ให้ใคร นี่คืออำนาจ จะสร้างรถไฟฟ้าใน กทม.หรือไปสร้างโรงพยาบาลดีๆ ในต่างจังหวัด นี่คืออำนาจ เงินบาทเดียวกัน และพออำนาจรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางทำให้สังคมไทยเหลื่อมล้ำมานานขนาดนี้ แต่ไม่มีพรรคการเมืองไหนกล้าที่จะบอกว่าอำนาจต้องอยู่ในส่วนกลาง วาระเรื่องกระจายอำนาจก้าวหน้ามากในการเลือกตั้ง แต่รัฐแบบไหนที่จะส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจในสังคม

@ โว ไทยซัมมิทพัฒนา AI

ส่วนเรื่องเทคโนโลยี ถ้าไม่เชื่อว่าประเทศไทยพัฒนาเทคโนโลยีได้ด้วยตัวของเราเอง ไม่ต้องทำ ผมจะทำให้ เพราะก่อนที่ผมออกจากบริษัทไทยซัมมิท มีหุ่นยนต์มากที่สุดในประเทศไทย 1,600 ตัว นำมาใช้ในระบบการผลิตตั้งแต่ปี 2006 ตั้งแต่ไม่มีใครพูดเรื่องหุ่นยนต์ในประเทศไทย และก่อนออกจากบริษัทกำลังพัฒนา AI ตัวแรกของบริษัท บริษัทเป็นบริษัท TOP 5 ในโลกที่นำอะลูมิเนียมมาใช้แทนเหล็ก เพื่อทำให้วัสดุที่ใช้ในยานพาหนะมีน้ำหนักลดน้อยลง ทำให้รถยนต์เคลื่อนที่ได้ไกลขึ้นต่อ 1 หน่วยพลังงาน ทำให้การเดินทางมีประสิทธิภาพมากขึ้น โลกเขียวมากขึ้น ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยลง เชื่อว่าคนไทยสามารถผลักดันประเทศไทยได้ดีกว่านี้และพร้อมต่อกรกับโลกาภิวัตน์มากกว่านี้