ยกฟ้อง “ทักษิณ” ปล่อยกู้กฤษดามหานคร ปิดฉากมหากาพย์ “บิ๊กบอส”

แฟ้มภาพ

ปิดฉากมหากาพย์คดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มกฤษดามหานครจนทำให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (์NPL) และรัฐเสียหาย 10,054 ล้านบาท เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 46 – 30 เม.ย. 47 หลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาคดี “ลับหลัง” ยกฟ้อง “ทักษิณ ชินวัตร”

กว่า 12 ปีที่กระบวนการร้องทุกข์-กล่าวโทษ-พิจารณาคดีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อัยการสูงสุด (อสส.) คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อนจะตบท้ายด้วยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

จน “วิโรจน์ นวลแข” อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทยกับพวกรวม 27 ราย และบริษัทในเครือกลุ่มกฤษฎามหานคร คดี “ถึงที่สุด” ศาลพิพากษา “จำคุก” 24 คน ยกฟ้อง 2 คน เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ปี 58

ในคดีนี้ “วิชัย เอื้ออังคณากุล” รองประธานศาลฎีกา-เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน ออกนั่งบัลลังก์พิพากษานายทักษิณ จำเลยที่ 1 คดีร่วมกันทุจริตปล่อยกู้สินเชื่อธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มกฤษฎามหานคร คดีหมายเลขดำ อม.3/2555 หลังจากถูกจำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราว

เป็นอิทธิฤทธิ์ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 1 – คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ศาลสามารถ “ฟื้นคดี” ออกพิจารณาคดี “ลับหลัง” จำเลยที่ “หนีคดี” ออกนอกประเทศได้

จนถูก “ขั้วตรงข้าม” รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์-คสช. มองว่าเป็นการ “ออกกฎหมายใหม่” เพื่อ “เช็กบิล” นายทักษิณ

อย่างไรก็ตามในคดีนี้ นายทักษิณ-จำเลย มอบอำนาจให้ทนายความร่วมโต้แย้ง-ฟังคำพิพากษาคดีเป็นสำนวนแรก-สำนวนเดียวใน “ศาลฎีกานักการเมือง”

ทั้งนี้องค์คณะผู้พิพากษาพิเคราะห์-องค์คณะเสียงข้างมาก เห็นว่า ข้อโต้แย้งประเด็นข้อกฎหมายที่นายทักษิณต่อสู้ว่า คตส. ไม่มีอำนาจไต่สวนนั้น

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2551 เคยวินิจฉัยแล้วในคดีอื่นไว้แล้วว่า “คตส.มีอำนาจไต่สวน” ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร

“องค์คณะเห็นว่า พยานของอัยการโจทก์ ซึ่งเป็นอดีตกรรมการของธนาคารกรุงไทย ผู้เสียหาย เบิกความเกี่ยวกับ ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ เห็นชอบและสั่งการให้อนุมัติสินเชื่อให้กับกลุ่มกฤษฎามหานคร จำเลยที่ 19 ยังไม่ชัดว่าเป็นจำเลยที่ 1 (นายทักษิณ) หรือไม่”

“เพราะพยานได้รับฟังมาจากจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ พยานปากนี้จึงยังเป็นพยานบอกเล่า ไม่มีน้ำหนักว่า นายทักษิณ จำเลยที่ 1 สั่งการให้จำเลยที่ 2-4 ซึ่งเป็นผู้บริหารธนาคารกรุงไทยที่มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อให้กับกลุ่มกฤษฎามหานคร จำเลยที่ 19 ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง”

เป็นคดีที่ 2 ที่การพิจารณาคดีลับหลังนายทักษิณ “ศาลยกฟ้อง” ต่อจากคดีที่ ป.ป.ช. ยื่นฟ้อง กล่าวหานายทักษิณขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปี 46 ได้เสนอให้กระทรวงการคลัง สมัยที่ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็น รมว.คลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทยจำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ ซึ่งศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 29 ส.ค.61 ให้ยกฟ้องนายทักษิณ

ขณะที่อีก 2 คดี ศาลพิพากษา (ลับหลัง) จำคุก-ไม่รอลงอาญา ได้แก่

1.คดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ให้กับรัฐบาลพม่าวงเงิน 4,000 ล้านบาท ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 เม.ย.62 ให้จำคุกนายทักษิณ 3 ปีโดยไม่รอลงอาญา

2.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) ศาลฎีกาฯ พิพากษาเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.62 ให้จำคุกนายทักษิณ 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา

ส่วนคดีที่อยู่ระหว่างศาลฎีกาพิจารณา คือ คดีออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ-ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ป ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 51