สงครามถอด 96 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ รัฐบาลบิ๊กตู่ 2/1 เสี่ยงจมน้ำ

รายงานพิเศษ

พลันที่ 66 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่ เข้าชื่อยื่นต่อ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นบุรุษไปรษณีย์ ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล จำนวน 41 คน ที่อาจเข้าข่ายกรณีการถือหุ้นสื่อ ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่

ปรากฏว่า “บุรุุษไปรษณีย์ชวน” ส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเชือดทันที ใน 41 รายชื่อมี ส.ส.พลังประชารัฐ 27 คน ประชาธิปัตย์ 11 คน รวมพลังประชาชาติไทย 1 คน ภูมิใจไทย 1 คน และชาติพัฒนา 1 คน

และมี 3 ว่าที่รัฐมนตรีอยู่ใน 41 คนดังกล่าว ประกอบด้วย 1.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แคนดิเดต รมว.ศึกษาธิการ ถือหุ้นบริษัท แปซิฟิค เอ็กซ์คลูซิฟ ซิตี้ คลับ จำกัด 2.นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แคนดิเดต รมช.สาธารณสุข ถือหุ้นบริษัท พี.ที.รุ่งเรืองคอนกรีต จำกัด และ 3.ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย แคนดิเดต รมว.ต่างประเทศ ถือหุ้นบริษัท เจ.ซี.ฟู๊ด คอร์ทส จำกัด

แม้ว่ายังไม่มีความชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ แต่ก็ทำให้สถานะของรัฐบาลผสมปริ่มน้ำต้องขวัญผวา หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง อาจเกิดผลสะเทือนไปถึงการเปิดประชุมแถลงนโยบายต่อรัฐสภา-โหวตพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในอนาคตอันใกล้

รัฐบาลส่อจมน้ำ 210 เสียง

เพราะขณะนี้เสียงในสภาของรัฐบาลประยุทธ์ 2/1 มี 245 เสียง จากพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด 19 พรรค เข้าข่ายปริ่มน้ำขั้น red zone หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยรับคำร้อง สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เช่นเดียวกับกรณี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จะทำให้เสียงในสภาของฝ่ายรัฐบาลมี 213 เสียงเท่านั้น น้อยกว่าพรรคฝ่ายค้าน 7 พรรค ที่ผนึกกำลังกับพรรคเพื่อไทย มี ส.ส.รวมกัน 244 เสียง

จาก “รัฐบาลปริ่มน้ำ” จะกลายเป็น “รัฐบาลจมน้ำ” เพราะมีเสียงน้อยกว่าฝ่ายค้าน 31 เสียง ! ร่างกฎหมายฉบับแรกที่อาจเป็นเครื่องชี้ว่า รัฐบาลจะอยู่ หรือถูกคว่ำกลางสภา คือ กฎหมายงบประมาณปี 2563

หากศาลให้ 41 ส.ส.หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำตัดสิน เมื่อถึงคิวโหวตกฎหมาย นอกจากฝ่ายรัฐบาลมีเสียงในสภาเหลือเพียง 213 เสียง ยังต้องหักออกอีก 3 เสียง คือ “ชวน หลีกภัย” ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร “สุชาติ ตันเจริญ” รองประธานสภาคนที่ 1 “ศุภชัย โพธิ์สุ” รองประธานสภา คนที่ 2 เท่ากับว่าฝ่ายรัฐบาลจะมีจำนวนเสียงโหวตกฎหมายแค่ 210 เสียงเท่านั้น

พปชร.แก้เกมฝ่ายค้าน

จึงทำให้ฝ่ายพลังประชารัฐ ในฐานะแกนนำตั้งรัฐบาลไม่อาจอยู่เฉย จึงสู้กลับด้วยการ “ขุดคุณสมบัติ” ส.ส.ฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค นำมาสู่แผนการยื่นร้อง 55 ส.ส.ฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคอนาคตใหม่มี 33 คน อาทิ พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรค นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายชำนาญ จันทร์เรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายวาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อนายวินท์ สุธีรชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ

พรรคเพื่อไทย เข้าข่าย 10 คน อาทิ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ (แคนดิเดตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ นางอาภรณ์ สาราคำ ส.ส.อุดรธานี นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก นายโกศล ปัทมะ ส.ส.นครราชสีมา

พรรคเพื่อชาติ มี 4 คน นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรค น.ส.ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ นางลินดา เชิดชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ

พรรคเสรีรวมไทย 4 คน มีชื่อหัวหน้าพรรค “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส” เข้าข่ายถือหุ้นสื่อ ขณะที่พรรคประชาชาติ 2 คน คือ นายอับดุลอายี สาแม็ง ส.ส.ยะลา และนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคพลังปวงชนไทย มีพรรคละ 1 คน

ในจำนวน 55 คน หากไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญและสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ จะทำให้จำนวนเสียงของฝ่ายค้านลดฮวบเหลือเพียง 189 เสียง

ย่อมหมายความว่า หากทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จะทำให้ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้านอยู่ 21 เสียง

เมื่อนับจำนวน ส.ส.ที่อาจต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีที่มีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญออกมา ตัวเลข ส.ส.ในสภา เหลือ 404 คน ส.ส.ในสภาหายไป 96 คน นี่จึงกลายเป็นปฏิบัติการ “ล้างสภา” ยังไม่นับที่พรรคเพื่อไทย ยื่นให้ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติ 21 ส.ว.ลากตั้ง จากกรณีถือหุ้นสื่อ

ย้อนรอยที่มาชุลมุนหุ้นสื่อ

ก่อนเรื่องราวบานปลาย กลายเป็น “เกมล้างสภา” ต้องย้อนไปในช่วงก่อนเลือกตั้ง ที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งวินิจฉัยคุณสมบัติของว่าที่ผู้สมัครที่ถือครองหุ้นสื่อ โดยแจ้งวัตถุประสงค์ประกอบกิจการในเอกสารบริคณห์สนธิว่าประกอบกิจการเกี่ยวกับสื่อ ทั้งที่ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อจริง ๆ ก็ตาม

มี 2 คดีที่ศาลฎีกาพิพากษา จนเป็นแนวบรรทัดฐานมาถึงกรณีหุ้นสื่อที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ คำสั่งศาลฎีกาที่ 1356/2562 กรณี “คมสัน ศรีวนิชย์” ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดอ่างทอง เขต 1 พรรคประชาชาติ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ที.เอ็ม.อินเตอร์เนชั่นแนล อิมพอร์ท เอ็กซ์พอร์ท จำกัด ศาลเห็นว่า อ้างข้อเท็จจริงว่าบริษัทดังกล่าวไม่ได้ประกอบกิจการโรงพิมพ์ รับออกหนังสือพิมพ์ พิมพ์ หรือจำหน่ายและออกหนังสือพิมพ์เลย ฟังไม่ขึ้น

และคำสั่งศาลฎีกาที่ 1706/2562 กรณี “ภูเบศวร์ เห็นหลอด” ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดสกลนคร เขต 2 พรรคอนาคตใหม่ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียร์ริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์ แม้นายภูเบศวร์อ้างว่า ไม่ได้ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ออกหนังสือพิมพ์ ศาลพิจารณาว่าฟังไม่ขึ้น

กระทั่งเกิดกรณีของ “ธนาธร” ถูกขุดคุ้ยหลังจากโอนหุ้นบริษัทที่มีอยู่ทั้งหมดเข้ากองทุน Blind Trust และปรากฏว่า หนึ่งในนั้นคือหุ้นบริษัท “วี-ลัค มีเดีย” ที่ประกอบกิจการสื่อ และยังถูกขุดอีกว่า “ธนาธร” ยังถือหุ้นดังกล่าวจนถึงก่อนวันเลือกตั้งเพียง 2 วัน

“ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงเข้ายื่นหนังสือต่อ กกต. ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ “ธนาธร” ทันที เมื่อ 25 มี.ค. 1 วันหลังเลือกตั้ง

กระทั่ง กกต.มีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ และศาลได้สั่งให้ “ธนาธร” หยุดปฏิบัติหน้าที่ ลามมาถึง 66 ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ 41 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และพรรคพลังประชารัฐยื่นให้ตรวจสอบ 55 ส.ส.ฝ่ายค้าน

เกมล้างสภา…รัฐบาลประยุทธ์ 2/1 เสี่ยงจมน้ำ