นปช.โล่ง ศาลยกฟ้องคดีก่อการร้าย “บิ๊กตู่” เหน็บ “พอรอดไม่เห็นบอกว่าศาลยุติธรรม”

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก่อการร้าย หมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อายุ 71 ปี อดีตประธาน นปช., นายจตุพร หรือตู่ พรหมพันธุ์ อายุ 54 ปี ประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ หรือเต้น ใสยเกื้อ อายุ 44 ปี เลขาธิการ นปช., นพ.เหวง โตจิราการ อายุ 68 ปี, นายก่อแก้ว พิกุลทอง อายุ 54 ปี, นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก อายุ 61 ปี, นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อายุ 55 ปี แกนนำและแนวร่วม นปช.รวม 24 คน เป็นจำเลยที่ 1- 24

ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1, 135/2 ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา ให้ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามมาตรา 116, 215, 216 และร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 รวม 6 ข้อหา กรณีพวกจำเลยได้ยุยงปลุกปั่นประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 20 พ.ค. 2553 เพื่อกดดัน ต่อต้านรัฐบาล และบังคับขู่เข็ญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ประกาศยุบสภา ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสื่อแล้วเห็นว่าการกระทำอันเป็นความผิดก่อการร้ายจะต้องเป็นการกระทำอันเข้าองค์ประกอบความผิดที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 135 / 1 ว(1)ถึง (3) คือต้องมีลักษณะเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกายหรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ กระทำการใดใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะระบบโทรคมนาคมหรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะกระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใดหรือบุคคลใดหรือต่อสิ่งแวดล้อมอันก่อให้เกิดหรือน่าจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ

ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวนั้นผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษโดยมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทยรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงหรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนแต่หากเป็นการกระทำในการเดินขบวนชุมนุมประท้วงโต้แย้งหรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือหรือให้ได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย

@ อัยการไม่เบิกความยืนยัน นปช.ทำผิด

จากพยานหลักฐานทางนำสืบของโจทก์ไม่มีพยานปากใดที่เข้ามาเบิกความยืนยันว่ามีจำเลยคนหนึ่งคนใดที่เป็นแกนนำกลุ่ม นปช. ได้ทำการปราศรัยหรือกระทำการอันเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ผู้ร่วมชุมนุมกระทำการดังที่ได้ระบุไว้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรามาตรา 135 / 1 วงเล็บ (1) ถึง (3) แม้โจทก์จะมีพยานเบิกความต่อศาลว่าระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นมากมายหลายแห่งตามข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายในคำฟ้อง แต่พยานโจทก์ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นการกระทำของบุคคลใดหรือเป็นการกระทำของฝ่ายใดและไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของแหล่งข่าวว่าเป็นจริงหรือไม่

และยังมีพยานโจทก์อีกหลายปากเบิกความต่อศาลว่าการชุมนุมของ นปช.เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมืองให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศเดือนพฤษภาคมแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ เหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมโดยเฉพาะเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 ก็ไม่มีพยานปากใดเบิกความยืนยันว่าเป็นการกระทำของกลุ่มนปช. การเดินทางไปที่รัฐสภาและสถานีดาวเทียมไทยคมก็เป็นการเดินทางไปเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีคำสั่งให้ต่อสัญญาณสถานีโทรทัศน์ช่องพีเพิล ชาเเนล ที่รัฐบาลมีคำสั่งให้ปิดหรือตัดสัญญาณไป

@ กังขาเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับชายชุดดำ

ก่อนหน้านั้นชายชุดดำก็ไม่ปรากฏว่าเป็นกองกำลังของฝ่ายใดและไม่สามารถจับกุมบุคคลใดมาดำเนินคดีได้ในขณะนั้นทั้งๆ ที่สถานที่ที่ปรากฏตัวชายชุดดำมีประชาชนอยู่ด้วยจำนวนมากจึงไม่น่าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะจับกุมดำเนินคดีไม่ได้ทันท่วงทีการที่แกนนำกลุ่ม นปช. ปราศรัยบนเวทีที่ว่าหากทหารออกมาสลายการชุมนุมหรือทำรัฐประหารให้ประชาชนนำน้ำมันและให้มีการเผานั้น เป็นการกล่าวปราศรัยบนเวทีก่อนวันที่จะมีการชุมนุมใหญ่หลายวันและไม่มีเหตุการณ์เผาทำลายทรัพย์สินตามที่มีการปราศรัยแต่อย่างใด

@ ไฟไหม้หลังยุติชุมนุม

การวางเพลิงเผาเกิดขึ้นช่วงบ่ายวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ภายหลังจากแกนนำกลุ่ม นปช. ประกาศยุติการชุมนุมแล้วซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยในเรื่องการวางเพลิงเผาทรัพย์ไว้เป็นที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8132 / 2561 ว่ามิใช่เป็นการกระทำของกลุ่ม นปช. การปราศรัยเรียกร้องให้ประชาชนทำการต่อต้านการทำรัฐประหารเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมที่สามารถจะทำได้ไม่ถือเป็นความผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด

@ เป็นสิทธิเรียกร้องทางการเมือง

การชุมนุมของกลุ่ม นปช. เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่เป็นการใช้สิทธิ์เรียกร้องทางการเมือง ซึ่งแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศแนวทางการต่อสู้มาโดยตลอดว่าเป็นการชุมนุมโดยสันติวิธีสงบและปราศจากอาวุธและปฏิเสธเข้ามาดำเนินการของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง กับพวกซึ่งมีแนวทางการต่อสู้คนละแนวกันตลอดมา การดำเนินการของ พล.ต.ขัตติยะ กับพวกจึงไม่ใช่เป็นการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม นปช. เพราะแกนนำ นปช. ประกาศจุดยืนมาโดยตลอดว่าเป็นการชุมนุมโดยสันติวิธีสงบปราศจากอาวุธการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากจึงอาจจะมีบุคคลผู้ไม่หวังดีแฝงตัวเข้ามาเพื่อสร้างสถานการณ์ให้เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นได้

การที่จำเลยที่ 7 (นายนิสิต สินธุไพร อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ดพรรคเพื่อไทย) กับพวกขัดขวางการลำเลียงกำลังพลของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และยึดเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ไปแสดงต่อสื่อมวลชนบริเวณเวทีปราศรัย และต่อมาเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องรับเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหลายเหล่านั้นกลับคืนไปหมดแล้ว การกระทำดังกล่าวมิได้ประสงค์เอาแก่ตัวซับเพื่อเอาเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ชอบจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันปล้นซับเหตุวางเพลิงเผาทรัพย์และทำลายทรัพย์สินของทางราชการ บริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าเกิดขึ้นภายหลังจากจำเลยที่ 7 นำเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ไปแสดงต่อสื่อมวลชนแล้วไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 7 เดินทางกลับไปอีกกรณีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 7 ร่วมกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ด้วย

@ คำฟ้องไม่มีขอลงโทษ

โจทก์ฟ้องคดีนี้รวม 5 สำนวนขอให้ลงโทษฐานก่อการร้าย และได้บรรยายฟ้องถึงลักษณะการกระทำความผิดต่างๆ เพื่อให้ครบองค์ประกอบความผิดและไม่ได้ขอให้ลงโทษในการกระทำความผิดลักษณะต่างๆ มาด้วยจึงถือว่าเหตุการณ์ต่างๆ ตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษเฉพาะจำเลยที่ 24 (นายอริสมันต์) ในความผิดต่างๆ อันเป็นองค์ประกอบความผิดมานั้นฟังได้ว่าเป็นการกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันกับคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 24 กับพวกต่อศาลจังหวัดพัทยากรณีพาพวกไปขัดขวางการประชุมผู้นำอาเซียนและศาลจังหวัดพัทยามีคำพิพากษาแล้ว คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 (4) แม้รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่ กทม.และปริมาณฑล และต่อมาศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.ได้ประกาศห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมในท้องที่ดังกล่าว การออกประกาศเช่นว่านั้นก็พอควบคุมสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ซึ่งได้ร่วมชุมนุมต่อเนื่องติดต่อกันมาหลายวัน แต่ภายหลังที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงแล้ว ไม่ได้ความจากพยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทก์ว่าแกนนำ แกนนำกลุ่ม นปช.ได้จัดการชุมนุมที่อื่นใดอีกนอกเหนือจากสถานที่ที่มีการชุมนุมอยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1-15 และ จำเลยที่ 18-24 จึงไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา พิพากษายกฟ้องแกนนำ นปช.ว่า เป็นเรื่องของศาล ไม่ใช่เรื่องของการเป็นมาตรฐาน แต่เป็นเรื่องที่ว่ากันตามวัตถุพยาน พยานบุคคล ที่สอดคล้องกัน ถ้าหากพยานหลักฐานไม่สมบูรณ์ การยกฟ้องก็เป็นเรื่องธรรมดา ที่อย่างนี้พอรอดไม่เห็นบอกว่าศาลยุติธรรมเลย และพอมีความผิดก็บอกว่าศาลไม่ยุติธรรม เป็นอย่างนี้ทุกที