ปมถวายสัตย์ ไม่ครบ-ขัดรธน. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มี พล.อ. วิทวัส รชตะนันทน์ เป็นประธาน มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย กรณี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อ 16 กรกฏาคม 2562  ไม่ครบถ้วน เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขัดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียนหรือไม่

จากการพิจารณาคำร้องของนายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ยื่นต่อผู้ตรวจฯ เมื่อ 20 สิงหาคม 2562  ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนอาจขัดรัฐธรรมนูญ และมีผลทำให้การกระทำในเวลาต่อมาของรัฐบาล เช่น การตั้งคณะรัฐมนตรี การแถลงนโยบาย การโยกย้ายข้าราชการเป็นโมฆะไปด้วย

ทั้งนี้ ที่ประชุมผู้ตรวจฯ มีความเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ระบุไว้ว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ แม้มีคำชี้แจงจากนายกฯ ว่าได้ถวายสัตย์ปฏิญาณตามกระบวนการขั้นตอนแล้ว แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านายกฯ กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณด้วยถ้อยคำที่ไม่ครบถ้วน

“จึงเป็นการกล่าวถ้อยคำที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ‘รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด บทบัญญัติใด ของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญบทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้’ อันจะส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่การบริหารราชการแผ่นดินมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามไปด้วย รวมทั้งปัญหาเรื่องการคุ้มครองสิทธิ”

ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงเห็นว่า ผู้ร้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 และมีมติให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขัดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียนในฐานะประชาชนคนหนึ่ง

photo : matichononline

ในวันเดียวกันนี้ นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เปิดเผยรายละเอียดคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรี ซึ่งระบุว่า “เรื่องการถวายสัตย์ของ ครม. เป็นเรื่องของการกระทำตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะแตกต่างจากการกล่าวคำปฏิญาณของ ส.ส. ซึ่งต้องชัดเจนทุกถ้อยคำ”

แต่เรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องระหว่าง ครม. กับพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็ได้มีการขอพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าฯ เพื่อนำ ครม. ถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อ 16 กรกฎาคม 2562 ครม. ได้กล่าวคำถวายสัตย์ หลังกล่าวคำปฏิญาณจบลง ก็ทรงมีพระราชดำรัสตอบตรงนั้น นายกฯ จึงเห็นว่าตนเองได้กระทำครบถ้วนตามขั้นตอนทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย” ข้อความคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรี ระบุ

นายรักษเกชากล่าวต่อว่า ในส่วนของคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และนายอัยย์ เพชรทอง เลขาธิการองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ ร้องในประเด็นเดียวกันว่า หากการที่นายกฯถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองนั้น เมื่อผู้ตรวจฯพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีการถวายสัตย์ไม่ครบเป็นเรื่องของการกระทำ ไม่ใช่บทบัญญัติกฎหมาย จึงไม่ได้เป็นประเด็นว่าข้อความหรือถ้อยคำในการกล่าวถวายสัตย์มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อเป็นการกระทำก็เห็นว่าไม่ใช่การกระทำทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง จึงมติให้ยุติเรื่องในส่วนของ 2 คำร้องนี้

นายรักษเกชากล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ขอให้พิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 46 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรและประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 252 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ ห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่ การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งถือเป็นบทยกเว้นมาตรา 159 วรรคหนึ่งและวรรคสาม แม้ไม่ได้บัญญัติยกเว้นมาตรา 159 วรรคสอง ไว้ด้วยก็ตาม แต่มาตรา 159 วรรคสอง เป็นเพียงกำหนดหลักเกณฑ์ในการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

จากคำชี้แจงของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้จัดให้มีการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี ส.ส.เสนอชื่อจำนวน 2 ท่าน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และมี ส.ส.รับรองโดยเปิดเผยไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ โดยไม่มี ส.ส.คนใดเสนอรายชื่อเพิ่มเติม ประธานรัฐสภาจึงดำเนินการให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายและให้ความเห็นชอบต่อไป จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 159 วรรคสอง การกระทำของประธานรัฐสภาจึงไม่เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่ได้มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ และฟังไม่ได้ว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจึงให้ยุติเรื่อง

สำหรับถ้อยคำที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 คือ “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”