4 คดีร้อน ขึ้นเขียงศาลรัฐธรรมนูญ “ธนาธร-บิ๊กตู่” เข้าสู่ Dangerous Zone

พลันที่การเมืองเปิดเทอม หลังจากหยุดยาว 5 ปีเพราะเหตุรัฐประหาร

แต่ปรากฏว่า 4 เดือนจากเลือกตั้ง 24 มี.ค.ผ่านไป กลับมีแต่ความชุลมุน กว่าจะตั้งรัฐบาลได้ต้องใช้เวลากว่า 101 วัน

ทั้งฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน เปิดฉากตะลุมบอนกันฝุ่นตลบนอกสภา ต่างใช้ “ดาบ” ใน “รัฐธรรมนูญ” ฟาดฟัน แลกหมัดกันอย่างถึงพริกถึงขิง

เพียงแค่ 4 เดือนที่การเมืองเปิดเทอม คดีที่มีผลทำให้ “ผู้ถูกกล่าวหา” หมดอนาคตทางการเมืองหลั่งไหลเข้าไปให้ “ตุลาการ” 9 คน ตัดสินคดี

บัดนี้มีอย่างน้อย 4 คดีร้อนที่คนทั่วประเทศรอฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอย่างใจจดใจจ่อ

1.คดีถือหุ้นบริษัท วีลัค-มีเดียของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา โดย กกต.ขอให้พิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสี่ กรณีความปรากฏหรือมีเหตุอันควรสงสัยต่อ กกต.ว่า “ธนาธร” เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดอันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

และศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเมื่อ 23 พ.ค. พร้อมกับให้ “ธนาธร” หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย “ธนาธร” ได้ขอขยายเวลาชี้แจงออกไป 30 วัน และจะขอขยายเวลาออกไปเป็นครั้งที่ 2 แต่ศาลไม่อนุญาต ความเคลื่อนไหวล่าสุด ทีมทนายความส่งเอกสารครบ 8 ก.ค. จากนั้น 10 ก.ค. ในการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการพิจารณารับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา รวม 70 หน้า พร้อมกับให้ กกต.ในฐานะผู้ร้องเพื่อให้พิจารณาและชี้แจงกลับมาว่ามีข้อคัดค้านใดในคำชี้แจงของนายธนาธรหรือไม่ภายใน 15 วัน ซึ่งครบกำหนด 31 ก.ค.

2.กรณีที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถูก ส.ส.ฝ่ายค้าน 110 คน ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบคุณสมบัติการเป็นนายกฯ ผ่าน “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ให้ตำแหน่งนายกฯของ “พล.อ.ประยุทธ์” สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 85 (15) เพราะเหตุ “เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ” ตอนที่ยังเป็นหัวหน้า คสช.แล้วมาสมัครเป็นแคนดิเดตนายกฯให้พรรคพลังประชารัฐ ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเมื่อ 19 ก.ค. โดย “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องส่งคำชี้แจงภายใน 15 วัน จะตรงกับ 8 ส.ค.

หลักฐานที่ 110 ส.ส.ฝ่ายค้านแนบให้ศาลพิจารณา อธิบายตำแหน่งหัวหน้า คสช.ว่าได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย อีกทั้งยังมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มรับเป็นรายเดือน ทั้งเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 75,590 บาท และได้รับเงินเพิ่มเดือนละ 50,000 บาท รวม 125,590 บาทต่อเดือน พร้อมแนบสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2560 และศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 514/2559 คดีหมายเลขแดงที่ 7767/2559 ที่เคยวินิจฉัยคดีที่ บก.ลายจุด “สมบัติ บุญงามอนงค์” ยื่นฟ้องว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีอำนาจเรียกไปรายงานตัว ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่า “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นหัวหน้า คสช. มีอำนาจดำเนินการต่าง ๆ ตามกฎหมาย จึงเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจออกคำสั่งให้จำเลยมารายงานตัว

3.คือคดีนายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่า การกระทำของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และกรรมการบริหารพรรคเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้ ประเด็นที่ร้องคือ พฤติกรรมการกระทำของหัวหน้าและแกนนำพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่ ที่มีการเขียนในลักษณะไม่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเมื่อวันที่ 19 ก.ค. และให้ส่งชี้แจงภายใน 15 วัน ครบกำหนด 8 ส.ค.

4.คดีที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 32 คน ถูก ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ยื่นร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติการเป็น ส.ส. เนื่องจากถือหุ้นอยู่ในบริษัทสื่อ ซึ่งในตอนแรกมีการยื่นเรื่องไป 41 คน แต่ศาลคัดทิ้งเหลือ 32 ส.ส.ที่จะต้องพิจารณาคุณสมบัติ โดยศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเมื่อ 26 มิถุนายน และให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลทั้ง 32 คน ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับคำร้อง ซึ่งครบกำหนดตั้งแต่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนกรณีที่พรรคพลังประชารัฐยื่นต่อชวน หลีกภัย ประธานสภา เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ 33 ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ประกอบด้วยพรรคอนาคตใหม่ 21 คน พรรคเพื่อไทย 4 คน พรรคเพื่อชาติ 4 คน พรรคเสรีรวมไทย 3 คน พรรคประชาชาติ 1 คน ถือหุ้นในบริษัทที่จดทะเบียนประกอบกิจการสื่อนั้น ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีการพิจารณา

เลือกตั้งผ่านมา 4 เดือน ปาไป 4 คดีที่กำลังขึ้นเขียง อนาคตการเมืองของ “ธนาธร” และ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังอยู่ในสถานะ dangerous zone