อัดฉีดเศรษฐกิจ 3 แสนล้าน แจกเงินใช้-เงินเที่ยว-Cash Back

แฟ้มภาพ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 สิงหาคม 2562 มีมติอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือน (ก.ย.-พ.ย.) ตามที่คณะกรรมการเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เห็นชอบ จำนวน 3 มาตรการ วงเงินรวม 316,813 ล้านบาท แบ่งออกเป็นงบฯกลาง 40,000 ล้านบาท วงเงินจากกองทุนประชารัฐ 20,000 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อ 207,000 ล้านบาท

มาตรการที่ 1 ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยประสบภัยแล้ง 13 จังหวัด จำนวน 909,040 ราย ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประกอบด้วย 1.ปรับลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.1 สำหรับหนี้เงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาทแรก ระยะเวลา 1 ปี (1 ส.ค. 62-31 ก.ค. 63)

2.สินเชื่อใหม่ ได้แก่ สินเชื่อฉุกเฉิน รายละไม่เกิน 50,000 บาท วงเงินสินเชื่อ 50,000 ล้านบาท ปลอดดอกเบี้ยปีแรก ปีต่อปี MRR ร้อยละ 7

3.สินเชื่อฟื้นฟูและซ่อมแซมความเสียหาย รายละไม่เกิน 500,000 บาท วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย MRR-2 (เท่ากับร้อยละ 5 ต่อปี)

4.ขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ ธ.ก.ส. 2 ปี นับจากงวดชำระเดิม แต่ไม่เกิน 31 ก.ค. 64

5.สนับสนุนต้นทุนการผลิตเพื่อปลูกข้าวนาปีปีการผลิต ’62/63 สนับสนุนเงิน 500 บาท/ไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ปี’62/63 ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม จำนวน 3 ล้านราย

มาตรการที่ 2 บรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ระยะเวลา 3 เดือน (ก.ย.-พ.ย.) ได้แก่

1.มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือ “ชิม ช็อป ใช้” ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.-30 พ.ย. 62 สำหรับผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 10 ล้านคนที่ลงทะเบียนการชำระผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (G-wallet) จำนวน 1,000 บาท/คน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในจังหวัดที่ไม่ใช่ถิ่นที่อยู่ตามบัตรประชาชน

สนับสนุนเงินชดเชย (cash back) สูงสุด 15% หรือไม่เกิน 4,500 บาท/คน จากยอดการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว สำหรับค่าอาหารและเครื่องดื่ม ซื้อสินค้าท้องถิ่นและค่าที่พัก รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท เข้าระบบ G-wallet

2.ต่ออายุยกเว้นการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (visa on arrival : VOA) จำนวน 18 ประเทศ ที่จะหมดอายุใน 31 ต.ค. 62 ไปจนถึงเดือน 30 เม.ย. 63

3.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ ผู้ประกอบการหักค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนซื้อเครื่องจักร 1.5 เท่า ในช่วง 1 ก.ย. 62 ถึง 31 พ.ค. 63

4.สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้แก่ 1.สินเชื่อผ่อนปรน ระยะเวลากู้ยาว 7 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 1 โดยการเติมเงินเข้ากองทุน สสว. วงเงิน 10,000 ล้านบาท

2.สินเชื่อพิเศษของสถาบันการเงินของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย วงเงินรวมทั้ง 2 ธนาคาร จำนวน 100,000 ล้านบาท

3.มาตรการค้ำกันสินเชื่อ บสย. วงเงิน 150,000 ล้านบาท เช่น ยกเว้นค่าธรรมเนียม 2 ปีแรก ชดเชยวงเงินหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ร้อยละ 30

4.สินเชื่อใหม่ดอกเบี้ยพิเศษเพื่อที่อยู่อาศัย วงเงินรวม 52,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็นธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) วงเงิน 27,000 ล้านบาท และธนาคารออมสิน วงเงิน 25,000 ล้านบาท

มาตรการที่ 3 ลดค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (on-top) ระยะเวลา 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.) ประกอบด้วย 1.เติมเงินเพิ่มผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) จำนวน 500 บาท/เดือน

โดยผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี ได้รับเงิน 300 บาท/เดือน ผู้มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ได้รับเงิน 200 บาท/เดือน

2.ช่วยเหลือผู้สูงอายุ 500 บาท/เดือน

3.ช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตร ภายใต้โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ได้รับเงิน 300 บาท/เดือน

2.พักชำระหนี้เงินต้นของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) ที่ต้องจ่ายคืนผ่าน ธ.ก.ส.และธนาคารออมสิน ระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้ กทบ.มีงบประมาณปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!