ประยุทธ์ : โซนเสี่ยงอันตราย ปิด(ไม่)ลับ ปมถวายสัตย์ สู้คดีศาลรัฐธรรมนูญ

รายงานพิเศษ

มรสุมการเมืองเดือนกันยายน 2562 ตั้งเค้าซัดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลากเข้าสู่แดนอันตราย (Red Zone) อย่างน้อย 2 ลูก

ศาล รธน.ชี้ขาดปมถวายสัตย์

ลูกที่หนึ่ง ปมการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่ง-ปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161

กว่าเดือนเต็มที่แรงอัดจากปมถวายสัตย์ “ไม่ครบถ้วน” บีบคั้น-กดทับจาก 7 พรรคฝ่ายค้าน จน “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องเปล่งคำอมตะวาจา “รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” ย้อนยุคจอมพลสฤษดิ์

จากปมร้อนในวาระแถลงนโยบายต่อสภา เมื่อ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เปิดประเด็น นำไปสู่การร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน

กระทั่งผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้ส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด

“เมื่อนายกรัฐมนตรีกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปด้วย” ความเห็นของผู้ตรวจฯระบุ

ซ้ำดาบสองด้วยฝ่ายแค้น “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักษาชาติ ที่ยื่นคำร้องให้อัยการสูงสุด-ศาลรัฐธรรมนูญ พ่วงด้วยกรณีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยไม่ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ตามมาตรา 162

คาดหมายกันในบรรดาวงสนทนาการเมืองว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินภายในเดือนกันยายนนี้

เคาะวันซักฟอก-ประชุมลับ

ปมถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน ถูก 7 พรรคฝ่ายค้านเตรียมลากไปถล่มในสภาด้วยการยื่นญัตติขอเปิดอภิปราย (ไม่ไว้วางใจ) โดยไม่ลงมติครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญใหม่มาตรา 152

ขีดเส้นตายวันอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยไม่ลงมติก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภา 18 กันยายน

ก่อนที่ “วิรัช รัตนเศรษฐ” ประธานวิปรัฐบาล และ “เทวัญ ลิปตพัลลภ” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ประสานงานวิปรัฐบาลจะจูงมือออกจากห้องประชุมวิป-ถกลับ “สองต่อสอง” ก่อนเคาะวันซักฟอก “พล.อ.ประยุทธ์” โดย “เทวัญ” กล่าวภายหลังประชุมวิปรัฐบาลว่า

ที่ประชุมวิปรัฐบาลมีมติเสนอให้มีการอภิปรายตามมาตรา 152 โดยจะเสนอกรอบเวลาการอภิปรายให้ ครม. พิจารณาและมีมติเห็นชอบ สำหรับการจะเปิดประชุมลับหรือไม่ลับทำได้หลายวิธี หนึ่ง ใช้เสียง 1 ใน 4 ของสภา สอง โดย ครม. ซึ่งในที่ประชุมวิปรัฐบาลยินดีที่จะเปิดให้มีการอภิปรายอย่างเปิดเผย

“กรอบวันเวลาอภิปรายมีชัดเจน คือ 2 อาทิตย์ก่อนการปิดสมัยประชุมในวันที่ 18 ก.ย. ส่วนนายกฯจะมาชี้แจงด้วยตัวเองหรือไม่อยู่ที่นายกฯ โดยการหารือกันของ ครม.”

แหล่งข่าวจากวิปรัฐบาลเปิดเผยว่า วิปรัฐบาลมีมติเสนอให้ ครม.เห็นชอบวันอภิปรายวันที่ 11 ก.ย. หรือ 12 ก.ย.วันใดวันหนึ่งเพียงวันเดียวและให้พล.อ.ประยุทธ์เลือกวัน ส่วนจะประชุมลับหรือไม่ลับตามข้อบังคับ ครม.สามารถมีมติและเป็นข้อยุติได้ว่าจะประชุมลับหรือไม่ลับได้เองอยู่แล้ว โดยที่เสียงในสภา 1 ใน 4 ไม่สามารถแก้ไข-กลับมติ ครม.ได้

ล็อบบี้เสียงโหวตประชุมลับ

ขณะที่ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2562 ซึ่งประกาศใช้ไปหมาด ๆ เมื่อ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา บัญญัติในข้อ 18 เรื่องการประชุม ลับ-ไม่ลับ ว่า

“การประชุมย่อมเป็นการเปิดเผย เว้นแต่คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาร้องขอให้ประชุมลับ ก็ให้ประชุมลับ”

ส่วนข้อ 46 ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีขอให้ประชุมลับ โดยญัตติที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ไม่ต้องมีผู้รับรอง หากจะมีการโหวตขอประชุมลับ ก็ขอความเห็นชอบในที่ประชุมได้ทันที ด้วยความที่ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลกุมเสียงในสภาได้มากกว่า การขอประชุมลับจึงไม่ใช่เรื่องยาก

นอกจากนี้ในข้อ 69 วรรคสอง บัญญัติไว้แน่นหนาว่า “ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย หรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น”

ครบทุกขั้นตอน แต่ไม่ครบถ้อยคำ

ขณะที่ “หนังสือชี้แจง” ของ “พล.อ.ประยุทธ์” ต่อผู้ตรวจการแผ่นดินกรณีมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยคำร้องการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161

“เรื่องการถวายสัตย์ของคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องของการกระทำตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะแตกต่างจากการกล่าวคำปฏิญาณของ ส.ส. ซึ่งต้องชัดเจนทุกถ้อยคำ แต่เรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องระหว่าง ครม. กับพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็ได้มีการขอพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าฯ เพื่อนำ ครม. ถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อ 16 ก.ค. 2562 ครม. ได้กล่าวคำถวายสัตย์ หลังกล่าวคำปฏิญาณจบลง ก็ทรงมีพระราชดำรัสตอบตรงนั้น นายกฯ จึงเห็นว่าตนเองได้กระทำครบถ้วนตามขั้นตอนทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย” บางช่วงบางตอนในหนังสือชี้แจงของพล.อ.ประยุทธ์ระบุ

แหล่งข่าวจากผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ชัดว่า แม้คำชี้แจงของ “พล.อ.ประยุทธ์” อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ว่า “ครบถ้วนตามขั้นตอน” ทว่า “ไม่ครบถ้อยคำ”

ด้านสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้เตรียมข้อมูลไว้เป็นเสิร์ฟ พล.อ.ประยุทธ์ไว้อย่างแข็งขัน ทั้งการชี้แจงเหตุผลของการ “ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ” กระบวนการ-ขั้นตอน “ตั้งแต่ต้นจนจบ”

เป้าทางการเมืองของฝ่ายค้านอาจไม่ใช่ปมถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ โดยเฉพาะเป้าหมายของพรรคเพื่อไทย ที่เตรียมขุนพลรออภิปรายอย่างน้อย 10 คน และขออภิปรายถึง 2 วัน

ฝ่ายค้านสอดไส้-ลักไก่-ตีกิน ซักฟอกนโยบายรัฐบาล-ไม่ชี้แจงที่มาแจงแหล่งที่มาของเงิน รวมถึงมาตรการประชานิยม-กระตุ้นเศรษฐกิจ 3 แสนล้านและการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ขาดดุล 4 แสนล้านบาท

วัดฝีมือ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาว่า จะคุมเกมไม่ให้ฝ่ายค้านสอดไส้-ลักไก่-ตีกิน-ฉวยโอกาส “ชกใต้เข็มขัด” พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่

ชี้ชะตาปมคุณสมบัติ 18 ก.ย.

มรสุมลูกที่สอง ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องนับถอยหลัง รอวันตัดสินคือ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดอ่านคำวินิจฉัยในคำร้องที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 110 คน เข้าชื่อกันส่งถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(6) และมาตรา 98 (15) หรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า “เป็นประเด็นแห่งคดีตามคำร้องนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย” จึงไม่ทำการไต่สวนตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2560 และนัดให้คู่กรณีฟังในวันที่ 18 กันยายนทันที

หากที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องพ้นจากตำแหน่ง สเต็ปต่อไปจะต้องโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ฟอร์มรัฐบาลใหม่หรือไม่

แต่หากศาลวินิจฉัยว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่มีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่าปิดคดี พล.อ.ประยุทธ์ ยังทำหน้าที่ต่อไป