“วิษณุ” ไขปมถวายสัตย์ “ทรงไว้วางพระราชหฤทัยคณะรัฐมนตรี”

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจงกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณ ต้องใช้กันอีกหลายครั้ง ขอขีดเส้นใต้คำว่า ถวายสัตย์ปฏิญาณ

รัฐธรรมนูญมาตรา 161 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ขีดเส้นใต้คำว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ คำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณที่ล้วงหยิบเอาบัตรแข็งออกจากกระเป๋าของนายกรัฐมนตรีทุกคน ไม่ได้เปลี่ยน ซึ่งเป็นบัตรแข็งที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้จัดเตรียมเหมือนกับที่เตรียมกับนายกรัฐมนตรีทุกคนในอดีต มีนายกรัฐมนตรีคนเดียวที่ไม่ต้องหยิบอะไรออกมาจากกระเป๋า คือ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะท่านจำได้แม่นยำ

“ผมไม่ทราบว่าเบื้องหน้า เบื้องหลังของการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไปตามนั้น และน้อยกว่านั้นเพราะอะไร แต่กล่าวเป็นคำกลางได้ประโยคเดียวเท่านั้น คือ การถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ คำนี้ผมไม่ได้พูดขึ้นเอง ในหนังสือที่บอกถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแต่ละมาตรา ๆ รวมถึงมาตรา 161 ซึ่งแสดงถึงเจตนารมณ์ หน้า 279 อธิบายว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณนั้น เป็นเรื่องที่ต้องการยืนยันต่อองค์ผู้ใช้อำนาจอธิปไตย คือ พระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่หลักราชาธิปไตย เป็นหลักประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับเขียนไว้

“เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เขียนไว้ในหนังสือกรรมการร่างได้รวบรวมเอาไว้ว่า เป็นการยืนยันต่อองค์ผู้ใช้อำนาจอธิปไตยเพื่อยืนยันให้เกิดความไว้วางใจในตัวผู้กล่าวคำปฏิญาณนั้น พระมหากษัตริย์ไว้วางใจในตัวผู้กล่าวปฏิญาณ คือ คณะรัฐมนตรี”

นายวิษณุกล่าวว่า คำวินิจฉัย หรือ คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องกรณีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณ เขียนไว้ในคำวินิจฉัยอย่างน้อยในฉบับย่อ หน้าที่ 2 บรรทัดที่ 3 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญใช้คำว่า ดังนั้น คำถวายสัตย์ปฏิญาณจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับพระมหากษัตริย์ เขียนเหมือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 161 เพื่อยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับพระมหากษัตริย์ การถวายสัตย์ปฏิญาณนั้น เป็นเรื่องระหว่างคณะรัฐมนตรีกับพระมหากษัตริย์

“คำถามว่า ทำไมการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่เหมือนกับรัฐธรรมนูญ เพราะเขาจงใจเรียกการปฏิญาณสาบานตัว คำหนึ่ง ‘ปฏิญาณตน’ กับ ‘ถวายสัตย์ปฏิญาณ’ ทำไมแยกออกเป็นสองคำ คำว่า ‘ปฏิญาณตน’ ใช้กับบุคคล 3 ประเภท ได้แก่ 1.ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 2.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ 3. สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ นายบารัค โอบามาก็ใช้คำว่า สาบานตน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐนิกส์สัน ก็ปฎิญาณตน จึงไม่จำเป็นต้องมีผู้รับ”

“ส่วน คำว่า ‘ถวายสัตย์ปฏิญาณ’ ใช้กับบุคคล 4 ประเภท ได้แก่ 1.องคมนตรี 2.คณะรัฐมนตรี 3.ผู้พิพากษา และ 4.ตุลาการ ทำที่ไหนก็ได้แต่ต้องมีผู้ถวายและผู้รับถวาย เช่น พระที่นั่งตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ สมัยรัชกาลที่ 9 ปลายรัชกาล ที่รพ.ศิริราช ก็มี ที่สำคัญ คือ ต้องมีผู้รับถวายสัตย์ปฏิญาณเท่านั้น คือ พระมหากษัตริย์ และทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ไม่ได้ ทำกับผู้แทนพระองค์ไม่ได้ ต้องทำกับต่อพระมหากษัตริย์ จึงใช้คำว่า ถวายสัตย์ปฏิญาณ”

“เวลากล่าวก็ต้องเริ่มด้วยคำว่า ข้าพระพุทธเจ้า เพราะทำกับพระมหากษัตริย์ แสดงว่ามีผู้ถวายและผู้รับถวาย ไม่เหมือน ส.ส. ส.ว. และ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ไม่ต้องมีผู้รับ จึงอดคิดไม่ได้ว่า คงไม่มีใครคิดจะเปลี่ยนแปลงถ้อยคำนั้น”

นายวิษณุชี้แจงย้ำว่า การรับคำถวายสัตย์ปฏิญาณเมื่อวันที่ 16 ก.ค. เมื่อสิ้นสุดคำถวายสัตย์ปฏิญาณระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์แล้ว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบและต่อมาได้พระราชทานพระราชดำรัสทุกคำอีกด้วยซ้ำไป เมื่อคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณแล้วได้มีพระราชกระแสรับสั่งว่า ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ คณะรัฐมนตรีรับพระราชกระแสใส่เกล้าใส่กระหม่อม ไม่ต้องตีความ แต่นี่ถือเป็นพระบรมราชานุญาติและได้ปฏิบัติหน้าที่นับแต่นั้นเป็นต้นมา

“หลายท่านวิตกว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่ผ่ามนจะเกิดโมฆะ อย่าฝันร้าย เพราะจะไม่เกิด ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องทั้งหมด เพราะเหตุผลอธิบายว่าไม่รับเพราะอะไร เพราะว่า 1.เป็นเรื่องในทางการเมือง (Political Issue) และศาลรัฐธรรมนูญยังบอกอีกว่าเมื่อจบคำถวายสัตย์ปฏิญาณและพระราชทานพระบรมราโชวาทและพระราชทานพร และอัญเชิญพระราชกระแส พระราชหัตถ์ (รายชื่อ-ลายมือ) ด้วย ดังนั้น กาถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรีจึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด แปลว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่อาจตรวจสอบได้ ชี้ไม่ได้ว่าถูกหรือผิดและไม่ชี้ด้วย สภาผู้แทนราษฎรก็เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ”