การทูตไทยบนทางแพร่งยุค “น้าชาติ” บ้านพิษณุโลก…Thing out of the box

ประเทศไทยบน “ทางแพร่ง” ของความเปลี่ยนแปลงจาก “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” สู่ “ประชาธิปไตยเต็มใบ” จากรัฐบาล “อานันท์ ปันยารชุน” สู่ รัฐบาลน้าชาติ-พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” ช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” หลังสิ้นสุดยุค “สงครามเย็น”

ในวาระ 70 ปี แห่งการสถาปนา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ วาระ 20 ปี แห่งการก่อตั้ง โครงการปริญญาโท สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภาคภาษาอังกฤษ (MIR)

จัดเสวนาวิชาการ ย้อนพินิจ : บ้านพิษณุโลก การทูตไทย ณ ทางแพร่งแห่งความเปลี่ยนแปลง จากนโยบายทางการทูตเชิงแข็งกร้าว สู่ นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า”

@ Thing out of the box

ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี-อดีต 7 ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก “เล่านิทาน” กาลครั้งหนึ่งเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ถึงเหตุการณ์สำคัญ 3 ครั้งแห่ง “ปฐมบท” และความท้าทายของ “ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก”

เหตุการณ์ที่ 1 พล.อ.ชาติชาย เป็นนายกรัฐมนตรี-รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หลังจากรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์-นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 8 ปี 5 เดือน ไม่มีโครงสร้างทางการเมือง-นักวิชาการในการกำหนดนโยบาย

“นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเพิ่งข้อมูลจากระบบราชการ ซึ่งผู้นำทางการเมืองรู้สึกไม่สะท้อนนโยบายที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”

“จึงเป็นสาเหตุให้อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ลูกชายพล.อ.ชาติชาย เห็นว่าน่าจะมี Body องค์กรมารองรับนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อให้พล.อ.ชาติชายหาไอเดียใหม่ ๆ เพราะท่านเป็นคนคิดนอกกรอบ Thing out of the box

เรา (ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษฯ) ไม่ได้เป็นคนหาไอเดีย ท่านนายก ฯ ชาติชายเป็นผู้หาไอเดีย แล้วท่านก็โยนความคิดนอกกรอบมาใส่คณะที่ปรึกษา ฯ เพื่อไปหาทฤษฎี คณะที่ปรึกษา ฯ ไม่ได้เห็นด้วยกันทุกครั้ง เราทะเลาะกันจนบ้านพิษณุโลกแทบพังหลายเรื่อง

เหตุการณ์ที่ 2 สงครามเย็นกำลังจะยุติ

“พล.อ.ชาติชายเคยถูกเนรเทศไปเป็นทูตหลายประเทศจึงเห็นแล้วว่า นโยบายที่ผ่านมาถึงจะไม่ได้ผิดแต่ก็อาจจะไม่ได้ถูก การที่เราสนับสนุนเขมร 3 ฝ่าย เป็นต้น เพราะต้องกาเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศเพื่อให้เกิดความสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”

เหตุการณ์ที่ 3 ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจและการค้า การตอบโต้ทางการค้า มติความสัมพันธ์กับสหรัฐ ฯ เป็นมติใหม่

เหตุผล 3 ข้อ ที่ใช้ “บ้านพิษณุโลก” เป็นที่ทำงานของ “คณะที่ปรึกษานโยบายนายกรัฐมนตรี” ข้อที่ 1 ไม่อยากให้มีที่ตั้งในมหาวิทยาลัย เพราะปัญหาที่ทำอาจไม่ตรงกับจุดยืนของมหาวิทยาลัย

ข้อที่ 2 ไม่อยากตั้งอยู่ในกระทรวง ทบวง กรม เพราะอาจมีความเห็นที่แตกต่างกับกระทรวง ทบวง กรม  และข้อที่ 3 ไม่อยากอยู่ในภาคเอกชน เพราะไม่อยากจะให้เห็นว่าเป็นตัวแทนของผลประโยชน์

“ศ.ดร.สุรเกียรติ์” พูดติดตลกถึงวีรกรรมในอดีตจนทำให้คนในยุคนั้นตั้งสมญานามว่า “บ้านพิษ” เพราะ “บางคนเรียกว่าบ้านพิษ เพราะพวกนี้พิษเยอะ”

จุดประสงค์ของการตั้งที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก คือ การรวบรวมความคิดเชิงวิชาการเพื่อประสานเครือข่ายภาคประชาสังคมและภาครัฐ เกิดเป็นไอเดียใหม่ขึ้นมาเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีในด้านเศรษฐกิจ ต่างประเทศ ความมั่นคงที่เกี่ยวกับด้านต่างประเทศ ต้องการเชื่อมภาควิชาการกับภาคปฏิบัติ

“ไม่ทำเกี่ยวกับการทหารและกองทัพเลย”

“ศ.ดร.สุรเกียรติ์” เล่าถึงความสไตล์การทำงาน-วิธีคิดของ “พล.อ.ชาติชาย” ครั้งหนึ่ง “บนโต๊ะอาหาร” ว่า “ท่านไม่ใช่ให้เราไปบรีฟงานในห้องประชุมอย่างเป็นทางการ ท่านชอบให้เราทานข้าวด้วยกันและคุยกับท่านว่าเรามีความคิดอะไรบ้าง”

นโยบายการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เป็นทางออกของประเทศต่าง ๆ ที่มีระบอบการปกครองที่แตกต่างกันให้สามารถพูดคุยกันได้ เพราะท่านเห็นแล้วว่า สงครามเย็นกำลังจะจบ เป็นโอกาสที่จะได้มาคุยกัน การเจรจากับเขมร 4 ฝ่าย จนนำไปสู่การลงนามข้อตกลงสันติภาพที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส เป็น Thing out of the box ของพล.อ.ชาติชาย

ขณะที่ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ “ท่านนายก ฯ ชาติชายบอกว่า พูดให้ดี ๆ แต่แตะไม่ถึง เป็นที่มาของการเชื่อมระหว่างทีมที่ปรึกษาบ้านพิษฯกับทำเนียบขาว ”

@ เศรษฐกิจยุค Gold business

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน-ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า คุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ได้และควรเรียนรู้จากทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก 3 ข้อ ได้แก่ ข้อที่ 1 ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษ ฯ 7 คน 6 คนเป็น “คนนอก” เรียกว่า 222 หรือ “ตองสอง”

2 ศักดิ์ คือ พันธ์ศักดิ์ วิญญรัตน์ และ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เชี่ยวชาญเรื่องการเมือง

2 สุ คือ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และ สุขุมพันธุ์ บริพัตร เชี่ยวชาญเรื่องการต่างประเทศ

2 ชัย คือ ณรงค์ชัย อัครเศรณี และ ชวนชัย อัชนันท์ เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจ

“ตั้งขึ้นมาเพื่อ Counter กับข้าราชการ สมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม ระบบข้าราชการใหญ่มาก พล.อ.ชาติชายจึงไม่อยากให้ข้าราชการเข้ามายุ่งมาก เอกชนกล้าหาญ ข้าราชการเจ้าระเบียบ จะ balance อย่างไร ซึ่งถึงวันนี้ก็ยังทำไม่ได้”

ข้อที่ 2 ทำความรู้จัก พล.อ.ชาติชาย อดีตทูตที่ถูกแต่งตั้ง-ถูกเนรเทศ 14 ปี ตั้งแต่มีการปฏิวัติสมัยจอมพลสฤษดิ์ เช่น ยุโรป ออสเตรเลีย และอาร์เจนตินา ประเทศที่ไกลที่สุด-กลับบ้านยากที่สุด

“พล.อ.ชาติชาย คือ คนสำคัญที่ดีลกับจีน ซึ่งกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนนโยบายสหรัฐ ฯ เพื่อล้อมจีน และน้าชาตินี่แหละที่ช่วยอาจารย์คึกฤทธิ์คืนดีกับจีนในปี 1976 เป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ที่ต้องบันทึกว่าน้าชาติมีบทบาทอย่างยิ่งในการสร้างความสัมพันธ์กับจีน”

“ท่านเป็นคนอินเตอร์ หล่อสุด ใส่สูทเนี๊ยบ คุยสนุก ทันสมัยที่สุด ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า น้าชาติหมาดนักซิ่ง เพราะชอบขี่บิ๊กไบก์”

ข้อที่ 3 ทางสามแพร่งของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ประเทศไทยอยู่ในจังหวะที่รุ่งเรื่องที่สุดเป็น “เสือตัวใหม่” ตัวที่ 5

“เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงมาก ระบบเศรษฐกิจเสรีกำลังมากแรง การค้าเสรี สงครามเย็นกำลังจะจบ น้าชาติเห็นสัญญาณการเปิดประตูการค้า เปิดสนามรบเป็นสนามการค้าในปี 1989”

“เปิดให้เอกชนมาลงทุน น้าชาติเรียกว่า Gold business มีการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการ จนนินทาว่าเป็น บุพเฟ่ต์คาบิเนต เกิดการปรับคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ดีเป็น Gold business เศรษฐกิจดีมาโดยตลอด ไม่ได้มีปัญหา การถูกปฏิวัติครั้งนั้นไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจเลย

@ คิดนอกกรอบ-ไม่ทำนอกกติกา

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ – อดีต “เด็กบ้านพิษฯ” กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในยุคพล.อ.ชาติชาย ว่า เรื่องที่ 1 นโยบายต่างประเทศของพล.อ.ชาติไทย คือ การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์-ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศมหาอำนาจ คือ จีนและสหรัฐ ฯ กับสหภาพโซเวียต

เรื่องที่ 2 ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นทั้ง “โอกาส” และ “ข้อจำกัด” โอกาสที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้าประเทศ โอกาสที่จะสร้างรายได้ให้กับประชาชน

“ขณะเดียวกันการมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้นต้องปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศ กติกาของแต่ละประเทศ”

“นโยบายต่างประเทศของพล.อ.ชาติชายไม่ใช่เป็นเพียงแค่ปรับตัวให้เข้าโลกและความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น แต่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ความเข้าใจและความเชื่อที่ชัดเจนของการต่างประเทศ”

“ทำให้คิดนอกกรอบ แต่ไม่ทำนอกกรอบกติกา กฎหมายระหว่างประเทศ”

สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างประเทศครั้งสำคัญ ๆ ที่ พล.อ.ชาติชาย โดย ทีมบ้านพิษณุโลก เข้าไปกู้วิกฤต เช่น การสร้างสะพานไทย-ลาว ข้ามแม่น้ำโขง การนำตัว สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซนจาก ประเทศที่สาม ในช่วงความขัดแย้งของเขมร 4 ฝ่าย และนโยบายการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า

“นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นตลาดการค้าทำให้ความตึงเครียดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงทันที”

“เป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การเจรจาที่กรุงปารีสว่าด้วยสันติภาพในกัมพูชา และนำไปสู่การลงนามข้อตกลงสันติภาพในกัมพูชา

“APAC คลอดในห้องรับแขกสถานทูตออสเตรเลีย”

“เวียดนามเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศที่ 10”

“เป็นครั้งแรกที่นโยบายต่างประเทศไทยไม่ได้มองประเทศเวียดนามภายใต้การปกครองของฮานอยเป็นคู่แข่ง ไมใช่ศัตรูถาวร แต่เป็นหุ้นส่วนที่เป็นไปได้”

“นโยบายอินโดจีนเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยริเริ่มสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับอินโดจีน-เวียดนาม ไม่ใช่การสร้างเครือข่ายเพื่อต่อต้านหรือสกัดกั้น”

@ แจงไม่ได้ทำแทน ก.ต่างประเทศ-ไม่แตะกองทัพ

“ไม่ได้พึ่งข้อมูลจากข้าราชการเพียงอย่างเดียว แต่อาศัยคนนอก เป็นครั้งแรกที่มีนักวิชาการเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง สมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม มีทีมที่ปรึกษาที่อยู่วงนอก แต่สมัยพล.อ.ชาติชายอยู่วงใน”

เราไม่เคยคิดว่าทีมที่ปรึกษาบ้านพิษ ฯ จะทำแทนกระทรวงต่างประเทศ แต่เป็นการส่งเสริมในสิ่งที่ขาดไปเพื่อช่วยคิดว่าจะเดินหน้าไปได้อย่างไร พวกเรา (ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษฯ) ไม่มีอะไรต้องเสีย (หน้า)  และไม่ยุ่งกับกองทัพ

“บางทีเราก็ต้องการผู้นำที่คิดนอกกรอบ ขณะเดียวกันก็ไม่ผิดวิธีทางการทูต เป็นการทำนอกกรอบอย่างถูกต้อง”