อินไซด์ “พ่อบ้านภูมิธรรม” ไม่ได้ไปต่อ “ชินวัตร” ไฟเขียว “สุดารัตน์” กุมบังเหียนเพื่อไทย

ปิดฉาก 6 ปีกว่าที่ “ภูมิธรรม เวชยชัย” สวมบทเป็น “พ่อบ้าน” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย

หลังทำหน้าที่อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ 24 ม.ค. 2556 เขาเป็นเลขาธิการพรรคคนที่ 5 ต่อจากโอฬาร กิจเลิศไพโรจน์-สุนีย์ เหลืองวิจิตร-สุพล ฟองงาม-จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ

“ภูมิธรรม” แถลงข่าวในวันที่ลงจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า

“เป็นเลขาธิการพรรคที่อยู่ในตำแหน่งมายาวนาน คงถึงเวลาที่พรรคจะต้องหาบุคลากรมาทำหน้าที่ตรงนี้ต่อ ซึ่งเป็นเรื่องของคนรุ่นหลังที่จะขึ้นมาทำงานต่อไป แต่ตัวเองยังจะอยู่กับพรรค ช่วยงานพรรคต่อไปเพื่อให้พรรคเดินไปข้างหน้าได้ และนำประชาธิปไตยกลับคืนมา”

นับจากนี้ “ภูมิธรรม” เร้นกายไปช่วยงานหลังบ้านเพื่อไทยเป็นหลัก ท่ามกลางแรงกระเพื่อมที่มีไม่มากในเพื่อไทย แต่ทุกกลุ่ม ทุกขั้ว ต่างยอมรับว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นภายใน ทว่ากลบรอยร้าวได้ดีกว่า “พลังประชารัฐ” และ “ประชาธิปัตย์” เพียงเพราะเพื่อไทยยังขึ้นตรงกับ “นายใหญ่แดนไกล” เป็นผู้อนุมัติสูงสุด เมื่อทุกอย่างเคาะลงมา คนในเพื่อไทยต้องรับสภาพ

ข่าวการเปลี่ยนตัวเลขาฯ หลังจากเพื่อไทยต้องการผู้นำฝ่ายค้านในสภา โดยผู้นั้นจะต้องเป็น “หัวหน้าพรรค” และต้องเป็น ส.ส. ป้องกันการถูกร้องว่าไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ

เมื่อ “พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์” หัวหน้าพรรคขัดตาทัพ ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.ต้องลุกจากตำแหน่ง ทำให้กรรมการบริหารพรรค ต้องพ้นไปทั้งชุด

“สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” สายตรงคนแดนไกลอีกราย ที่เคยตั้งรกรากอยู่พรรคเพื่อธรรมในฐานะหัวหน้าพรรค อันเป็นพรรคสำรองกรณีเพื่อไทยถูกยุบ แต่เมื่อนายใหญ่สั่งตั้ง “ไทยรักษาชาติ” ตามแผนแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย เขาจึงยุติบทบาทในพรรคเพื่อธรรม กลับมาลงสนามเลือกตั้งเชียงใหม่ในนามเพื่อไทย กระทั่งเป็น ส.ส.ที่มีพรรษามากที่สุดในหมู่ ส.ส.ของเพื่อไทย

ชื่อของ “สมพงษ์” ไม่พลิกโผ-นอนมาตั้งแต่เป็นแคนดิเดตประธานสภาผู้แทนราษฎรในฝั่ง 7 พรรคฝ่ายค้าน แต่ตำแหน่งที่ดูเหมือนนิ่งแต่กลับไม่นิ่งคือตำแหน่งเลขาธิการพรรค

ชื่อ “น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” ส.ส.กทม. มือขวา “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” เจ้าแม่ กทม.ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เลือกตั้งของพรรค โผล่ชิงเก้าอี้ “หัวหน้าพรรค” แต่เมื่อเทียบพรรษาการเมือง บวกความเป็น “สายตรงแดนไกล”

น.อ.อนุดิษฐ์ โดยการผลักดันของ “คุณหญิงสุดารัตน์” ยังห่างชั้น จึงต้องถอยร่นมาเป็นผู้ท้าชิงเลขาธิการ

เรื่องเล่าจากวงสนทนา ส.ส.ที่ไม่ฝักใฝ่กลุ่มเจ้าแม่ กทม. ส.ส.ในพรรครู้กันในช่วงสายของวันอังคารที่ 2 ก.ค. แบบทันด่วนว่า “ภูมิธรรม” ลงจากเลขาฯ พรรคเปิดทางให้ “น.อ.อนุดิษฐ์” เป็นแทน

มีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่ “พล.ต.ท.วิโรจน์” ชะลอการลาออกจากหัวหน้าพรรคหลายครั้ง เป็นเพราะครอบครัวชินวัตรกำลังตกลงว่าจะเลือก “พ่อบ้าน” คนเดิมที่ไว้ใจกันมานาน หรือจะเปลี่ยนตัวเป็นคนใหม่ ซึ่งมีภาพไม่เก่า-ไม่ใหม่ อยู่ในรุ่นกลางเชื่อมกับคนรุ่นใหม่ในพรรค และสามารถคุยกับ ส.ส.รุ่นเก่าในพรรคได้

เข้าตำราทฤษฎี 2 โลกของ “คุณหญิงสุดารัตน์” คือ โลกใบแรกคือ ส.ส.ภูธร ไม่ชำนาญเทคโนโลยี ไม่ทันสมัย จึงต้องมีคนรุ่นใหม่ช่วยขันนอต ส่วนอีกโลกหนึ่งคือ ส.ส.กทม.และนักเลือกตั้งรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้าถึงนิวโหวตเตอร์ได้มากกว่า จึงนำมาสู่แผนที่จะขันนอต ส.ส.ด้วยโครงสร้างใหม่

ที่สุดแผนการผลักดัน “พ่อบ้านคนใหม่” ของเจ้าแม่ กทม.ก็สำเร็จ ได้รับการตีตั๋วจากนายหญิงแห่งบ้านจันทร์ส่องหล้า รวมถึง “พานทองแท้ ชินวัตร” ที่ร่วมหาเสียงด้วยกันหลายเวที

เท่ากับว่า “น.อ.อนุดิษฐ์” ที่เป็น “มือขวา” ของ “คุณหญิงสุดารัตน์” จะเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคอย่างเป็นทางการ หลังการประชุมวิสามัญใหญ่พรรค 12 ก.ค. ก็เปรียบเสมือนเจ้าแม่ กทม.เข้ามาคุมพรรคด้วยตนเอง

ส.ส.อีสานเพื่อไทย เทียบให้เห็นภาพขึ้นว่า ตระกูลชินวัตร ยกพรรคให้ “คุณหญิงสุดารัตน์” บริหาร ขณะที่ ส.ส.สายคุณหญิงสุดารัตน์ ยกมือเชียร์ “น.อ.อนุดิษฐ์” ว่า “ถ้าอยากรีโนเวตพรรคก็ต้องเปลี่ยนตัวเลขาฯใหม่ เป็น “น.อ.อนุดิษฐ์”

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “ภูมิธรรม” ขอยุติบทบาทการเป็น “พ่อบ้าน” เพราะย้อนกลับไป 13 ปีก่อน “ภูมิธรรม” เมื่อครั้งยังเป็นมือขวาสายเหยี่ยวของ “ทักษิณ” ในพรรคไทยรักไทย ก็เคยขอยุติบทบาทจากการเป็นรองเลขาธิการพรรค หลังรัฐบาลพรรคไทยรักไทยถูกยึดอำนาจ

แต่ในวันที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” น้องสาว “ทักษิณ” ขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้นำสูงสุด

“ภูมิธรรม” ปรากฏตัวอีกครั้ง พร้อมคนจากบ้านเลขที่ 111 ที่เริ่มออกมาช่วยงานพรรคเพื่อไทย โดยภูมิธรรม รับตำแหน่ง “ผู้อำนวยการพรรค” ก่อนที่ต่อมาจะนั่งเป็นเลขาฯ พรรค

“ภูมิธรรม” บอกตอนที่กลับมามีตำแหน่งพรรคเพื่อไทยอีกครั้งเมื่อปี 2555 ว่า “ไม่เคยทิ้งพรรคไปไหนไม่อย่างนั้นผมคงไม่ได้รับการต้อนรับจากพรรคเพื่อไทยอย่างนี้หรอก”

แล้ว “ภูมิธรรม” ที่อยู่โยงกับพรรคในตำแหน่งพ่อบ้าน 6 ปี แต่ต้องยอมลดบทบาทตัวเองไปอยู่หลังฉาก เพื่อไม่ให้รอยร้าวในพรรคบานปลาย