อนุดิษฐ์ : พ่อบ้านเพื่อไทยยุคใหม่ ตัดวงจร-ปฏิบัติการจากนอกพรรค

สัมภาษณ์พิเศษ

ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

เพราะกติการัฐธรรมนูญที่บิดเบี้ยว ทำให้พรรคเพื่อไทยที่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสูงสุด 136 ที่นั่ง ในการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 แต่กลับพ่ายแพ้เป็นฝ่ายค้าน และเป็นฝ่ายค้านหลังการเลือกตั้งในรอบ 2 ทศวรรษเพื่อไทยต้องปรับโครงสร้างครั้งใหม่ และครั้งใหญ่ เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคจาก พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ มาเป็น “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ปรับกรรมการบริหารพรรครวม 29 คน มีเลขาธิการพรรคคนใหม่ชื่อ “น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” เป็น “พ่อบ้าน” คนที่ 6

และการขับเคลื่อนพรรคทั้งหมดอยู่ภายใต้ร่มคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ที่มี “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” นั่งเป็นประธานในฐานะ “แม่ทัพหญิง” แตกคณะยุทธศาสตร์ย่อยออกเป็น 6 คณะ ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และท้องถิ่น พาลูกพรรคจรยุทธ์ทั้งในสภา-นอกสภา ฉุดเรตติ้งพรรคเพื่อไทยให้คืนชีพ

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “น.อ.อนุดิษฐ์” ถึงการทำงานยุคใหม่ของเพื่อไทย ภายใต้การกำกับยุทธศาสตร์ของ “คุณหญิงสุดารัตน์” ในฐานะที่เขามีตำแหน่งทางการ คือ “เลขาฯพรรค” คนที่ 6 ส่วนตำแหน่งกึ่งทางการเป็นประหนึ่ง “มือขวา” ของ “คุณหญิงสุดารัตน์” วิธีบริหารความรู้สึกของ ส.ส.ที่มีทั้งชอบ ทั้งชัง ในตัวแม่ทัพหญิง และถามถึงความสำคัญของ “นายใหญ่ทักษิณ” ยังจำเป็นกับเพื่อไทยอยู่หรือไม่

พท.ในยุค “สุดารัตน์-อนุดิษฐ์”

“น.อ.อนุดิษฐ์” เริ่มต้นกล่าวว่า การขับเคลื่อนพรรคเพื่อไทย แบ่งการทำงานเพื่อตอบภารกิจของพรรค 2 ส่วน 1.กิจการสภา มุ่งเน้นให้ ส.ส. 130 กว่าคนทำหน้าที่ฝ่ายค้านตรวจสอบการทำงานฝ่ายรัฐบาล และการทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ 2.ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน ซึ่งเป็นการทำงานคู่ขนานทั้งในและนอกสภา

ผนวกคน 3 รุ่นขันนอตพรรค

“เพื่อไทยมีข้อได้เปรียบ เพราะคนของเพื่อไทยที่มีบุคลากรมีความรู้ความสามารถทั้ง 3 รุ่น ทั้งคนที่เป็นผู้อาวุโสมีประสบการณ์ ผ่านความสำเร็จ มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับ คนรุ่นกลางที่ทำงานอยู่เป็นนักบริหารมืออาชีพ ส่วนคนรุ่นใหม่ มีความรู้ความเข้าใจ เท่าทันเทคโนโลยี ผสมผสานจุดเด่น ลบจุดด้อยในการทำงานของคน 3 รุ่นได้เป็นอย่างดี ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการขันนอตการทำงานของพรรคเพื่อไทยไปในตัวอยู่แล้ว”

ปรับตัวแก้ Disrupt 

“ถ้าไม่ได้มีการปรับกระบวนการให้ทุกคนมีส่วนร่วม พรรคเพื่อไทยจะเสียโอกาส และในอนาคตเราก็ไม่รู้ว่าการเสียโอกาสดังกล่าวจะนำมาซึ่งข้อเสียและผลกระทบกับพรรคอย่างไร ในกรณีนี้เราปรับตัว ปรับเปลี่ยนในช่วงเวลาที่เหมาะสม เราสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“การปรับบริบทให้เข้ากับบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีเปลี่ยนไป ความรู้สึกของประชาชนที่เปลี่ยนไป ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง”

ทว่าสิ่งที่ตกตะกอนอยู่ในใจ ส.ส.เพื่อไทย การบริหารแบบ top down เมื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์กำหนดทิศทางการเมือง แล้ว ส.ส.ของพรรคต้องเดินตามจะเป็นแบบเก่าหรือไม่ “น.อ.
อนุดิษฐ์” ตอบว่า กระบวนการทำงานแบบใหม่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม พรรคจะเดินหน้าไปสู่การเป็นสถาบันที่มั่นคงมากขึ้น เพราะเราเปิดโอกาสให้คนทุกวัยมีส่วนร่วมในการทำงานและตัดสินใจร่วมกัน

คู่แข่งไม่น่ากลัวเท่าตัวเอง 

ในมุมของ “น.อ.อนุดิษฐ์” พรรคการเมืองที่เป็น “คู่แข่ง” ในสนามการเมือง ไม่น่ากลัวเท่ากับพรรคของตัวเอง
“ผมไม่ได้มองพรรคอื่นเป็นคู่แข่ง เพราะพรรคการเมืองจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ดังนั้น แทนที่จะกังวลกับเรื่องของพรรคอื่น เรามาให้ความสำคัญ ทุ่มเทกับการทำงานในพรรค”

“ส่วนจุดขายของเพื่อไทยต่อไปนี้จะต้องมาจากประชาชน ลงไปถามประชาชนว่าต้องการอะไร โดยเฉพาะคุณหญิงสุดารัตน์ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่า ต่อไปนี้สิ่งที่เป็นกระบวนทัศน์จะต้องเป็นสิ่งที่ประชาชนคิด เพื่อไทยทำ”

หญิงหน่อย-สมพงษ์ คือมันสมอง 

กับข้อกล่าวหาว่า “น.อ.อนุดิษฐ์” เป็นร่างทรงของ “คุณหญิงสุดารัตน์” เมื่อเป็นมารับตำแหน่งเลขาธิการพรรค เท่ากับคุณหญิงคุมพรรคเพื่อไทยแบบเบ็ดเสร็จ “น.อ.อนุดิษฐ์” แย้งว่า “เป็นเรื่องปกติที่นักการเมืองจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ถ้าพิจารณาจากข้อเท็จจริง ตอนที่ผมออกมาทำงานการเมืองร่วมกับไทยรักไทย คุณหญิงสุดารัตน์เป็นประธานภาค กทม. และผมเป็นสมาชิก กทม. ทำงานร่วมกับท่านมาโดยตลอด”

“สิ่งซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและสะท้อนความสำเร็จของการทำงานของคุณหญิง คือ การทำหน้าที่ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งที่ผ่านมา นำเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง มีจำนวน ส.ส.มากที่สุดในสภาเป็นเครื่องพิสูจน์”

บทบาทคุณหญิงสุดารัตน์ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ ถือว่าเป็นเบอร์ 1 ที่อิทธิพลมากกว่าหัวหน้าพรรคหรือไม่

“อนุดิษฐ์” ไม่คิดเช่นนั้น แต่มองว่าเป็นการทำงานร่วมกัน “หัวหน้าพรรคต้องถือว่าเป็นผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงกับภารกิจของพรรค ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ทำหน้าที่เป็นประธานยุทธศาสตร์เสมือนผู้ให้คำปรึกษาและกำหนดแนวทางในการทำงานของพรรค ดังนั้น ภาพที่เกิดขึ้นเป็นการผสมผสานความแข็งแกร่งของทั้งสองคนเข้าด้วยกัน เป็นทั้งมันสมองและเป็นทั้งกลไกขับเคลื่อนพรรคเพื่อไทยให้เดินหน้า”

ถาม “พ่อบ้านเพื่อไทย” ว่า พรรคต้องเดินตามที่คุณหญิงสุดารัตน์สั่งการหรือไม่ เขาตอบทันทีว่า “ไม่ใช่….วันนี้เพื่อไทยไม่มีใครสั่งการทั้งสิ้น การตัดสินใจที่เกิดขึ้นเป็นการตัดสินใจร่วมกันของคณะกรรมการ เราประชุมกันทุกครั้ง ระดมสมองกันเพื่อกำหนดว่าเรื่องนั้นจะทำอะไร เรื่องนี้จะทำอะไร”

ฉายข้อดีของสุดารัตน์

“น.อ.อนุดิษฐ์” มอง “ข้อดี” ของ “แม่ทัพสุดารัตน์” ว่า เป็นคนทำงานหนักมีความรู้ความสามารถ มีวิสัยทัศน์ เป็นคนที่มีความตั้งใจทำงาน และเป็นนักต่อสู้ประชาธิปไตยคนหนึ่ง แม้ว่ามีคนในพรรคทั้งชอบและไม่ชอบ “คุณหญิง” แต่เขามองว่าเป็นเรื่องปกติ “ต้องถามว่าในชีวิตเรามีคนชอบเราทั้งหมดหรือเปล่า…ก็คงไม่ใช่ และเหตุผลที่สำคัญกว่านั้นคือ มีความรู้ความสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยที่คนส่วนใหญ่มีความเข้าใจและยอมรับหรือเปล่า ซึ่งคุณสมบัติดี ๆ อย่างนี้ คุณหญิงมีพร้อม”

เมื่อถามว่าจะบริหารอารมณ์ ส.ส.ที่ชอบ ไม่ชอบคุณหญิงอย่างไร น.อ.อนุดิษฐ์ตอบว่า “ไม่เคยกังวล ถ้าจะมีเสียงบ่นใด ๆ เกิดจากการที่เราไม่ได้พูดจาคุยกัน แต่เมื่อเราปรับกระบวนการการทำงาน เปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วมที่จะเป็นผู้บริหารพรรคร่วมกัน สิ่งเหล่านี้พิสูจน์มาแล้วว่า ถ้าได้พูดจาหารือกันจะทำให้เราอยู่ด้วยกันได้อย่างราบรื่น”

“ทักษิณ” ยังเป็นภาพจำที่ดี

ขณะเดียวกัน ภาพจำของ “เพื่อไทย” คือ “ทักษิณ” เมื่อพรรคเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคใหม่ จำเป็นต้องมีภาพจำคุณทักษิณอยู่หรือไม่ น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า “ภาพจำของท่านทักษิณ เป็นภาพจดจำซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของแต่ละคน เพราะนายกฯทักษิณเป็นผู้ก่อกำเนิดพรรคไทยรักไทย จะปฏิเสธว่าท่านนายกฯทักษิณไม่ได้มีความเกี่ยวข้องเลยก็ไม่ใช่ เพราะเคยเป็นผู้นำของพรรคไทยรักไทย และมีความสำเร็จด้านบริหาร ทำให้ประชาชนคนจนของประเทศรู้สึกผูกพัน ชื่นชมความรู้ความสามารถ เป็นภาพจำที่ดี”

ภาพรวมการอภิปราย 

สำหรับศึกแรกในฐานะฝ่ายค้าน คือ ศึกแถลงนโยบายรัฐบาลประยุทธ์ 2/1 “น.อ.อนุดิษฐ์” ประเมินผลงานฝ่ายค้านว่า อภิปรายที่เข้าเป้า โดยมุ่งเน้น 2 ประเด็นหลัก 1.เนื้อหาสาระของตัวนโยบาย เศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง สังคม การศึกษา และกระจายอำนาจ ซึ่งเนื้อหานโยบายที่บกพร่อง ไม่ครบถ้วน อาจทำไม่ได้จริง ฝ่ายค้านได้อภิปรายครบทุกประเด็น ส่วนคุณสมบัติของนายกฯ และรัฐมนตรี ฝ่ายค้านสามารถตั้งคำถามที่สังคมสงสัย ต่อรัฐมนตรีทั้งหลายได้ครบถ้วน”

“หลังการอภิปรายมีการสำรวจความพึงพอใจของประชาชน ทุกโพลฝ่ายค้านมีคะแนนเหนือฝ่ายรัฐบาล แสดงให้เห็นว่าฝ่ายค้านได้เตรียมตัว และมีการปรับเนื้อหาผู้อภิปรายได้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ดำเนินการไปในสภา ยึดเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเป็นหลัก ผลสำรวจได้สะท้อนข้อเท็จจริงว่ามีประชาชนไม่พอใจ และไม่ให้การแถลงนโยบายของรัฐบาลสอบผ่าน”

“ส่วนการเดินหน้าไปถึงอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าฝ่ายบริหารดำเนินการไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ แต่เพื่อไทยต้องเปิดโอกาสให้รัฐบาลทำงานก่อน”