‘พรเพชร’ สวน กกต.เลือกตั้ง ไม่ใช่ ส.ค. 61แน่ คาดตามกรอบต้องเดือน พ.ย.-ธ.ค.

“พรเพชร” สวน กกต. ยัน ตามกรอบเวลา ลต.ได้ปลายปี 61 คาดช่วง พ.ย.-ธ.ค. แต่ไม่ใช่ ส.ค. 61 แน่ พร้อมพิจารณากม.ปฏิรูปทันทีที่คณะกรรมการฯเสนอมายัง สนช.

เมื่อวันที่ 7 กันยายน ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมปฏิรูปทั้ง 11 คณะได้ประชุมกันในช่วงบ่ายวันนี้(7 ก.ย.) แล้ว แต่ละคณะจะกลับไปพิจารณาเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปในแต่ละด้าน โดยต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามมาตรา 77 ก่อนเสนอกฎหมายแต่ละฉบับมายัง สนช. ซึ่งแต่ละคณะสามารถเสนอกฎหมายกี่ฉบับก็ได้ ส่วนสนช.จะหยิบยกกฎหมายฉบับใดขึ้นมาพิจารณาก่อนหลัง ขึ้นอยู่กับความสำคัญของเนื้อหาของกฎหมายนั้นๆ ซึ่งสนช.จะพิจารณาไปตามลำดับที่เสนอมา ส่วนจะเสร็จหรือไม่เสร็จขึ้นอยู่กับความสำคัญ ความยาว และความสมบูรณ์ของกฎหมายที่เสนอมา ถ้ากฎหมายมีข้อบกพร่องในเรื่องใดก็ช้า

เมื่อถามถึง ความคืบหน้าของการพิจารณากฎหมายลูก นายพรเพชร กล่าวว่า ยังคงเดินหน้าไปตามโรดแมปที่วางไว้ โดยสามารถพิจารณาไปแล้วมากกว่าครึ่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างพ.ร.บ.กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)ซึ่งทางคณะกรรมาธิการร่วม3 ฝ่ายได้พิจารณา 6 ประเด็นข้อโต้แย้งเกือบครบถ้วนหมดแล้ว บางประเด็นคณะกรรมการร่วมฯ ก็ยอมตามความเห็นของ กสม.ว่าถูกต้อง เช่นการให้มีกรรมการสรรหาจากภาคเอกชนเข้ามา คือต้องมีจะมีข้อยกเว้นไม่ได้ คาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ สนช.ได้เร็วๆนี้

เมื่อถามว่าหากกฎหมายลูกเสร็จสิ้น กรอบเวลาน่าจะเป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ระบุว่า อาจจะมีการเลือกตั้งในเดือนส.ค. 2561 นายพรเพชร กล่าวว่า ตนนับเวลาตามปกติ กรอบเวลาในการร่างกฎหมายลูกทุกกระบวนการ การเลือกตั้งจะไปไกลกว่าเดือนสิงหาคมเล็กน้อย คือน่าจะเป็นช่วงปลายปี 2561 ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึง ธันวาคม ซึ่งจะนับชัดเจนไม่ได้ แต่เป็นการประมาณการ เพราะกำหนดเวบาที่ชัดเจนคือกำหนดเวลาการพิจารณากฎหมายลูกของ สนช.ในวาระ 1-3 เวลา 60 วัน ตนมีเวลาไม่เกิน 5 วัน ส่งไปให้นายกฯ เพื่อทูลเกล้าฯ และนายกฯก็มีเวลา ซึ่งเวลาเหล่านี้ต้องเอามาคำนวณ ดังนั้นการกำหนดวันเลือกตั้งของ กกต. น่าจะเป็นการประมาณการโดยไม่ได้นับรายละเอียดในกรณีที่เกิดปัญหาข้อขัดแย้งหรือความเห็นตามในกฎหมาย

 


ที่มา มติชนออนไลน์