ชำนาญ : อนาคตใหม่ ปฏิวัติท้องถิ่น ล้างตระกูลการเมืองผูกขาด…ธุรกิจสีเทา

ชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารพรรคก้าวหน้า
ชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารพรรคก้าวหน้า

หลังจากพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ภายใต้การนำของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” สร้างปรากฏการณ์ในการเลือกตั้งระดับชาติ กวาดที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้ถึง 81 เสียง เป็นพรรคอันดับ 3 รองจากพลังประชารัฐ และเพื่อไทย

ถึงเวลานี้ อนค.ต้องการเปิดปฏิบัติการ “รุก” การเมืองต่อเนื่อง เดินหน้าเฟ้นหาผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่น-จัดดีเบตให้ผู้สมัครโชว์วิสัยทัศน์ต่อหน้าโหวตเตอร์อย่างคึกคัก ปักหมุดสร้างการเมืองท้องถิ่นให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะสนามเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รวมถึง “พ่อเมืองกรุงเทพฯ” ที่จะเปิดฤดูกาลแข่งขันจะถึงในเวลาอันใกล้นี้ เดินสู่เป้าหมาย “การยุติรัฐราชการรวมศูนย์” ที่ประกาศไว้ตั้งแต่วันก่อตั้งพรรค

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “ชำนาญ จันทร์เรือง” รองหัวหน้า อนค. ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่น ถึงเป้าหมายที่ อนค.คิดว่าจะได้จากลงทุนลงแรงบุกท้องถิ่น

การเมืองใหญ่ขาดท้องถิ่นไม่ได้

กับคำถามแรกที่ว่า เหตุใด อนค.ต้องจัดดีเบตผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่นและหวังจะสร้างปรากฏการณ์อะไร ชำนาญตอบว่า “การดีเบต หรือแสดงวิสัยทัศน์แสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถของผู้สมัคร คนที่จะเป็นตัวแทนในนาม อนค. เพราะต้องการทำการเมืองรูปแบบใหม่ การเมืองท้องถิ่นที่ผ่านมาแทบจะไม่มีการชูนโยบาย มีอย่างเดียวแค่ เลือกผม เลือกฉัน เข้าไปแล้วก็จบ จะมีบ้างคือ กทม. ซึ่งเป็นการเลือกตั้งกึ่ง ๆ ระดับชาติ ที่จะมีพรรคส่งแข่งขัน”

“ในทางรัฐศาสตร์มีคำกล่าวอมตะประโยคหนึ่งว่า No state without city ซึ่ง state คือรัฐ city การปกครองท้องถิ่นไม่มีประเทศไหนที่การเมืองระดับชาติโดยปราศจากการเมืองท้องถิ่น และ อนค.จะพิสูจน์ว่าไม่ได้ทำการเมืองท้องถิ่นเพื่อเป็นฐานของ ส.ส.เพราะถ้าท้องถิ่นเข้มแข็งแล้ว ส.ส.ต้องทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และตรวจสอบฝ่ายบริหาร แต่คนที่บริหารท้องถิ่น น้ำไหล ไฟสว่าง ถนนขาด เป็นเรื่องของท้องถิ่นโดยตรง ส.ส.ไม่มีหน้าที่ทำถนน แต่คนมองว่า ส.ส.มีหน้าที่อย่างนั้น ซึ่งมันไม่ถูก”

ตีกรอบคุณสมบัติ 4 ข้อ

ในฐานะสวมหมวกนักรัฐศาสตร์ “ชำนาญ” มองปัญหาการเมืองท้องถิ่นในอดีตอย่างตกผลึกว่า “ปัญหาการเมืองบ้านใหญ่ การเมืองตระกูลใดตระกูลหนึ่งผูกขาด น่าจะหมดยุคสมัย ซึ่งไม่ควรผูกขาดอยู่ในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ซึ่งบางทีมีธุรกิจสีเทาอยู่ด้วยผูกพันกันไปหมด ดังนั้น อนค.พิจารณาทีมที่จะเข้าไปดีเบตต้องพิจารณาเรื่องนี้เป็นสำคัญ และที่สำคัญที่สุดเหมือนการเลือกตั้งที่ผ่านมาคือจะไม่ซื้อเสียงโดยเด็ดขาด ไม่ใช้เงินจำนวนมากมายมหาศาล”

“จึงกำหนดคุณสมบัติคนที่จะลงสมัครในนาม อนค.ไว้ 3 ข้อใหญ่ 1.ต้องเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ ไม่มีประเภทฉาบฉวย 2.ต้องสมัครเป็นทีม เชื่อว่าการทำงานเป็นทีมจะนำไปสู่ความสำเร็จ ไม่มีฉายเดี่ยว 3.ทำการเมืองแบบใหม่ โดยมีวิสัยทัศน์ มีนโยบาย มีโครงการ เพราะพรรคมีนโยบายหลัก หลังการลงพื้นที่ 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ท้องถิ่นมีปัญหาขยะ การขนส่งคมนาคม การศึกษา ความโปร่งใส ใครที่จะมาเป็นตัวแทน อนค.ต้องเสนอนโยบาย 4 ด้านนี้ ว่าถ้าเป็นท้องถิ่นจะทำอะไร และดูความเป็นจริงเรื่องงบประมาณด้วย ไม่ใช่เอาเลิศหรู ลอยฟ้า เป็นไปไม่ได้ ต้องดูว่าที่ผ่านมาท้องถิ่นในอดีตทำไม่ประสบความสำเร็จจากงบประมาณที่เขามีอยู่เพราะอะไร แล้วผู้สมัครจะทำให้ดีกว่าเขาอย่างไร และทำไม อนค.ต้องเลือกคุณ”

ส่งทุกภาค-ไม่ครบทุกจังหวัด

“ถ้าได้รับเลือก แกนนำ อนค.ผู้บริหารจะลงไปช่วย ช่วยทุกอย่างยกเว้นเรื่องเงินอาจทำวัสดุอุปกรณ์ สื่อโฆษณา แต่ อนค.จะส่งไม่เยอะ เพราะพรรคเราเป็นพรรคใหม่จะส่ง อปท.ทั้ง 7,853 แห่ง เป็นไปไม่ได้ แต่เราจะส่งทุกระดับ 1.กทม. 2.พัทยา อบจ.แต่ไม่ส่งครบ 76 จะส่ง 10-20 จังหวัด ต้องคัดที่มีคุณภาพเจ๋ง ๆ จริง ๆ เพราะส่งไปแพ้ไม่รู้จะส่งไปทำไม”

“ภาคที่เป็นเป้าหมายหวังที่สุดคือ ภาคตะวันออก เพราะ อนค.ยกจังหวัดมาหลายจังหวัด แต่อย่างน้อยจะส่งภาคละ 1 จังหวัดที่มีความเข้มแข็ง เช่น จังหวัดที่ อนค.ได้คะแนนเสียงดี แม้ตอนเลือกตั้ง ส.ส.อาจจะไม่ชนะที่ 1 แต่ได้คะแนนเป็นที่ 2-3 แต่จะส่งทุกภาค”

ท้าชิง “ชัชชาติ-เพื่อไทย”

“ส่วน กทม.ต้องส่งคนลงแข่งแน่นอน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ส่งผู้สมัคร เพราะได้คะแนนพ็อปพูลาร์โหวตเป็นอันดับหนึ่ง ได้เสียง 8 แสนกว่าคะแนน เราจะทิ้งน้ำเฉย ๆ ไม่ได้ และตอบคำถามไม่ได้ว่าทำไมไม่ส่ง”

“ถ้าเพื่อไทยมองว่าคุณชัชชาติ (สิทธิพันธุ์) จะลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในนามเพื่อไทย ของ อนค.ต้องไม่ด้อยกว่า หลายคน…มีอยู่ ต้องเป็นการเมืองแบบใหม่ แต่ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ เพราะคนรุ่นใหม่เดี๋ยวจำกัดว่าต้องคนหนุ่ม ต้องอายุน้อย แต่ถ้าแก่งั่กคงไม่เอา ต้องประสบความสำเร็จด้านบริหาร เพราะตำแหน่งผู้ว่าเป็นฝ่ายบริหาร ระบบการปกครองเทียบเท่ารัฐมนตรีช่วยว่าการ และต้องเปิดโอกาสให้มีการแข่งขัน เราจะส่งต้องหวังชนะ ไม่ใช่คุณชัชชาติไม่ดี ต้องไม่น้อยกว่าคุณชัชชาติ”

แล้ว อนค.จะแหวกตระกูลการเมืองที่ผูกขาดสนามเลือกตั้งท้องถิ่นได้อย่างไร ? “ชำนาญ” กล่าวว่า “เป็นคำถามเดียวกันกับที่ลงสมัครเลือกตั้งระดับชาติ คนปรามาสว่า อนค.ได้ผู้สมัครไม่เกิน 15-20 คน ยิ่ง ส.ส.เขตไม่ต้องพูดถึงถ้าไม่ซื้อเสียง แต่ขณะนี้เราได้ ส.ส.เขต 31 เสียง แล้วระดับท้องถิ่นยิ่งง่ายกว่าระดับชาติ เพราะผู้สมัครได้สัมผัสชีวิตประจำวันชาวบ้านทุกวัน ระดับชาติยังไกลตัวด้วยซ้ำ

อนค.ไม่เอากระทรวงท้องถิ่น

แม้ปักหมุดว่าจะปฏิวัติท้องถิ่น แต่ในความเป็นจริงรัฐบาล คสช.ออกกฎหมายคุมท้องถิ่นไว้แน่นหนาผ่านระเบียบต่าง ๆ ของกระทรวงมหาดไทย อนค.จะทำอย่างไร ?

“เรามีแผนอยู่แล้วที่จะแก้ไขระเบียบต่าง ๆ และทำได้ด้วย เพราะ อนค.มี ส.ส. 81 คน ซึ่งการเสนอร่างพระราชบัญญัติใช้เสียง 20 คนก็เสนอกฎหมายได้ และแค่ระเบียบกระทรวงก็สามารถเปิดกระทู้ พรรคการเมืองเกือบทุกพรรค ยกเว้นพรรคหลักที่เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลเห็นด้วยกับการแก้ไขเรื่องระเบียบที่ล็อกท้องถิ่นทั้งหมด โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ก็ขับเคลื่อนเรื่องท้องถิ่นมานาน ไม่มีเหตุอะไรที่เขาจะปฏิเสธ ท้ายที่สุดรัฐธรรมนูญก็ต้องแก้ เพราะมีปัญหาเยอะ ท้องถิ่นไม่สามารถทำอะไรได้”

ส่วนเรื่องร้อน ๆ ในสภา ที่ ส.ส.เพื่อไทย-ภูมิใจไทย ต่างเสนอให้ตั้งกระทรวงท้องถิ่น “ชำนาญ” เห็นแย้งทันที

“กระทรวงท้องถิ่น เท่ากับรวบอำนาจมาอยู่ส่วนกลาง เพิ่มรัฐมนตรี เพิ่มข้าราชการส่วนกลาง ซึ่งไม่ถูกหลักการกระจายอำนาจ”

“ถ้าโหวตในสภา ไม่เอาแน่นอน…ไม่เห็นด้วย เพราะขัดนโยบายของพรรค อนค.” ชำนาญกล่าวปิดท้าย