มนูญ : หัวหน้า (ตัวจริง) เศรษฐกิจใหม่ ไม่เบี้ยวฝ่ายค้าน รัฐบาลทำดีต้องโหวตให้

มนูญ สิวาภิรมย์รัตน์

สัมภาษณ์พิเศษ โดย ปิยะ สารสุวรรณ 

พรรคเศรษฐกิจใหม่ (ศม.) ดัน “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” จากหัวหน้าพรรคขึ้นหิ้งไปเป็น “ปูชนียบุคคล”

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนาพิเศษ “มนูญ สิวาภิรมย์รัตน์” หัวหน้า ศม.คนใหม่ ตัวจริง-เสียงจริง กับคำถามที่พลิกไป-พลิกมาว่า แท้จริงแล้ว ศม.อยู่ฝ่ายค้าน-ค้านอิสระ หรือฝ่ายรัฐบาลกันแน่

รัฐบาลทำดี “ยกมือ” สนับสนุน

“หัวหน้า ศม.คนใหม่” ยืนยันคำเดิมว่า ศม.เป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่ไม่การันตีว่า 6 เสียง ส.ส.ในสังกัด จะเห็นด้วยกับมติ “วิปฝ่ายค้าน” ทุกเรื่อง เพราะสุดท้ายขึ้นอยู่กับมติของพรรคชี้ขาด

“ฝ่ายค้านอิสระไม่มีจริง ตอนนี้ ศม.เป็นฝ่ายค้าน ทำงานร่วมกับฝ่ายค้าน เป็นส่วนหนึ่งของวิปฝ่ายค้าน เพื่อให้การอภิปรายเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เรื่องไหนดีอภิปรายสนับสนุน เรื่องไหนไม่ดี ศม.ก็ค้าน โหวตให้ไม่ได้ เป็นไปได้ที่มติของพรรคจะไม่ตรงกับมติของวิปฝ่ายค้าน”

“เป็นฝ่ายค้านไม่ต้องค้านทุกเรื่อง เพราะไม่สร้างสรรค์ ไม่มีประโยชน์ เรื่องไหนไม่ดีค้านอย่างสร้างสรรค์ เสนอแนะ เรื่องไหนรัฐบาลทำดีก็เห็นด้วย ยกมือสนับสนุน”

“ส่วนจุดยืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คงต้องแก้ เพราะบางเรื่องไม่สามารถทำได้ในเชิงปฏิบัติ เช่น การแจ้งแหล่งที่มารายได้ของนโยบาย รัฐบาลก็รู้ข้อจำกัด ฝ่ายค้านก็กลัวว่า ถ้าเป็นรัฐบาลก็จะติดกับดัก แต่หมวด 1 และหมวด 2 ศม.ยืนยันว่าไม่ควรแก้”

ไม่เอา “ลุงตู่” ไม่ใช่ข้อผูกมัด

แม้การประกาศอยู่ฝั่งประชาธิปไตย ไม่เอา “ลุงตู่” ของ “ลุงมิ่ง” ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง “ผูกมัด” ให้ ศม. กลับไม่ได้-ไปไม่ถึง แต่ “มนูญ” ไม่มองว่า ทำให้ ศม.เสียโอกาสเพราะสุดท้ายขึ้นอยู่กับมติของพรรคว่าจะไปซ้ายหรือขวา

“สถานการณ์ในช่วงนั้น ศม.มองว่า สุดท้ายอนาคตประเทศไทยต้องเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ในแง่ของการทำงาน ยังยึดหลักการอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ท่านนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์) สละข้ามมาหมดแล้ว คือ เป็นพลเรือน ศม.ยินดีที่เข้ามาในสนามการเมืองอย่างถูกต้อง”

“ในส่วนจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์นั้น ตอนนี้ ศม.เป็นฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เรื่องใดที่ทำให้ประเทศเดินหน้า ยินดีสนับสนุน”

“คงไม่ใช่เรื่องที่ทำให้เสียโอกาส เป็นเรื่องของการแสดงจุดยืนทางการเมือง ศม.เคารพจุดยืนที่ท่านมิ่งขวัญแสดงไว้ ไม่ได้มองว่าเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลจะดีหรือเสีย”

“ท่านมิ่งขวัญเป็นปูชนียบุคคลของพรรค ปรึกษากันตลอด เรามีอิสระทางความคิด สุดท้าย ศม.จะเดินไปทางไหนขึ้นอยู่กับมติพรรค” คำถามจากข้อผูกมัดเก่าถึงหัวหน้าพรรคคนใหม่และความศักดิ์สิทธิ์ที่เสื่อมลงไป

ศม.ไม่มีงูเห่า

“มนูญ” ปฏิเสธข้อกล่าวหาทุกครั้งที่มีการโหวตนัดสำคัญว่า ศม.มี “งูเห่า” และท้า “เปิดผลโหวต” ทุกครั้งในสภาที่มี record และการไม่ไปร่วมแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลกับ 7 พรรคฝ่ายค้าน เพราะ นัดซ้อน-นัดฉุกละหุก

“ไม่ได้ไป ไม่ได้แปลว่า ศม.จะเบี้ยว เราเป็นพรรคเล็กคนทำงานมีจำกัด พอไม่ไปประชุมร่วมด้วยก็บอกว่า โดดประชุมเตรียมไปอยู่กับฝ่ายรัฐบาลแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะเบี้ยวหรือไปเข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาล”

“อยู่ในสภาเจอกันหมด ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ทุกคนเป็นเพื่อนกัน การไปทานข้าวกันเป็นเรื่องปกติ ทุกคนพูดคุยกัน ชวนกันทีเล่นทีจริง สุดท้ายจะไปหรือไม่ไป หรือเรื่องของการโหวตต้องเป็นเรื่องของมติพรรค”

พรรคไม่มีนายทุน-ไม่ถูกครอบงำ

คำถามจากคนข้างนอกมองเข้ามาในพรรคว่า “ลุงมิ่ง” ไม่ใช่หัวหน้าตัวจริง แต่ถูกครอบงำโดยนายทุน-คนนอก จนมีคนไปร้องต่อ กกต.ให้ยุบพรรค

“ตอนนี้ท่านมิ่งขวัญ คือ ปูชนียบุคคลของพรรค ดำเนินการเฉพาะเรื่องสำคัญ มีอิมแพ็กต์ ทุกคนที่อยู่ในพรรคเป็นสมาชิกพรรค ระดมทุนจากสมาชิก ไม่มีการครอบงำจากภายนอก”

เขายืนยันว่าเป็นหัวหน้าพรรค “ตัวจริง-เสียงจริง”

วัดกันที่ผลงาน

“มนูญ” ยอมรับว่า ยากที่ ศม.จะรักษา ส.ส. 6 ที่นั่งในสภาเอาไว้ให้ได้ตลอดรอดฝั่ง อย่างน้อยก็การเลือกตั้งครั้งต่อไป

“ส.ส.ทั้ง 6 คนของ ศม. คงต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด การเลือกตั้งที่ผ่านมา คนเลือกเพราะอยากหาสิ่งใหม่ ๆ ไม่อยากนั่งฟังคนทะเลาะกัน จุดที่ทำให้ ศม.แตกต่าง คือ เน้นเรื่องเศรษฐกิจ ไม่เน้นเรื่องความขัดแย้ง”

“ทุกคนต้องช่วยกันรักษาพรรค สุดท้ายใครจะอยู่ ใครจะไปก็ต้องเดินหน้าไปด้วยกัน ทุกพรรคมีปัญหาเหมือนกันหมด เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้เป็นอย่างนี้ สุดท้ายถ้ามติพรรคออกมาเป็นอย่างไรแล้วไม่ปฏิบัติตามก็ลำบาก”

“การทำงานต้องยึดถือผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ประชาชนจะเลือกหรือไม่เลือก สุดท้ายอยู่ที่ผลงาน เราทำอะไรให้ประชาชน ทำอะไรให้ประเทศ”

“ประเทศจะเดินหน้าต่อไปได้ ต้องเป็นประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยเดินไปแล้วทะเลาะกันอย่างเดียว ก็ไปไหนไม่ได้ เหมือนสถานการณ์ความวุ่นวายในฮ่องกง มีแต่ถดถอย ศม.เน้นเรื่องประชาธิปไตยควบคู่ไปกับเศรษฐกิจ”

ถูกตีเส้นแบ่งขั้ว-จำใจเลือกข้าง

เขาเชื่อว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ ศม.มี ส.ส.เข้าไปนั่งในสภา ไม่ใช่การประกาศว่าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องนโยบายตรงใจ

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลังการเลือกตั้งคนมุ่งเป้าไปที่คำพูดของหัวหน้าพรรคคนเก่า-ไม่เอาบิ๊กตู่ มากกว่านโยบาย “เศรษฐกิจใหม่” ที่ชูเป็น “จุดเด่น” ของพรรค

“ภาพรวม ศม.มองเรื่องของประชาธิปไตย จึงเป็นที่มาว่า ทำไมท่านมิ่งขวัญถึงประกาศจุดยืนไปอย่างนั้น แต่เป็นเรื่องที่ง่าย ขีดเส้นแบ่งว่าใครอยู่ฝั่งไหน”

เขาไม่ชี้ชัดว่าใครเป็นคนตีเส้น แล้วเส้นที่ถูกตีขึ้นมานั้น ศม.ก้าวข้ามแล้วหรือยัง หลังจากมีหัวหน้า-กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ “ลุงมิ่ง” ไปเป็นปูชนียบุคคล แต่ “ไม่ได้ปิดกั้น” ว่าพรรคจะต้องเป็นฝ่ายค้านไปตลอด

“ทุกฝ่าย (หัวเราะ) ทุกคนอยากรู้ว่า ฐานคะแนนของตัวเองมีเท่าไหร่ เวลาลงมติญัตติต่าง ๆ บางทีก็ไม่อยากให้โหวตหรอก แต่ขอเช็กหน่อย ขอตีเส้นหน่อยเพื่อเช็กกำลังกันได้”

“ถึงตอนนั้นคงต้องมาวิเคราะห์ว่า ศม.จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร สุดท้ายถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร คงต้องเป็นเรื่องของ กก.บห.พรรค ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในตอนนั้น แต่ ศม.ยังยึดในเรื่องประชาธิปไตยอยู่”

คำถามหนัก ๆ ว่า พรรคที่กั๊ก ๆ เป็นเพราะต้องการอัพค่าตัวหรือไม่ ? เขาตอบไปหัวเราะไปว่า “ไม่เคยได้เงินเลย”

ข้ามชอตการเมืองนอกสภา

ศม.แม้ไม่ใช่พรรคจิ๋ว 1 เสียง แต่ปรากฏการณ์ “ไพบูลย์โมเดล” ทำให้ ศม.หนาว ๆ ร้อน ๆ เขาทำนายว่า คงไม่ใช่พรรคเดียวที่จะใช้โมเดลนี้ แต่ “ไพบูลย์โมเดล” ใช้กับ ศม.ไม่ได้ เพราะ ศม.ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ

“กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทำให้การดำรงไว้ซึ่งความเป็นพรรคการเมือง ค่อนข้างลำบาก ไม่เอื้อกับพรรคเล็ก ไม่แปลกใจที่มีโมเดลนี้เกิดขึ้น สุดท้ายจะเกิดขึ้นอีก”

ถึงอย่างไรก็ตาม การตัดสินใจยกมือโหวตเข้าข้างใดข้างหนึ่งในทางคณิตศาสตร์การเมืองที่ “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” ย่อมสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงการอยู่-การไปของรัฐบาลและฝ่ายค้าน “มนูญ” มอง “ข้ามชอต” ไปถึงคำพิพากษาตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่จะชี้ชะตาอนาคตในเวลาอันใกล้ ส่วนผลพิพากษาจะเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อรัฐบาลหรือฝ่ายค้านเขา “ไม่ก้าวล่วง”

“รัฐบาลคงพยายามบริหารจัดการให้ดีที่สุด คงมีการเตรียมการวางแผนไว้แล้ว สถานการณ์ทางการเมืองในอนาคตจะมีคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่มีคดีฟ้องร้องอยู่ในศาลเต็มไปหมด สถานการณ์ในอนาคตอาจจะเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร จึงไม่แน่ใจว่า สุดท้ายรัฐบาลจะเสียงปริ่มน้ำหรือไม่” หัวหน้าพรรค ศม.คนใหม่ทิ้งท้าย