ซักฟอกไม่ลงมติ 7 นายก 11 ครั้ง พิษต้มยำกุ้ง ม็อบ-ไฟใต้ ถึงปมถวายสัตย์ฯ

รายงานพิเศษ

วาระฝ่ายที่ค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ขึงพืด “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ตอบคำถามปมถวายสัตย์ฯไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ เลยไปถึงแผนการซักฟอกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 แสนล้าน ได้รับการบรรจุเป็นญัตติ “วาระพิเศษ” ในสภาผู้แทนราษฎร แม้ยังไม่ชัดเจนเรื่อง วัน ว. เวลา น.

แต่เกิดขึ้นก่อนปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร 18 ก.ย. บีบให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องเผชิญหน้ากับฝ่ายค้านที่เตรียมขุนพลซักฟอกเบื้องต้น 10 คน ขอเวลา 2 วันเต็ม อีกครั้ง

ทั้งนี้ “เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ” ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น มีอยู่ 10 ครั้ง ทุกครั้งเป็นการ “เขี่ยลูก” มาจากฝ่ายรัฐบาล เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนปี 2560 บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อถามความเห็นจากสมาชิกรัฐสภาได้ ถ้ามีปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน

แต่ในยุครัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติให้ “ฝ่ายค้าน” สามารถ “ขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ” เองได้ โดยไม่ต้องรอฝ่ายรัฐบาล “เขี่ยลูก”

ขอส่งทหารรบสงครามเกาหลี

ในจํานวน 10 ครั้ง ที่ “ฝ่ายรัฐบาล” ขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อขอความเห็นจากรัฐสภา เริ่มต้นครั้งแรก เมื่อ 22 ก.ค. 2493 ในยุค “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภา กรณีที่รัฐบาลจะส่งทหารไปช่วยสหประชาชาติในสงครามคาบสมุทรเกาหลี ที่สุดแล้วไทยได้ส่งกำลังทหารไปร่วมรบในสงครามดังกล่าว โดยมีพระบรมราชโองการให้ส่งกำลังทหารทางพื้นดินไปร่วมปฏิบัติการกับองค์การสหประชาชาติในสงครามเกาหลี ประกาศ ณ วันที่ 22 ก.ย. 2493

“บิ๊กจิ๋ว” หาทางแก้พิษต้มยำกุ้ง

ครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรกถึง 47 ปี โดยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภา กรณีวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เมื่อ 28 ส.ค. 2540 เป็นการอภิปรายภายหลังรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ในวันที่ 2 ก.ค. 2540 แม้ว่ารัฐบาลจะขอความเห็นวิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากทั้งฝ่ายค้าน-ฝ่ายวุฒิสภา แต่แรงกดดันจากนอกสภามีมากเกินกว่าที่รัฐบาลจะต้านไหว ในที่สุด พล.อ.ชวลิตตัดสินใจลาออกในวันที่ 8 พ.ย. 2540 หลังการลอยตัวค่าเงินบาท 4 เดือน

ทักษิณรับข้อเสนอดับไฟใต้

ครั้งที่ 3 ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยคณะรัฐมนตรีขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เป็นวาระรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขปัญหาความยากจน และการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาส เมื่อ 30-31 มี.ค. 2548

โดย “ทักษิณ” ในฐานะนายกฯ รับปากในที่ประชุมรัฐสภา จะนำข้อเสนอแนะและแนวทางของ ส.ส.-ส.ว. ที่เกิดประโยชน์ ไปใช้แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้

อย่างไรก็ตาม ก่อนเปิดอภิปรายเพียง 2 วัน ในวันที่ 28 มี.ค. 2548 “ทักษิณ” ได้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ 48 คน เพื่อเสนอแนะนโยบาย มาตรการ กลไก วิธีสร้างความสมานฉันท์และสันติสุขในสังคมไทย ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานคณะกรรมการ นายประเวศ วะสี เป็นรองประธานกรรมการ แต่ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดปลายด้ามขวานยังไม่จบจนถึงปัจจุบัน

ชิงยุบสภา หนีเปิดอภิปราย

นอกจากนี้ ในช่วงที่รัฐบาลทักษิณกำลังถูกรุกไล่จากพิษการขายหุ้นชินคอร์ปทั้งในสภา-นอกสภา “ทักษิณ” เคยปรารภว่าจะเปิดให้มีการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ แทนการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ฝ่ายค้าน นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ เพราะมีเสียงไม่พอที่จะอภิปรายนายกรัฐมนตรีได้ แต่ไอเดียดังกล่าวไม่เกิดขึ้น เพราะ “ทักษิณ” ชิงยุบสภาในปลายเดือน ก.พ. 2549 จนกระทั่งการเมืองถึงทางตัน และเกิดรัฐประหารในเดือน ก.ย. ปีเดียวกัน

จี้ “สมัคร” ยุบสภา

ครั้งที่ 4 รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภา กรณีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นฐานที่มั่น เมื่อ 31 ส.ค. 2551 โดย “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน เรียกร้องให้นายสมัครยุบสภา

“พวกผมบอกว่า ทั้งสภาเราเจ็บด้วยกัน เรายุบสภาครั้งนี้ ท่านนายกฯครับ พวกผมมีแต่เสียเปรียบ เสียเปรียบทุกเรื่อง แต่ผมบอกว่า วันนี้ผมยอมครับ” ช่วงหนึ่งของการอภิปรายสรุป โดยนายอภิสิทธิ์

ครั้งที่ 5 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อรับฟังความเห็นจากรัฐสภา ในวันที่ 22-24 เม.ย. 2552 ภายหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รอบแรก แต่กลายเป็นเวทีที่ฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทยไล่บี้ฝ่ายรัฐบาลให้รับผิดชอบ ว่ามีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังการอภิปรายจบลง “อภิสิทธิ์” ได้สั่งตั้งคณะกรรมการ 2 คณะ 1.คณะกรรมการรวบรวมและตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 8-15 เมษายน 2552 2.คณะกรรมการรวบรวมข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นำมาสู่ครั้งที่ 6 ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่เปิดเวทีอภิปรายทั่วไปไม่ลงมติ เมื่อ 16-17 ก.ย. 2552 เพื่อขอความเห็นจากรัฐสภาถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 ที่ได้จากการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ซึ่งมีแนวทางการแก้ไขรวม 6 ประเด็น นำมาสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ในมาตรา 190 เรื่อง การทำสนธิสัญญากับต่างประเทศต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภา เรื่องเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจากพวงใหญ่เรียงเบอร์-สัดส่วน มาเป็นระบบเขตเดียวเบอร์เดียว-one man one vote

ยิ่งลักษณ์วิธีแก้น้ำท่วม

ครั้งที่ 7 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อขอความเห็นจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา กรณีปัญหาภัยพิบัติอันเนื่องมาจากมหาอุทกภัย ปี 2554 ซึ่งการอภิปรายดังกล่าว ฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ โจมตีถึงการบริหารจัดการน้ำผิดพลาดของรัฐบาล

“ยิ่งลักษณ์” กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการอภิปรายในสภาว่า

“การฟื้นฟูเยียวยาก็จะขอคำแนะนำ ความร่วมมือจากสมาชิก ร่วมกันฟื้นฟูเยียวยา ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน การทำอย่างไรให้ความเป็นอยู่ของประชาชนกลับคืนมา จึงเป็นที่มาของการขอความเห็นของสมาชิกเพื่อกำหนดในการช่วยเหลือประชาชน”

ครั้งที่ 8 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์เช่นกัน เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เมื่อ 15 พ.ย. 2554 เพื่อปรึกษาหารือ ขอความเห็นจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ถึงแนวทางปฏิบัติตามคําสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในกรณีปราสาทเขาพระวิหาร ที่สั่งให้ไทยถอนทหารออกจากบริเวณปราสาทเขาพระวิหารโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข ในระหว่างที่รอคำตัดสินคดีของศาลโลก

ครั้งที่ 9 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ รับฟังความเห็นจากรัฐสภา เรื่องการอนุญาตให้ NASA เข้ามาสำรวจการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2555

ครั้งที่ 10 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ให้คณะทำงานในคดีปราสาทเขาพระวิหารในศาลโลกได้เข้ารายงาน และวิเคราะห์ผลการตัดสินของศาลโลกต่อรัฐสภา และให้ประชาชนได้รับทราบ เมื่อวันที่ 13-14 พ.ย. 2556

ส่วนครั้งที่ 11 อันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ “ฝ่ายค้าน” มีสิทธิยื่นขอ “อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ” จากปมถวายสัตย์ฯและการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่จะอุบัติขึ้นในเดือน ก.ย. ต่างจากในอดีตการเปิดอภิปรายโดยไม่ลงมติ รัฐบาลเป็นฝ่าย “เขี่ยลูก” เปิดพื้นที่ให้ฝ่ายค้าน ได้มีช่องทางแสดงออกทางการเมืองในเวทีรัฐสภา

“ฝ่ายค้าน” จึงเตรียมขึงพืด “ซักฟอก” รัฐบาล จัดหนักไม่ต่างจากอภิปรายไม่ไว้วางใจ