“บิ๊กตู่” 6 ปี พ้นมลทินทุกคดี สางปมถวายสัตย์ฯ ล้างผิดจำเลยกบฏ

รายงานพิเศษ

ในที่สุด “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ก็รอดมรสุมการเมืองในเดือนกันยายนไปได้แบบไร้รอยขีดข่วน ทั้งการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติของฝ่ายค้าน 7 พรรค ซึ่งไม่ทำให้ระคายผิวรัฐบาล ทั้งปมถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ และการแถลงนโยบายโดยไม่แจงที่มางบประมาณ

ปิดฉากเรื่องวุ่น ๆ ที่เป็นตะกอนในใจนายกฯ สมัยที่ 2 ตั้งแต่ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่ง 16 ก.ค. ก็เพราะก่อนหน้าเข้าสู่โหมดอภิปรายไม่ลงมติ ศาลรัฐธรรมนูญได้ “ตีตก” ไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องปมถวายสัตย์ฯของ พล.อ.ประยุทธ์ มาก่อนแล้ว โดยศาลให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า

“เนื่องจากไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรใดตามรัฐธรรมนูญ เพราะการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมืองของ ครม. ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์”

พร้อมตีตกทุกคำร้องที่เกี่ยวข้องกับปมถวายสัตย์ฯไม่ครบ! นอกจากเหตุการณ์ถวายสัตย์ฯไม่ครบ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติเป็นเอกฉันท์ “ยกคำร้อง” กรณีที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน 110 คน ยื่นให้ศาลตรวจสอบคุณสมบัติ “พล.อ.ประยุทธ์” ว่า ตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐอันเป็นคุณสมบัติต้องห้ามการเป็นนายกฯ หรือไม่

ตอนหนึ่งของคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า “หัวหน้า คสช.ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา หรือการกำกับดูแลของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐใด ทั้งเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย ไม่มีกฎหมายกำหนดวิธีการได้มาหรือการเข้าสู่การดำรงตำแหน่ง โดยมีอำนาจหน้าที่เป็นการเฉพาะชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้มีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงปลอดภัยของประเทศและประชาชน”

“ดังนั้น ตำแหน่งหัวหน้า คสช.จึงไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามมาตรา 98 (15) พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ”

เคลียร์ชัด ครบทุกประเด็น “พล.อ.ประยุทธ์” รอดทุกข้อกล่าวหาในรอบ 2 เดือนของการเป็นนายกฯ

ศาลตีตกคำร้องเรืองไกร

สำหรับคดีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกร้องหลังเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ก่อนเป็นนายกฯรอบ 2 มีเพียง 1 คดีที่พบความเคลื่อนไหว และยุติเรื่องไปแล้ว คือ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักษาชาติ ยื่นคำร้องให้ศาลปกครองกลาง เพิกถอนมติของ กกต.ที่วินิจฉัยข้อร้องเรียนว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์

รวมถึงเว็บไซต์ส่วนตัว ไม่อาจถือว่าเข้าข่ายการเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชน ที่เข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา

รอดทุกคดียึดอำนาจ

อย่างไรก็ตาม มีคดี “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา-จำเลย เกี่ยวกับการยึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557 ตอนที่เป็นนายกฯ สมัยแรก

เริ่มจากคดีที่ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร ฟ้อง คสช. ต่อศาลอาญาในความผิดฐานกบฏ และความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ แต่ในวันเดียวกัน ศาลอาญาก็พิพากษายกคำร้อง ในวันที่ 10 มิ.ย.2557

“ความผิดตามฟ้องเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ถือได้ว่าเป็นความผิดต่อรัฐโดยตรง รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด แม้โจทก์จะอ้างว่าได้รับความเสียหายในการใช้ชีวิตอย่างปกติสุขว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ แต่โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ดังนั้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในคดีนี้ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 28”

อีกคดีสู้กันเป็นมหากาพย์ถึง 3 ศาล คือ คดีที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับ และกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ กับพวกรวม 5 คน ในความผิดฐานเป็นกบฏ ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ หรือแบ่งแยกราชอาณาจักรโดยใช้กำลังประทุษร้าย และกระทำการสะสมกำลังพล หรืออาวุธ หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 และ 114

ที่สุดแล้ว ศาลฎีกายกฟ้องเมื่อ 22 มิ.ย. 2561 โดยศาลฎีกาพิพากษาว่า “สภาพของรัฐใดรัฐหนึ่ง ประกอบด้วย ดินแดนที่แน่นอน ประชาชน รัฐบาล และอำนาจอธิปไตย กฎหมายต้องใช้บังคับได้ แม้จะอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ชอบ แต่ต้องตีความกฎหมายให้เกิดผลบังคับใช้ได้ ให้คงอยู่เป็นรัฐ มิฉะนั้น บ้านเมืองเสียหาย การยึดอำนาจในขณะนั้น คสช.ใช้อำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้ว่าการได้มาซึ่งอำนาจจะไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย ก็เป็นกรณีว่ากล่าวกันในด้านอื่น คสช.มีอำนาจในเชิงข้อเท็จจริง ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจึงมีสภาพเป็นกฎหมาย ตามที่มาตรา 48 ได้บัญญัติไว้ และต่อมา รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 279 ก็ได้รับรอง การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงพ้นผิดโดยสิ้นเชิง”

2 คดีค้างที่ศาลปกครอง-ป.ป.ช.

ยังมีที่ “ตกค้าง” อยู่ในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีที่ “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องให้สอบสวนไต่สวน “พล.อ.ประยุทธ์” ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ แต่น่าจะจบเป็นหนังม้วนเดียวกับคดีลักษณะเดียวกัน ที่ศาลรัฐธรรมนูญตีตกไป

ถูกยิ่งลักษณ์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย

และอีก 1 คดีศาลปกครอง เป็นกรณีที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) กับพวกรวม 7 คน กรณีตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง และให้ชดใช้ค่าเสียหาย 35,717 ล้านบาท ทำให้ได้รับความเสียหายต่อสิทธิ ชื่อเสียง และสุขภาพอนามัย ชื่อเสียง วงศ์ตระกูล ถูกดูหมิ่นเกลียดชังว่าในฐานะนายกฯ ประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ทั้งนี้ ศาลปกครองรับคำร้องเมื่อ 29 มี.ค. 2562

“ยิ่งลักษณ์” ไม่หวังผลบวกแห่งคดี เพียงแต่ร้องคาไว้เพื่อทวงความยุติธรรม


6 ปี “พล.อ.ประยุทธ์” ในตำแหน่งนายกฯ พ้นเกือบทุกมลทิน