“ศาลรัฐธรรมนูญ” ฤดูผลัดใบ ฝ่า 6 คดีร้อน ชี้ชะตา “บิ๊กตู่-ธนาธร-หุ้นสื่อ”

รายงานพิเศษ

ถนนทุกสายของการเมืองอาจต้องโฟกัสไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะสารพัดคดี (การเมือง) ที่ตัดสินการอยู่-การไปของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านกำลังทยอยเข้าสู่การชำระสะสางคดีในเวลาไม่กี่อึดใจนี้ อย่างน้อย 6 คดี

คดีแรกร้อนที่สุดและต้องลุ้นก่อนใคร คือ วันที่ 18 ก.ย.ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัยในคำร้องที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 110 คน เข้าชื่อให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ จากกรณีที่ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นแคนดิเดตนายกฯในเสื้อคลุมพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐที่เป็นคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

หากที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องพ้นจากตำแหน่ง สเต็ปต่อไปจะต้องโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ฟอร์มรัฐบาลใหม่ แต่หากศาลวินิจฉัยว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่มีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่าปิดคดี ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

บิ๊กตู่ลุ้นปมถวายสัตย์ฯ

คดีที่ 2 เพิ่งถูกส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดหมาด ๆ คือ “พล.อ.ประยุทธ์” ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ สำหรับเหตุผลของมติ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ในฐานะองค์กรบุรุษไปรษณีย์ที่ส่งคดีร้อนไปที่ศาลรัฐธรรมนูญนั้น ระบุว่า

“เมื่อนายกฯกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปด้วย”

“วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าฝ่ายกฎหมายรัฐบาล ตอบไปตามหลักการว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแล้ว รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงภายใน 15 วัน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแต่ศาลว่าใช้เวลาเท่าใด

“ธนาธร” รอชี้ชะตา

คดีที่ 3 ร้อนแรงไม่แพ้กันกับกรณี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัดที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพส.ส.ของ “ธนาธร” สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรค 4 ถือหุ้นในกิจการสื่อ ซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้ามหรือไม่

ภายหลังศาลรับคำร้องเมื่อ 23 พ.ค. ในที่สุดเมื่อ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และจะนัดอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยต่อไปในการประชุมครั้งถัดไป ซึ่งส่วนมากศาลจะนัดประชุมทุก ๆ วันพุธ …อันเป็นสัญญาณว่ากรณี “ธนาธร” ใกล้วันชี้ชะตา

32 ส.ส.ฝ่ายรัฐจัดคิวสู้คดี

คดีที่ 4 ในกรณีที่ 32 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลถือหุ้นสื่อ ที่ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ยื่นร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติการเป็น ส.ส. เนื่องจากถือหุ้นอยู่ในบริษัทสื่อ โดยครบกำหนดส่งคำชี้แจง 16 ส.ค.ที่ผ่านมา

“ทศพล เพ็งส้ม” ส.ส.นนทบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะหัวหน้าทีมสู้คดี 21 ส.ส.พลังประชารัฐถือหุ้นสื่อเผยความคืบหน้าว่า ได้ยื่นคำชี้แจงไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว และศาลได้ส่งคำชี้แจงดังกล่าวมาที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้ร้องว่าจะมีการแก้ไขใด ๆ หรือไม่ หากไม่มีก็สามารถส่งเรื่องกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งอยู่ที่นายชวนจะเห็นอย่างไร ทั้งนี้ ยังได้ช่วยดูแนวทางการชี้แจงให้กับนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา และนายสมเกียรติ ศรลัมพ์ หัวหน้าพรรคประชาภิวัฒน์ ด้วย

ขณะที่ “ราเมศ รัตนะเชวง” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าทีมสู้คดีให้ 7 ส.ส.ประชาธิปัตย์ ระบุว่า ได้ยื่นคำชี้แจงไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ในช่วงต้นเดือน ก.ย.นี้จะประชุมทีมกฎหมายเพื่อกำหนดพยานตัวบุคคลและพยานเอกสารในการสู้คดีต่อไป

ลุ้นศาลรับ ส.ส.ฝ่ายค้านถือหุ้นสื่อ

คดีที่ 5 ดูเหมือนจะเงียบหายไป คือ กรณีที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐยื่นต่อชวน หลีกภัย ประธานสภา เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ 33 ส.ส.ฝ่ายค้าน ถือหุ้นในบริษัทที่เข้าข่ายประกอบกิจการสื่อนั้น “ทศพล เพ็งส้ม” หัวหน้าทีมพลังประชารัฐที่ยื่นเรื่อง บอกว่านายชวนได้ส่งเรื่องไปยังศาลแล้ว ขึ้นอยู่กับศาลรับคำร้องหรือไม่

คดีที่ 6 เป็นอีกคดีที่เงียบหายไปเช่นกัน กรณีที่นายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และกรรมการบริหารพรรค เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งครบกำหนดที่ผู้ถูกร้องต้องชี้แจงภายใน 15 วัน ครบกำหนดตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.

ศาลรัฐธรรมนูญรอผลัดใบ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามีคดีร้อนรอพิจารณา 6 คดี แต่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังเข้าสู่การ “ผลัดใบ” ต้องปรับเปลี่ยนองค์คณะ 5 จาก 9 คน เมื่อคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มี “นายชีพ จุลมนต์” ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ได้ประชุมครั้งแรกเมื่อ 14 มิ.ย. พิจารณาวินิจฉัยว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ใช้บังคับตามมาตรา 79 วรรค 2นั้น จะต้องมีคุณสมบัติตรงกับคุณสมบัติในรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่

ปรากฏว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คนที่ต้องพ้นไปประกอบด้วย 1.นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

2.นายชัช ชลวร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

3.นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

4.นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด

และ 5.นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องได้รับการสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยรับราชการไม่ต่ำกว่าอธิบดี หัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดไม่น้อยกว่า 5 ปี

อีกทั้ง 5 คนข้างต้นอยู่ในวาระมาถึง 11 ปี ซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองจากบทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 79 ที่คุ้มครองให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อยู่จนกว่าจะครบวาระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 คือ 9 ปี

แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ยังเหลือ 4 คน ประกอบด้วย นายวรวิทย์ กังศศิเทียม นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ นายปัญญา อุดชาชน และนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เพราะอยู่ในวาระไม่ถึง 9 ปี แม้บางรายคุณสมบัติไม่ตรงปก

สำหรับสัดส่วนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด 9 คน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 8 กำหนดให้มีที่มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา 3 คน, ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คน, ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 1 คน, ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอื่น ระดับอธิบดี, หัวหน้าส่วนราชการ, รองอัยการสูงสุด 2 คน

ดังนั้น ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจึงมีมติเลือกผู้พิพากษา 3 คนไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ นายวิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา นายจิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา

ส่วนที่ประชุมตุลาการศาลปกครองให้มานั่งเก้าอี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้เลือก นายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

อีก 1 คนเป็นสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ โดยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติเลือก นายนภดล เทพพิทักษ์ อดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศให้มาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนที่ 5

แต่ทั้งหมดจะต้องได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภาก่อน ขั้นตอนหลังจากนี้วุฒิสภาจะตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติและคุณสมบัติ ซึ่งใช้เวลาตามข้อบังคับการประชุม 60 วัน สามารถขยายเวลาได้อีก 30 วัน จากนั้นอีกประมาณ 7 วันประธานวุฒิสภาจะนำเข้าบรรจุวาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบจะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป ซึ่งอาจใช้เวลาถึงต้นปี”63

9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสิน 6 คดี อาจจะยังเป็นชุดเดิมที่ตัดสินคดีร้อนการเมืองทั้งหลายในช่วงทศวรรษ