อปท. 7,851 แห่ง คะแนนคุณธรรม-โปร่งใส สอบตก ป.ป.ช.ติง เรียกรับเงินใต้โต๊ะ-เลือกปฏิบัติ

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (20 ส.ค.) มีมติรับทราบและเห็นชอบการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และรายงานการศึกษาเพื่อจัดทำแผนพัฒนาคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ

โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อดำเนินการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 7,851 หน่วยงาน (ยกเว้นกรุงเทพมหานครซึ่งมีการประเมินและเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบแล้วเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562) ซึ่งจากผลการประเมินฯ สรุปได้ว่า ค่าคะแนนการประเมินฯ การดำเนินงานของ อปท. (ประกอบด้วย 10 ตัวชี้วัด) ได้ 61.11 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ (85 คะแนนขึ้นไป) โดยตัวชี้วัดคุณภาพการดำเนินงานมีระดับค่าคะแนนสูงสุด คือ 78.62 คะแนน ส่วนตัวชี้วัดการป้องกันการทุจริตมีระดับค่าคะแนนต่ำสุด คือ 35.99 คะแนน และได้จัดทำรายงานการศึกษาเพื่อจัดทำแผนพัฒนาคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งได้มีการรับฟังข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากอปท. พบว่า มีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานหลายประการโดยมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา เช่น

มีการให้บริการที่ไม่เท่าเทียม เสมอภาค และไม่สามารถตอบสนองต่อผู้รับบริการทุกกลุ่ม มีการเรียกรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินบน เพื่อแลกกับการอนุมัติ อนุญาต

อปท. ยังมีภาพลักษณ์ที่ไม่โปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ มีการถูกร้องเรียนว่าใช้งบประมาณไม่คุ้มค่าบิดเบือนไปจากวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้

อปท. มีรูปแบบหลากหลายและแตกต่างกัน เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล โดยมีการกำหนดหน้าที่และอำนาจซ้ำซ้อนกัน เช่น ถนน ถนนคนเดิน การจัดการแหล่งน้ำสาธารณะ ตลาด

การจัดสรรสัดส่วนรายได้ให้ อปท. ยังคงไม่บรรลุสัดส่วนที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ ร้อยละ 35 ของรายได้สุทธิของรัฐบาล (ปี 2561 สัดส่วนรายได้ อปท. ต่อรัฐบาล ร้อยละ 29.47)

วิธีการจัดสรรรายได้ถูกจำกัดด้วยข้อมูลและตัวแปรจะนำมาใช้ในการจัดสรรงบประมาณโดยการจัดสรรตามสูตรที่มีตัวแปรด้านประชากรและขนาดพื้นที่เป็นสำคัญ ซึ่งตัวแปรดังกล่าวไม่สามารถสะท้อนความต้องการงบประมาณที่แท้จริงในแต่ละพื้นที่