การทูต “ประยุทธ์” ในมรสุมเทรดวอร์ กุนซือบ้านพิษฯแนะ ผูกมิตร 2 มหาอำนาจ

วาระทางการทูต-เศรษฐกิจ-การเมืองระหว่างประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินมาถึงทางสองแพร่ง-สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา

นโยบายต่างประเทศของ “พล.อ.ประยุทธ์” เริ่มปรับลุก-เปลี่ยนสไตล์ บนเวทีอาเซียน-แสดงบทบาทผู้นำภูมิภาค ก่อนถึงวันประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญครั้งที่ 74 (UNGA 74) ระหว่างวันที่ 21-28 กันยายน 2562

ไฮไลต์ คือ การพบ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ บนแผ่นดินสหรัฐเป็น “ครั้งที่สอง” เพราะครั้งแรกต้องย้อนกลับไป 2 ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 2-4 ตุลาคม 2560 ตามคำเชิญของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ “ยกหู” จากทำเนียบขาว “ต่อสายตรง” ถึงทำเนียบรัฐบาล

“ระบบหลังบ้าน” ที่ถูกเซตขึ้นมาลงหลักปักฐานอำนาจให้อยู่ครบ 4 ปี จะได้แสดงชั้นเชิงทางการทูตระดับสูงนำโดย “ทีมฝ่าย เสธ.” ตึกไทยคู่ฟ้า “พล.ท.อภิชาติ ไชยะดา” และ “พล.ต.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ” นายทหารยืมตัวช่วยทำเนียบ ร่วมกับสำนักการต่างประเทศของทำเนียบรัฐบาล โดยกระทรวงการต่างประเทศเป็น “แม่งานหลัก” ที่มีรัฐมนตรีบัวแก้ว “ดอน ปรมัตถ์วินัย” กุมบังเหียน

ด้าน “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี แม้จะประกาศว่า “ไม่ใช่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” แต่วางวาระเศรษฐกิจ-การทูตระหว่างประเทศ จ่อเยือนกวางตุ้ง-เสิ่นเจิ้น-ฮ่องกง หัวมังกรทางเศรษฐกิจของจีนในเดือนตุลาคม

โจทย์ท้าทาย “ทีมกุนซือ-ทีมที่ปรึกษาพิเศษ” และ “นักการเมืองอาชีพ” คือ การเซตวาระทางการเมือง-เศรษฐกิจ-ความมั่นคง ใช้ทักษะเชิงการทูตที่ถึงกึ๋น

“ณรงค์ชัย อัครเศรณี” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1 และ “อดีตที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก” ให้ข้อคิด “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2” ว่า “เวลานี้ กำลังมีการต่อสู้ระหว่างอเมริกากับจีน ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่ออำนาจที่สองคือจีนกำลังมาแรง ทำให้อำนาจที่หนึ่งคืออเมริกาหวั่นไหว ก็ต้องสู้กัน”

ในฐานะ “เด็กบ้านพิษณุโลก” ชี้ความแตกต่างระหว่าง “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ภาคสอง” กับรัฐบาลใน “ยุคน้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ว่า รัฐบาล พล.อ.ชาติชายเป็นรัฐบาลประชาชน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คือ รัฐบาลราชการ

“รัฐบาลวันนี้คล้ายกับรัฐบาลป๋าเปรม เป็นรัฐบาลราชการ มีพรรคการเมืองเป็นเครื่องประดับ สมัยรัฐบาลน้าชาติ สหรัฐกำลังจะเปิด แต่วันนี้สหรัฐไม่อยากเปิด แต่อยากปิด ขณะเดียวกันจีนตอนนั้นเป็นผู้ตาม แต่วันนี้กลายเป็นผู้นำ เกมมันเปลี่ยน สิ่งสำคัญ คือ เทคโนโลยี จะใช้ระบบของใคร จีนหรืออเมริกา เป็นโจทย์ที่ใหญ่ที่ตัดสินอนาคตของโลก”

“ไทยจะเล่นบทอย่างไร ต้องมีคนเล่นบทข้าง ๆ ไม่เป็นทางการบ้าง จำเป็นอย่างยิ่ง แต่สมัยรัฐบาลน้าชาติกับรัฐบาลวันนี้แฟกเตอร์ต่างกัน โซลูชั่นย่อมแตกต่างกันด้วย”

“ศ.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ผู้ช่ำชองการทูตในยุครัฐบาลทักษิณ-ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกในยุครัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชี้ให้เห็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของนโยบายการต่างประเทศว่า ความสำเร็จของนโยบายการต่างประเทศ นอกจากวิธีคิด องค์ความรู้ มองการณ์ไกลแล้ว คือ “หัวหน้ารัฐบาล” ต้องมี “แตรวง” (อีสเทิร์นซีบอร์ด-ถ้าในยุคนี้คืออีอีซี) เพื่อสร้างสมดุลและสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศมหาอำนาจ

“สิ่งท้าทาย คือ จะทำอย่างไรให้จับมือประเทศเพื่อนบ้านให้อยู่ ยิ่งท่ามกลางสถานการณ์เทรดวอร์ เทคโนโลยีวอร์ ต้องคุยกันได้ ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ประเทศคู่ขัดแย้งขอมาพูดคุยกัน เป็นสะพานเชื่อมให้ประเทศต่าง ๆ”

“ศ.สุรเกียรติ์” เปรียบทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก เหมือน “ผู้แทนพิเศษ” ในปัจจุบัน เป็น “track one and half” คือ กึ่งรัฐบาล-กึ่งไม่ใช่รัฐบาล

track 1 คือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ-กระทรวงการต่างประเทศกับกระทรวงการต่างประเทศ track 2 คือ สถาบัน องค์กรต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลเชื่อมกัน

“เป็นสิ่งที่ท้าทาย ประเทศไทยมีหรือไม่ ควรจะมีหรือไม่ ในปัจจุบันที่มีหมากรุกหลายกระดาน จะให้กระทรวงการต่างประเทศเดินไปคนเดียว หรือควรจะเดินไปด้วยกันเป็น track one and half ให้กับประเทศไทย”

“หัวหน้ารัฐบาล (พล.อ.ประยุทธ์) ต้องดีไซน์ขึ้นมา เพราะภูมิสถาปัตย์เศรษฐกิจ-การเมืองโลกเปลี่ยน โครงสร้างรัฐบาลเปลี่ยน ระบบทหารมีระบบเสนาธิการ หรือจะเอาระบบที่เป็นมูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล เป็นสถาบัน หรือส่งผู้แทนพิเศษไปเป็นเรื่อง ๆ มีหลายรูปแบบ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกขณะนี้จะช่วยได้ดี”

เกมการทูตสงครามการค้าเป็นงานหินที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับมือ