ประยุทธ์ ลุยชายแดนใต้ ปลูกธุรกิจ จับมือประชารัฐ สานต่อสามเหลี่ยมมั่งคั่ง-มั่นคง

การลง “พื้นที่สีแดง” 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม “ครั้งแรก” ในสมัยที่ 2 แตกต่าง-เปลี่ยนแปลงจาก “สมัยแรก”

อย่างน้อย ๆ ก็มีรัฐมนตรีรอบตัว-ติดสอยห้อยตาม “พล.อ.ประยุทธ์” ที่เป็น “นักการเมือง-เจ้าของพื้นที่ปักษ์ใต้ลงพื้นที่ร่วมคณะตรวจราชการในจังหวัดยะลา 

อาทิ นายณัฏฐพล ทีปสุววรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบัน” แห่งพรรคประชาธิปัตย์

ประกบ พี่-น้อง ที่มองตาก็รู้ใจ อย่าง พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ “ภาคแรก” ใช้กลไก “ประชารัฐ” ภายใต้โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เป็น “ส่วนล่วงหน้า” ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

การลงพื้นที่ จ.ยะลา ในวันนี้ ( 7 ส.ค.) “พล.อ.ประยุทธ์” ล่องใต้-ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น-พระอาทิตย์ตก ตลอดทั้งวัน

ในช่วงเช้า

1.เป็นประธานเปิดอาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนใต้ พร้อมมอบเงินค่าตอบแทนการทำงานของผู้นำศาสนาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้แก่ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจาก 5 จังหวัด (จังหวัดสตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และจังหวัดนราธิวาส)  และมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้แทนของกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่

2.มอบบัตรส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้กับบริษัทที่มีความประสงค์จะลงทุนในพื้นที่หนองจิก จังหวัดปัตตานี และมอบหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน (โฉนดที่ดิน) ให้กับผู้นำศาสนาและผู้แทนประชาชนทั้งในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลา และร่วมพบปะและพูดคุยกับประชาชน และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เกี่ยวกับการทำงานในพื้นที่

3.เป็นประธานเปิดศูนย์ประสานงานและบริการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ (OSOS) และศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งเยี่ยมชมศูนย์ประสานงานด้านกิจการเด็กและสตรี และพบปะนักเรียน นักศึกษาที่ได้รับทุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในพื้นที่จังหวัดยะลา

ในช่วงบ่าย

1.ตรวจเยี่ยมโครงการทุเรียนคุณภาพและการบริหารจัดการทุเรียนคุณภาพของเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ณ ตลาดกลางยางพารา โดยนายกรัฐมนตรีจะได้มอบใบรับรองแหล่งผลิตพืช (Good Agricultural Practice  : GAP แก่ผู้แทนเกษตรกร  พร้อมมอบรางวัลในการประกวดทุเรียนพื้นบ้านและอาหารจากทุเรียนพื้นบ้านจังหวัดยะลา ประจำปี 2562 รวมทั้งร่วมพูดคุยกับกลุ่มเกษตรกรก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร

นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา-พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวรายงานสรุปการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า มีการดำเนินการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการพัฒนาในหลายมิติ ส่งให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เกิดการจ้างงาน เพิ่มรายได้แก่ครัวเรือน เปลี่ยนสวนยางเป็นฟาร์มสวนยางครบวงจร พัฒนาการท่องเที่ยว และเกิดการเชื่อมโยงทางการคมนาคมกับประเทศ IMT-GT โดยมีโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่

1. อำเภอ หนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร” โดยมีโรงงานแปรรูปทุเรียน ยางพารา มะพร้าว การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์แบบปลอดสารเคมี ซึ่งก่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่า สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่

  1. อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เป็น “เมืองต้นแบบการค้าขายชายแดนระหว่างประเทศ” มีการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมไปมาเลเซีย และสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก 2 แห่งเพื่อเชื่อมโยงไปยังภูมิภาค IMT-GT
  2. อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็น “เมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน” มีการดำเนินโครงการ Amazing Betong การก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง จุดชมวิว Skywalk ที่อัยเยอร์เวง เพิ่มมูลค่าด้านการท่องเที่ยว ทั้งนี้ โครงการฯ ได้ส่งผลดีต่อภาพรวมการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 จังหวัด+ 1 คือจังหวัดสงขลา ซึ่งจะมีการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา ให้เป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต”

ทั้งนี้ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้มอบค่าตอบแทนการทำงานของผู้นำศาสนาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้กับประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจาก 5 จังหวัด มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมอบบัตรส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้กับบริษัท Supreb Creation Furniture Limited (Hong Kong based company) ที่มีความประสงค์ที่จะลงทุนในพื้นที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อขยายฐานการผลิตเฟอร์นิเจอร์ในกลุ่มประเทศ AEC

รวมทั้งมอบหนังสือขอบคุณแก่ 5 บริษัทที่มีความตั้งใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายเเดนภาคใต้ ได้เเก่ 1) บริษัท Supreb Creation Furniture Limited (Hong Kong based company)  2) บริษัท ดีลลักส์ จำกัด 3) บริษัท หนองจิกพัฒนา จำกัด 4) บริษัทม่าน กู่ หวาง ฟู๊ด จำกัด  5) บริษัท ฟรอนท์ อินเตอร์ วู๊ด จำกัด   จากนั้นมอบหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน (โฉนดที่ดิน) ในจังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลาให้กับประชาชน พร้อมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ให้กำลังใจกับประชาชนที่ได้รับโฉนดที่ดินในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส

“รัฐบาลมีความห่วงใยชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนทุกเชื้อชาติ ศาสนา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นเดียวกับพี่น้องในภูมิภาคอื่น ๆ จังหวัดยะลา เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญกับการพัฒนาประเทศ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในด้านทรัพยากรธรรมชาติ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และยังเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อกับอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนล่าง ไม่ว่าจะเป็นประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศบรูไน ซึ่งมีอัตลักษณ์ร่วมกัน ทุกคนเป็นคนไทยที่อยู่ด้วยกันด้วยความสงบเรียบร้อย ดำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ที่ผ่านมารัฐบาลได้มุ่งมั่นพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายเรื่อง ในด้านความมั่นคง มีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าเป็นหน่วยงานหลัก ในด้านการพัฒนาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่บูรณาการความร่วมมือตามแนวทางประชารัฐ โดยได้เร่งรัดการพัฒนาที่สำคัญหลายเรื่อง เช่น โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งนำร่องการพัฒนาที่สอดรับกับศักยภาพของพื้นที่ อาทิ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งจะมีการเปิดใช้สนามบินนานาชาติในพื้นที่ในกลางปี 2563 นี้ จะเน้นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เช่น สกายวอร์ค โดยขอขอบคุณภาคเอกชน ในความมุ่งมั่นตั้งใจเข้ามาร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องคิดร่วมกัน ว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกอย่างไรให้เกิดการบริการแบบเบ็ดเสร็จ ลดความซ้ำซ้อน

สำหรับการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ประชาชน จะต้องสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ให้คนอยู่ร่วมกับป่า ในรูปแบบป่าชุมชน เกษตรกรและประชาชนที่ไม่มีสิทธิที่ดินทำกิน ต้องมีอาชีพและรายได้จากการทำเกษตรกรรมบนที่ดินที่รัฐจัดสรรให้นอกจากนี้ รัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขปัญหาอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การแก้ไขปัญหาประมงพาณิชย์ รวมถึงการเร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคจากการค้าชายแดน การบริหารจัดการไฟฟ้าอย่างเป็นระบบและครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้ง จะจัดตั้งศูนย์รับซื้อผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อรวบรวมเศษวัสดุเหลือใช้จากการทำเกษตรกรรมนำไปใช้ประโยชน์สูงสุด เพื่อส่งไปยังโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็กรอบพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าชุมชนนี้ จะเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าของและร่วมกันบริหารจัดการ เพื่อกระจายรายได้ไปสู่มือ ประชาชนให้มากที่สุด”พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์สมัยที่ 2 ที่แถลงไว้ต่อรัฐภา

ข้อ 9 การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

โดยเร่งรัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยให้ความสําคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศทุกภูมิภาค ปราบปรามแหล่งผลิตและเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด ทั้งบริเวณชายแดนและพื้นที่ภายใน ฟื้นฟูดูแลรักษาผู้เสพผ่านกระบวนการทางสาธารณสุข สร้างโอกาส สร้างอาชีพ รายได้และการยอมรับของสังคมสําหรับผู้ที่ผ่านการฟื้นฟูและเร่งสร้างความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยน้อมนํายุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นหลักในการดําเนินการ ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งในด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เร่งรัดการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ รวมทั้งจัดสวัสดิการที่เหมาะสมสําหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ โดยให้เป็นการแก้ไขปัญหาภายในของประเทศด้วยกฎหมายไทยและหลักการสากล

“พล.อ.ประยุทธ์” เดินตามยุทธศาสตร์ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ยุทธวิธีเศรษฐกิจ-ปากท้องนำการทหาร ท่ามกลางเสียงระเบิดกลางกรุง 9 จุด ดังกัมปนาทสะเทือนปลายด้ามขวาน

ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th