“จตุพร-ยศวริศ” ใส่ชุดนักโทษ ควงแกนนำนปช.ขึ้นศาลทหาร “เหวง” ซัดคสช. 2 มาตรฐานคดีสลายม็อบ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 5 ก.ย. ที่ศาลทหารกรุงเทพฯ ศาลทหารนัดสอบคำให้การคดี 19 แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ 7/2557 ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป จากกรณีที่ร่วมกันแถลงเปิดตัวศูนย์ปราบโกงประชามติ ที่อิมพีเรียลลาดพร้าว เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2559

สำหรับแกนนำ นปช. 19 คน ประกอบด้วย 1.นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. 2.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. 3.นางธิดา ถาวรเศรษฐ 4.จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ 5.นายแพทย์เหวง โตจิราการ 6.นายนิสิต สินธุไพร 7.นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ 8.นายยงยุทธ ติยะไพรัช 9.นายก่อแก้ว พิกุลทอง 10 นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ 11.นายสงคราม กิจไพโรจน์ 12.นายสมหวัง อัสราษี. 13.นายยศวริศ ชูกล่อม 14.นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์ 15.นายเกริกมนตรี รุจโสตถิรพัฒน์ 16.นายอารี ไกรนรา 17.นายสมชาย ใจมุ่ง 18.นายพรศักดิ์ ศรีละมุด และ 19.นายศักดิ์รพี พรหมชาติ

ต่อมาเวลา 08.50 น. เจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้นำตัวนายจตุพรที่อยู่ระหว่างถูกจำคุกในคดีหมิ่นประมาทนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าสั่งฆ่าประชาชน ในการปราศัยเวทีชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2552 พร้อมนายยศวริศ ชูกล่อม แกนนำ นปช. ที่ถูกจำคุกในคดีหมิ่นเบื้องสูง มายังศาลทหารด้วยรถตู้เรือนจำ ซึ่งทั้งคู่มาในชุดเรือนจำและมีสีหน้าแจ่มใส พร้อมยกมือไหว้ขอบคุณมวลชนที่มาให้กำลังใจ กว่า 20 คน ก่อนที่ทางเจ้าหน้าที่เรือนจำจะควบคุมตัวไปในศาล ทั้งนี้ มีเพียงนายศักดิ์รพีไม่ได้เดินทางมาศาล

นางธิดา กล่าวว่า การเดินทางมาขึ้นศาลทหารครั้งนี้ สืบเนื่องจากศาลได้เลื่อนนัดสอบคำให้การจากครั้งที่แล้ว เพราะนปช.มาไม่ครบทั้ง 19 คน ซึ่งคดีนี้ถือเป็นคดีที่มีผู้ถูกกล่าวหามากที่สุด อย่างไรก็ตาม การร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ปราบโกงประชามติ ที่อิมพีเรียลลาดพร้าว เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2559 เรามีความปรารถนาดีที่ต้องการให้การทำประชามติมีความโปร่งใสและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการชุมนุมทางการเมือง

ADVERTISMENT

นพ.เหวง กล่าวตั้งข้อสังเกตุว่า กรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ร่วมกันแถลงข่าวกว่า 10 คน ต่อกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกฟ้องการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ถามว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ คสช.มีมาตรฐานอย่างไรในเรื่องความยุติธรรม หากไม่มีมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมก็ยากที่จะเกิดการปรองดอง รวมถึงการประกาศให้ปฏิบัติตามสัญญาประชาคม

“เหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่ม พธม. เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 และการสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ปี 2553 จะเห็นว่าการสลายการชุมนุมของ พธม. ใช้เพียงแก๊สน้ำตาและกำลังตำรวจ ส่วนของกลุ่ม นปช. นั้นใช้ทหาร 6 หมื่นนายของ 3 เหล่าทัพ รวมทั้งกระสุน 2 แสนกว่านัด อยากถามว่าทั้งสองกรณีนี้มีการปฏิบัติ 2 มาตรฐานหรือไม่ หากมี 2 มาตรฐานจะหาความยุติธรรมในประเทศนี้ไม่ได้” นพ.เหวง กล่าว

ADVERTISMENT

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์