“อย่าน็อตหลุด” อยู่ครบ 4 ปีแน่ ส.ส.พลังประชารัฐ ฝากเตือน “บิ๊กตู่-ป้อม” ยิ้มรับซักฟอกนโยบาย

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 เตรียมแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาในวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ประกอบด้วย นโยบายหลัก 12 ด้าน นโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง

ทั้งนี้ ในการสัมมนา ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลที่นักการเมืองทุกกลุ่มในพรรคให้การยอมรับ และเตรียมเข้าสู่การเป็นสมาชิกพรรค ได้กล่าวกับ ส.ส.ไว้ว่า “ไม่ต้องกลัว รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ถ้าทุกคนร่วมมือกัน จะพยายามทำให้รัฐบาลอยู่ได้ถึง 4 ปี เรื่องการอภิปรายถึงตนเองนั้น ส.ส.ขอให้ใจเย็น อย่าน็อตหลุด ก็จะยิ้มอย่างเดียว ไม่ตอบโต้ และจะบอก พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยว่า ส.ส. น้องๆ เตือนมาฝากบอกว่าอย่าน็อตหลุด”

สำหรับนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน โดยลดข้อจำกัดในการประกอบอาชีพของคนไทย ทบทวนรูปแบบและมาตรฐานหาบเร่แผงลอยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อยังคงเอกลักษณ์ของเมืองหลวงแห่งร้านอาหารริมถนน แก้ไขปัญหาหนี้สินและลดภาระหนี้สินของประชาชนในกองทุนหมู่บ้าน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หนี้สินนอกระบบ การฉ้อโกงหลอกลวงประชาชน-ฉ้อโกงผ่านระบบออนไลน์

ปรับปรุงระบบภาษีและการให้สินเชื่อที่เอื้อให้ประชาชนสามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ปรับปรุงระบบที่ดินทำกินให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ จัดทำแนวทางการกำหนดสิทธิและการจัดการสิทธิในที่ดินของเกษตรกรที่เหมาะสม

ลดอุปสรรคในธุรกิจประมงพาณิชย์และประมงชายฝั่ง ประมงพื้นบ้าน โดยยังสอดคล้องกับมาตรฐานด้านการประมงขององค์กรระหว่างประเทศ

2.การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ปรับปรุงระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและเบี้ยยังชีพของประชาชน อาทิ ผู้สูงอายุและคนพิการที่มีรายได้น้อย ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส กลุ่มมารดาตั้งครรภ์ เด็กแรกเกิด และเด็กวัยเรียนที่ครอบครัวยากจน

เร่งรัดการพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ลดภาระการเดินทางไปสถานพยาบาล ลดความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ พัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ระบบการแพทย์ทางไกล ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย

3.มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเร่งกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว

4.การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม โดยจัดพื้นที่การเกษตรให้สอดคล้องกับระบบบริหารจัดการน้ำและคุณภาพของดินตาม Agri-Map กำหนดเป้าหมายรายได้เกษตรกร อาทิ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อยและข้าวโพด ด้วยการชดเชย การประกันรายได้ ส่งเสริมระบบประกันภัยสินค้าเกษตร ส่งเสริมเกษตรพันธสัญญา และศึกษารูปแบบระบบแบ่งปันกำไรสินค้าเกษตรที่เป็นธรรมให้แก่เกษตรกร รวมทั้งเร่งศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้กัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรในทางการแพทย์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์

5.การยกระดับศักยภาพของแรงงาน โดยยกระดับรายได้ค่าแรงแรกเข้าและกลไกการปรับอัตราค่าจ้างที่สอดคล้องกับสมรรถนะแรงงานควบคู่กับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานผ่านกลไกคณะกรรมการไตรภาคี

6.การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต ต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมายและวางรากฐานการพัฒนาภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เขตเศรษฐกิจพิเศษ เมืองอัจฉริยะ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย รวมทั้งวางรากฐานการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายในระบบ 5G

7.การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ใหม่ในระบบดิจิทัล ส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding)

8.การแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการประจำ 9.การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เร่งสร้างความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

10.การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน โดยมุ่งสู่ความเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ ปรับปรุงระบบการอนุมัติและอนุญาตของทางราชการที่สำคัญให้เป็นระบบดิจิทัลทั้งบุคคลและนิติบุคคล เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากเกินความจำเป็น ลดข้อจัดกัดด้านกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจและการดำรงชีวิจของประชาชน แก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ล้าสมัย และเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ

11.การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย และ 12.การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ