“ขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” จากต้นแบบเผด็จการ “สฤษดิ์” ถึงพล.อ.ประยุทธ์ กรณีถวายสัตย์

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นับเป็นต้นแบบสมัยผู้นำเผด็จการ ในยุคหลังเลือกตั้ง 15 ธ.ค. 2500 เขาขึ้นกุมบังเหียนหัวหน้าพรรค “ชาติสังคม” พร้อมดึงพรรค-พวก เข้าสังกัดฝ่ายตัวเอง พร้อมสร้างเครือข่ายนักการเมืองไว้จำนวนหนึ่ง

เมื่อเขารัฐประหารยึดอำนาจจาก พลเอก ถนอม กิตติขจร (ยศในขณะนั้น) จอมพลสฤษดิ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยรูปแบบการบริหารที่ทำเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด

เขาบริหารประเทศด้วยการประกาศว่า “ข้าพเจ้าขอรับผิดแต่ผู้เดียว” ต้นแบบฉบับผู้นำที่ ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติบริหารและตุลาการ และดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ คุมอำนาจเบ็ดเสร็จตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502

ในยุคที่จอมพลสฤษดิ์ บรรดาพ่อค้านายทุนไม่มีใครกล้ากักตุนหรือขึ้นราคาสินค้า เพราะกลัวมาตรการขั้นเด็ดขาด ซึ่งไม่ถูกจำคุกก็อาจถึงขั้นประหารชีวิต

เป็นยุคที่มีการประกาศใช้แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2504 – 2509 ออกกฎหมายเลิกการเสพ และจำหน่ายฝิ่นโดยเด็ดขาด ออกกฎหมายปราบปรามพวกนักเลงอันธพาล กฎหมายปราบปรามการค้าประเวณี

ครั้งหนึ่งเมื่อเกิด “เพลิงไหม้” ที่จอมพลสฤษดิ์ ไปถึงที่เกิดเหตุและดำเนินการสั่งการอย่างเด็ดขาด และการลงโทษอย่างรุนแรง เช่น การสั่งประหารชีวิตผู้ลอบวางเพลิง โดยใช้ ม.17 พร้อมประกาศ “ข้าพเจ้ารับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”

และมีเนื้อหาช่วงหนึ่งในสารของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงประชาชนชาวไทย เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2501 ระบุว่า

“ข้าพเจ้าจึงตกลงใจว่าจําเป็นต้องปฏิบัติการ โดยเร่งด่วนและเฉียบขาด เฉพาะอย่างยิ่งในกรณีเพลิงไหม้ โดยไม่คํานึงถึงสิ่งใดอื่นแม้แต่ ตัวข้าพเจ้าเอง ฉะนั้น ข้าพเจ้าจําเป็นจะต้องปฏิบัติการอย่างเด็ดขาด การใดจะผิดถูกหรือไม่ ข้าพเจ้ารับผิดแต่ผู้เดียว โดยจะต้องปฏิบัติการไปตามแนวนโยบายซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าถูกที่สุด เพื่อความผาสุก ของพี่น้องทั้งหลายร่วมกัน ขอได้โปรดกรุณารับทราบตามนี้ไว้ด้วย”

ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังเป็นผู้รื้อฟื้นกิจกรรมที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น จัดงานเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพ การสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ การประดับไฟบนถนนราชดำเนินในวันเฉลิมพระชนมพรรษา

จอมพลสฤษดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 เป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวที่เสียชีวิตลงในขณะที่ดำรงตำแหน่ง

รวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 4 ปี 9 เดือน 28 วัน

60 ปีต่อมา คำว่า “ขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” ถูกกล่าวอีกครั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เขาประกาศ “ขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” กรณีนำคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 62 ในการประชุมชี้แจงและมอบนโยบายต่อผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการทั่วประเทศ หลังแถลงนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตั้งแต่ตอนต้นของการให้นโยบายกว่า 30 นาที ตอนหนึ่งว่า…

“เรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญ ผมขอเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว นั่นคือเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมเป็นห่วงกังวลอยู่อย่างเดียวว่าจะทำอย่างไรถึงจะทำงานได้ ก็ขอให้ทุกคนได้ทำงานต่อไป เพราะอย่างไรก็ตามก็ต้องไปศึกษาในรัฐธรรมนูญดูว่าเขียนว่าอย่างไร อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีรัฐบาลอยู่ และต้องขอโทษบรรดารัฐมนตรีด้วย เพราะผมถือว่าผมได้ทำเต็มที่แล้ว”

ก่อนหน้านั้น 2 วัน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเรื่องถวายสัตย์ ว่า “เรื่องของการถวายสัตย์ ผมก็พยายามจะแก้ปัญหาอยู่ในเรื่องนี้ แต่ก็ยืนยันว่าผมก็ทำครบถ้วน แต่ก็คงต้องว่ากันต่อไปนะครับ”


ก่อนหน้านั้น 3 วันเขากล่าวไว้ว่า “ทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกประการในการถวายสัตย์ต่อหน้าพระมหากษัตริย์ ซึ่ง ณ ตรงนั้นก็เสร็จไปแล้วว่าจะต้องทำอะไรในการดูแลประชาชน ข้อความต่าง ๆ ที่พูดไปแล้วถือว่าครอบคลุมทั้งหมด และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญในการดูแลพี่น้องประชาชนคนไทย ที่สำคัญที่สุดเป็นไปตามพระปฐมบรมราชโองการ ซึ่งพระองค์ท่านรับสั่งมาให้ทำงานเพื่อประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งตรงกับรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าทำเพื่อประชาชนและเพื่อประเทศ” และ “ผมคิดว่าเรื่องนี้ควรจบดีกว่า อย่าให้บานปลาย หลายคนในนั้นก็เป็นทหาร ขอร้องว่าเคยเป็นพี่น้องกันมา อย่าให้การเมืองมาทำให้ประเทศชาติปั่นป่วนไปทั้งหมด ถ้าจะดีหรือไม่ดีอย่างไร ก็ให้รอเลือกตั้งคราวหน้าก็แล้วกัน”