เปิดสถานะกฎหมายลูก กรธ.ปิดภารกิจยกร่าง 4 ธันวาฯ

ท่าทีของ 2 รองนายกฯ 1 นายพล 1 พลเรือน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯด้านกฎหมาย

ที่ตอบคำถามเรื่องโรดแมปเลือกตั้ง ปี 2561 สอดคล้องเป็นทำนองเดียวกับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

ทั้ง 3 ปาก 3 คน พูดว่า ขึ้นอยู่กับกฎหมายลูก หรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ จะเสร็จเมื่อไหร่

ดังนั้น จึงยังไม่มีอะไรแน่นอน

พลิกดูสถานะกฎหมายลูก 10 ฉบับ มี 5 ฉบับ ที่ผ่านวาระ 3 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว

1. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. …. 2. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. …. 3. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. …. 4. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. …. 5. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. …. และอีก 1 ฉบับที่ยังอยู่ในการพิจารณาของ สนช.วาระที่ 1 คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ….

แต่กฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ มีแค่ 4 ฉบับ เท่านั้นที่จะมีผลต่อโรดแมปการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 คือ เมื่อใดที่กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กฎหมาย กกต. และกฎหมายพรรคการเมือง ประกาศใช้ ถัดจากนั้น 150 วัน ก็จะเป็นวันเลือกตั้ง

สถานะทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว ณ เวลานี้ ผ่านวาระ 3 ของ สนช.ไปแล้ว 2 ฉบับ รอการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา คือ กฎหมายว่าด้วย กกต. และกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ส่วน 2 ฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ยังอยู่ในการยกร่างของ กรธ.

“ชาติชาย ณ เชียงใหม่” กรธ.กล่าวว่า เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.เป็นการเลือกกันเองของ ส.ว. ดังนั้น รายละเอียดจึงมีเยอะต้องใช้เวลาร่าง ส่วนกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ยังติดปัญหาคือเรื่องการนับคะแนน เช่น การคำนวณรายละเอียดเรื่องจุดทศนิยมต่าง ๆ ต้องเขียนให้ชัดจึงต้องใช้เวลา

ทั้งนี้ กรธ.จะส่งกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.เข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ส่วนกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ส่งให้ สนช.ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน

ก่อนกำหนดเส้นตาย 240 วัน ที่ กรธ.จะต้องเขียนให้เสร็จ คือ 4 ธันวาคม 2560 แต่ กรธ.จะอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกฎหมายทั้ง 10 ฉบับประกาศใช้