ฝ่ายค้านเปิดสังเวียนแก้ รธน. ชิงมวลชนนอกสภา สู้ ส.ส.-ส.ว. 500 เสียง

เกมแก้รัฐธรรมนูญ 2560 กลายเป็นศึกประลองกำลังระหว่างฝ่ายรัฐบาล 18 พรรค กับ 7 พรรคฝ่ายค้าน เมื่อฝ่ายค้านกางโรดแมป 240 วัน แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ ผ่านการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ผิดจากฝ่ายรัฐบาล โดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยังเด้งเชือกหลบกระแสแก้รัฐธรรมนูญ ว่ายังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน และมีปัญหาปากท้องของประชาชนที่สำคัญกว่า ทั้งที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถูกบรรจุไว้เป็น “วาระเร่งด่วน” ในนโยบายประยุทธ์ 2/1 ที่จะต้องเริ่มต้นกระบวนการภายใน 1 ปี

แม้ว่าปมการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังเป็นแค่ประเด็นประทัดเปียกที่จุดไม่ติดของฝ่ายค้าน แต่พรรคเพื่อไทยวาง “โภคิน พลกุล” และ “วัฒนา เมืองสุข” เป็น “หัวหอก” รับผิดชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับพันธมิตรมีส่วนผสมสำคัญจาก “อนาคตใหม่” ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คือ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” ร่วมกำหนดจังหวะมวลชนโมเดลการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับฝ่ายค้าน ชูสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 200 คน มาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศ

จากนั้นตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 29 คน มาจาก สสร. 15 คน ส่วนอีก 14 คนจะมาจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ 5 คน รัฐประศาสนศาสตร์ 5 คน และผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 4 คน เมื่อยกร่างฯ เสร็จจะต้องส่งให้ สสร. 200 คนให้ความเห็นชอบ วางไทม์ไลน์ไว้ 240 วัน ภายใต้แคมเปญ “ทวงคืนอำนาจ การจัดทำรัฐธรรมนูญของประชาชน”

“วัฒนา เมืองสุข” ตัวแทนเพื่อไทย – ฝ่ายค้าน ฉายภาพว่า จากนี้ไป 7 พรรคเสนอชื่อตัวแทนคณะทำงานมาให้ตน จากนั้นจะนัดประชุม วางแผนทำงาน ว่าจะเดินสายรณรงค์อย่างไรให้ประชาชนเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นปัญหา

“จะต้องมีคนสนับสนุนมาก ทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชน ถ้ายื่นแก้ไขด้วยพรรคการเมืองจะไม่มีพลัง และไม่ผ่าน เพราะนายกฯส่งสัญญาณว่าไม่เร่งด่วน ไม่เอาด้วย”

“ส่วนระยะเวลารณรงค์ ต้องทำจนกระทั่งสังคมมีความพร้อม บอกไม่ได้ 3 เดือน 5 เดือน สถานการณ์จะบอกเอง เช่น องค์กรแรกที่ไปคุยด้วย คือองค์กรสื่อ ภาควิชาการ ขยายเครือข่ายต่อไปจนกระทั่งทุกคนมีความเห็นว่ามีความพร้อมแล้วค่อยไปยื่นแก้ไขในสภา เพราะถ้ายื่นโดยที่คนยังไม่เห็นด้วยก็ถูกตีตกตั้งแต่วาระแรก”

เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องถูกเขี่ยลูกมาจาก 1.คณะรัฐมนตรี 2.ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสภา หรือ ส.ส.และ ส.ว.รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของรัฐสภา 3.ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน ตามแผน 7 พรรคฝ่ายค้านเลือกชอยซ์ที่ 2 ด้วยการใช้ ส.ส. 100 คน (1 ใน 5) ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

“วัฒนา” บอกว่า ขั้นแรกในการ แก้รัฐธรรมนูญในสภา คือการเสนอขอยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม เพื่อเปิดประตูให้มีการแก้ไขให้ง่ายขึ้น เพื่อให้แก้ในสภาได้โดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภาในการลงมติ จากนั้นให้ตั้ง สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ กระนั้นเมื่อมวลชนนอกสภา เครือข่ายสังคม ภาควิชาการเห็นด้วย แต่มวลชนในสภาแข็งขืน โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาล+ส.ว.มากกว่า 500 เสียงไม่เอาด้วย การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไปรอดหรือไม่ ?

“วัฒนา” ตอบว่า รัฐบาลหรือ ส.ว. เขาคงดูอารมณ์ของประชาชนข้างนอก ถ้าคนในสังคมรู้สึกร่วมกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรแก้ไข หรือประชาชนควรมีทางเลือก เพราะเราเสนอว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 สิ้นผล แต่เราไปร่างขึ้นมาใหม่ ถ้าประชาชนไม่สนับสนุน รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ใช้บังคับตามเดิม ประชาชนไม่เสียหาย”

อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกาลก่อน ที่ “แนะนำ” รัฐบาลเพื่อไทย ควรทำประชามติถามประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญตัวจริงก่อนว่าจะยอมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับหรือไม่ เนื่องจากผ่านประชามติ ดังนั้น คำ “แนะนำ” ของศาลรัฐธรรมนูญจะตามมาขวางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่

“วัฒนา” ชี้ประเด็นว่า ตอนรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านประชามติแล้ว พล.อ.ประยุทธ์แก้ไปครั้งหนึ่งที่หมวดพระมหากษัตริย์ โดยไม่ต้องทำประชามติ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนั้นก็ไม่ได้นำมาใช้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ทำเป็นบรรทัดฐานแล้ว อีกทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนั้น เป็นแค่คำแนะนำ ไม่ใช่ตัวคำวินิจฉัยโดยตรง

“ถามว่าจะทำอย่างไร ก็ทำตาม พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไปแก้ครั้งหนึ่งมาแล้ว ไม่เห็นต้องประชามติ ถ้าตรงนั้นแก้ได้ ตรงนี้ก็แก้ได้ และของ 7 พรรคฝ่ายค้านแก้เสร็จแล้วจะทำประชามติอีกครั้ง”

ฟากรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่หือ-ไม่อือ กับปมแก้รัฐธรรมนูญ เพียงบอกว่า “ยังไม่ถึงเวลา”

“ต้องดูขั้นตอนวิธีการทางกฎหมาย ยังไม่ถึงเวลานั้น ตอนนี้ก็ปรึกษากันอยู่ ว่าจะทำตรงไหนกรอบไหนบ้าง”

ส่วนพรรคที่ “ชูธง” แก้รัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาล อย่าง “ประชาธิปัตย์” ท่าทีล่าสุดของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค โทนเสียงเริ่มคล้อยตาม พล.อ.ประยุทธ์…

“ในส่วนของรัฐบาลก็มีแนวความคิดเช่นนี้เหมือนกัน และถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เพียงแต่ต้องหารือในช่วงเวลาที่เหมาะสม และยังมองว่าปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขคือปัญหาปากท้อง ความยากจน และปัญหาเกษตรก่อน แต่ทั้ง 2 เรื่องสามารถทำควบคู่กันไปได้”

ขณะที่ “วราวุธ ศิลปอาชา” รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประธานกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา อดีตต้นตำรับรัฐธรรมนูญฉบับ “ธงเขียว” ชี้ว่า

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นมาด้วยการทำประชามติ คิดว่าก่อนที่จะตั้ง สสร.ขึ้นมา เราควรจะทำประชามติก่อนดีกว่า อยากฟังเสียงประชาชนก่อน”

ด้าน “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มุ่งหน้าเรื่องแก้ภัยแล้ง-กัญชาเสรี

เรื่องรัฐธรรมนูญไม่ใช่เป้าหมายหลักสถานการณ์เวลานี้ ฝ่ายค้านวางแผนใช้แนวร่วมนอกสภากดดัน สลับกับใช้ฤทธิ์เดชรัฐธรรมนูญ 2560 ทิ่มแทงกลับไปยังฝ่ายรัฐบาล ทั้งการขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ลงมติ ไล่บี้ปมถวายสัตย์ไม่ครบ-ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความคุณสมบัติ “พล.อ.ประยุทธ์”-แถลงนโยบายขัดรัฐธรรมนูญ อาจมีของแถมเรื่องไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติพ่วงเข้ามา

ขณะที่ขบวนประยุทธ์ 2/1 มี ส.ส.ร่วมรัฐบาล 254-255 เสียงประกอบกับจำนวนเสียง ส.ว. 250 คนที่แข็งแกร่งไม่แตกแถว การแก้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็นเกมประลองกำลังระยะยาว