“วิษณุ เนติบริกร” ไม่มีไม่ได้! ทุบสถิติอยู่คาทำเนียบ28ปี คู่หู8นายกฯ ความปลื้ม “คุณหญิงพจมาน”

“ดร.วิษณุ เครืองาม” เพิ่งยืนยันเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 62 ว่าจะได้รับตำแหน่ง “รองนายกรัฐมนตรี” ฝ่ายกฏหมาย อีกสมัย ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 สมัยที่ 2

เป็นคนการเมืองที่ถือว่าอยู่ในทำเนียบรัฐบาลนานที่สุด เกือบ 3 ทศวรรษ

นับเป็นการทำงานการเมืองในปีที่ 28 หลังจากก้าวเข้าทำเนียบรัฐบาลครั้งแรก เมื่อปี 2534 ในตำแหน่งรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

จากนั้นเพียง 3 ปี “ดร.วิษณุ” ขยับขึ้นเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ยาวนานถึง 9 ปี คู่ขนานกับการปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ในฐานะสมาชิกวุฒิสภาต่อเนื่อง 2 สมัย ในระหว่าง พ.ศ. 2535 – 2543

ครบเครื่องด้วยขาที่ 3 ในตำแหน่งฝ่ายกฏหมายของรัฐบาล-บทบาทกรรมการกฤษฎีกา ยาวนานถึงปัจจุบันกว่า 27 ปี

เขาทำงานการเมืองในฐานะ ข้าราชการพลเรือน “เลขาธิการคณะรัฐมนตรี” ตรวจคุณสมบัตินักการเมือง-รัฐมนตรีมาแล้วหลายร้อยคน

ขึ้น-ลงตึกไทยคู่ฟ้า-คู่หู 8 นายกรัฐมนตรี

คลุกวงในกับนายกรัฐมนตรี บนตึกไทยคู่ฟ้ามาแล้ว 8 คน เริ่มตั้งแต่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ, นายอานันท์ ปันยารชุน, พล.อ.สุจินดา คราประยูร, นายชวน หลีกภัย, นายบรรหาร ศิลปอาชา, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, นายทักษิณ ชินวัตร และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทุบสถิติ ในฐานะรองประมุขฝ่ายบริหาร “ดร.วิษณุ” ขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีครั้งแรกและต่อเนื่อง 2 สมัยในยุค “ทักษิณ ชินวัตร” รุ่งเรือง

และควบรองนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ในยุค “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

หากเอ่ยชื่อนายกรัฐมนตรีย้อนหลังไป ในรอบ 28 ปีที่ผ่านมา “ดร.วิษณุ” เล่าประวัตินายกรัฐมนตรีทุกคนได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งวิธีการทำงาน วิธีคิด และมีเกร็ดเรื่องส่วนตัวผสมแนบท้าย อาทิ

ดร.วิษณุเล่าว่า “รัฐบาลท่านอานันท์ (ปันยารชุน) ต้องมาเสียเวลาครึ่งหนึ่งของรัฐบาลไปกับการแก้ปัญหาศึกตุลาการ”

“รัฐบาลท่าน พล.อ. สุรยุทธ์ (จุลานนท์) ต้องมาเสียงบประมาณ ใช้เวลาไปจำนวนมาก กับการแก้ปัญหาน้ำท่วมใน 48 จังหวัด จนเกือบจะไม่ได้ทำอย่างอื่น”

“รัฐบาลคุณสมัคร (สุนทรเวช) คุณสมชาย (วงศ์สวัสดิ์) ลงท้ายก็ไม่ได้ทำอะไร ได้ใช้เงิน เวลา หัวคิด ไปกับการแก้ปัญหาเรื่องม็อบ แม้แต่คุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ก็ใช้เวลาไปกับการแก้ปัญหานี้ ก็ผลักดันนโยบายออกมาได้บางส่วน”

“รัฐบาลทักษิณ ช่วงตอนปลายรัฐบาล มีงบประมาณเหลือมากพอที่จะไม่เก็บภาษีประชาชน 1 ปี แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ชั่วข้ามคืนอย่างสึนามิในภาคใต้ ต้องเอางบประมาณ สมอง เวลาทั้งหมดมาใช้กับการแก้ปัญหานั้น”

นักการเมืองคนในสำคัญระดับรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล “ประยุทธ์ 1” และสมัยที่ 2 ซึ่งร่วมงานกับ “ดร.วิษณุ” มาแล้ว ตั้งแต่ยุค “ทักษิณ” ระบุว่า

“ระดับความเชี่ยวชาญในการอธิบาย เทคนิกการปลดล็อก แก้กฎหมาย การแก้คำสั่งที่เป็นจุดอ่อนการเมืองบางประการ ของ คสช. นั้น นับวันจะเก่งกาจกว่า ดร.มีชัย ฤชุพันธุ์ นักกฎหมายรุ่นพี่เสียแล้ว…รัฐบาลนี้ ไม่มี ดร.วิษณุ ไม่ได้”

ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ยุคที่นั่งเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ต่อจากและเป็นเครือญาติ “ดร.วิษณุ” นิยามความเก่งกาจของญาติผู้พี่ไว้ว่า “เป็นคนที่เก่งกาจ แบบมหัศจรรย์พันลึก”

รู้จัก “ทักษิณ” เพราะชี้ “ชินวัตร” แพ้คดี

ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงชีวิตการเมืองที่สำคัญของ “ดร.วิษณุ” คือช่วง “ทักษิณ” เรืองอำนาจ

“ดร.วิษณุ” เล่าไว้ในหนังสือ “โลกคือละคร” ตอนหนึ่งว่า… รู้จัก “ชินวัตร” เพราะคดีร้อยล้าน

“วันหนึ่ง มีคดีระหว่างองค์การโทรศัพท์กับบริษัทของคุณทักษิณ ซึ่งคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นซีอีโอ พิพาทกันเป็นเงินนับร้อยล้าน เรื่องต้องส่งให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา ทางองค์การตั้งคุณชัยเกษม นิติสิริ เป็นอนุญาโตตุลาการ บริษัทตั้งอัยการเก่าอีกคนหนึ่ง”

“ทั้งสองคนเลือกผมมาเป็นประธาน อนุญาโตฯแต่ละคนตัดสินให้แต่ละฝ่ายชนะ ผมกลายเป็นคนต้องชี้ขาดโดยเห็นด้วยกับฝ่ายองค์การ ให้องค์การชนะสองต่อหนึ่ง”

“ทักษิณ” จำ “ดร.วิษณุ” ไม่เคยลืมจนถึงวันขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

“วันหนึ่ง คุณทักษิณเรียกผมไปประชุมอะไรอย่างหนึ่งที่ห้องทำงานนายกฯ บนตึกไทยคู่ฟ้า ตอนนั้นมีประเด็นว่า ถ้าเรื่องขอกระทรวงหนึ่งที่กำลังอยู่ในชั้นอนุญาโตตุลาการแพ้ รัฐบาลจะทำอย่างไร พูดกันไปพูดกันมาคุณทักษิณก็นึกได้ บอกคนในห้องว่า เลขาฯวิษณุเคยชี้ขาดให้ผมแพ้ต้องจ่ายเงินหรือขาดกำไรไปหลายสิบล้าน”

แก้ปมปัญหา “ทักษิณ-ขาดคุณสมบัติรัฐมนตรี”

ในสมัยรัฐบาลชวน 1 เมื่อพรรคพลังธรรมซึ่งร่วมรัฐบาลอยู่ ได้ขอปรับคณะรัฐมนตรี ขยับ “น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ” ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดทาง “ทักษิณ ชินวัตร” เข้าสู่วงการเมือง ท่ามกลางเสียงคัดค้านว่าเขา “ขาดคุณสมบัติ” เพราะมีหุ้นในกิจการสัมปทานกับรัฐ

“ดร.วิษณุ” เล่าด้วยว่า “รวมทั้งข่าวว่าคุณทักษิณมีส่วนพัวพันกับการพยายามยึดอำนาจในกัมพูชา สำหรับกรณีหลังนั้นไม่ใช่เรื่องของคุณสมบัติ แต่เป็นเรื่องความเหมาะสมที่นายกรัฐมนตรีจะต้องพิจารณาเอง”

“ผมหาข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศและสภาความมั่นคงแห่งชาติ ส่งให้นายกฯ ชวน ประกอบการพิจารณา แต่กรณีแรกนั้นเป็นเรื่องคุณสมบัติโดยตรง จากการตรวจสอบในทางลับโดยใช้กระบวนการหลายอย่างเช่น ตรวจสอบกับทางกระทรวงพาณิชย์ตลาดหลักทรัพย์ บริษัทที่เกี่ยวข้อง ไม่ปรากฏว่าคุณทักษิณขาดคุณสมบัติ”

“ดร.วิษณุ” จึงรายงานนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านก็อนุญาตให้นำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งได้

แต่กระบวนการในเวลานั้น “ล่าช้า” จน “ทักษิณ” รอไม่ไหว

“คนสนิทคนหนึ่งของคุณทักษิณ โทร.มาตามให้ผมไปอธิบายให้คุณทักษิณฟังที่บ้าน ผมตอบปฏิเสธว่า ไม่ใช่หน้าที่ที่จะต้องวิ่งไปเที่ยวอธิบาย เพราะคุณทักษิณยังไม่ได้มีสถานะอะไร รัฐมนตรีก็ยังไม่ได้เป็น แต่ขอโทร.ไปเรียนให้พลตรีจำลอง ศรีเมือง ทราบแทน ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังธรรม”

เมื่อ “ไทยรักไทย” ชนะเลือกตั้ง 2544 “วิษณุ” ก็ล่มหัวจมท้ายกับ “ทักษิณ” ต่อเนื่อง 2 สมัย และลาออกก่อนรัฐประหาร 2549

“คุณหญิงพจมาน” คนที่ “ดร.วิษณุ” ประทับใจ

บุคคลที่ “ดร.วิษณุ” ประทับใจในเทือกแถว “ชินวัตร” ตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้ายที่ได้ร่วมงาน 2 สมัย คือ “คุณหญิงพจมาน ชินวัตร” (นามสกุลในขณะนั้น)

“คนที่น่าประทับใจคนหนึ่งคือคุณหญิงพจมาน ผมได้เห็นการวางตัวที่ดี ไม่พูดเรื่องการเมืองเลย แต่โอภาปราศรัยกับแขกอย่างอ่อนโยน เป็นกันเอง แสดงความเอาใจใส่ในสารทุกข์สุกดิบ เมื่อรู้ว่าภริยาของผมป่วยเป็นโรคไตต้องเข้ารับการผ่าตัด ก็กุลีกุจอปวารณาตัวว่าจะฝากฝังหมอที่โรงพยาบาลของท่านให้ เอาใจใส่ดูแลแม้แต่อาหารการกิน การเดินการเหิน จนภริยาผมบอกว่าทีหลังอย่ามาชวนไปอีก เพราะเกรงใจคุณหญิงเหลือกำลัง”

“วันหนึ่ง ในราวเดือนสิงหาคม 2545 ผู้ใหญ่ที่ผมคุ้นเคยและเคารพนับถือคนหนึ่ง คือ คุณชัชวาล อภิบาลศรี และเพื่อนเรียน วปอ. รุ่น 39 รุ่นเดียวกับผมอีกคนชื่อ คุณบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นญาติกับคุณหญิงพจมาน ได้ชวนผมไปรับประทานอาหารเที่ยงที่ร้านอาหาร ส.บ.ล. วังบูรพา”

“ผมได้ปรารภจุดแข็ง-จุดอ่อนของนายกฯ ทักษิณ ให้คุณบรรณพจน์ฟัง ตามประสาคนรู้จักกัน และวิตกว่า “คุณทักษิณหลังคดีซุกหุ้นไม่เหมือนกับเมื่อก่อน เพราะท่านมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น เหมือนคนไม่มีอะไรมายื้อยุดฉุดยั้งอีกแล้ว จึงอาจระมัดระวังน้อยลง ฟังคนน้อยลงเหมือนอั้นมานาน และให้ความสำคัญแก่เป้าหมายปลายทางมากกว่าวิธีการจนอาจพลาดได้ง่าย”

“เช่น มักคิดว่าถ้าเจตนาดีจะช่วยคนจน จะปราบยาเสพติด จะทำให้ประเทศเจริญแล้ว วิธีการอะไรก็ช่างมัน ไหนจะมีเงิน ไหนจะมีสติปัญญา ไหนจะมีพวกพ้องเสียงเชียร์มาก ไหนจะมีเสียงในสภาท่วมท้น ไหนจะหมดชนักปักหลัง”

“คนอย่างนี้ผมเห็นมามากแล้ว ว่าจะคึกคะนอง ดุจอินทรชิตที่ได้ฤทธิ์จากพระเป็นเจ้า จนบิดเบือนกายินทร์ เหมือนองค์อมรินทร์ทรงคชเอราวัณได้”

“ข้อสำคัญคือ เกรงว่ารูปโฉมประเทศไทยจากนี้ไป จะเป็นรัฐตำรวจ มากกว่านิติรัฐ”

3 วันถัดจากนั้น “ดร.วิษณุ” นั่งอยู่ในบ้านจันทร์ส่องหล้า บนโต๊ะอาหารที่มี บรรณพจน์ ดามาพงศ์ และคุณหญิงพจมาน ข้อความที่ “ดร.วิษณุ” บรรยายพฤติกรรมของทักษิณ ถูก “บรรณพจน์” รายงานต่อ “คุณหญิงพจมาน”

“คุณหญิงให้ผมวิจารณ์รัฐบาลให้ฟังอีกหนว่า ใครเป็นอย่างไร นายกฯทักษิณ เป็นอย่างไร ปัญหาในการทำงานมีอะไรบ้าง ที่ว่าไม่ค่อยฟังใครเช่นเรื่องอะไร ถ้าไม่ฟังแล้วจะเกิดอะไรขึ้น คณะที่ปรึกษาสิบคนที่ผมเสนอแนะนั้นผมรู้จักไหม ไว้ใจได้ไหม คุณหญิงถามอย่างคนไม่รู้ โดยไม่เสริมหรือออกความเห็นเสียเองแม้แต่ประโยคเดียว”

นี่คือตำนานส่วนหนึ่ง ของ “ดร.วิษณุ” กับความเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วง 28 ปีที่ผ่านมา