องค์อำนาจที่ 4 ตั้งเบิก 1.5 หมื่นล้าน 6 องค์กรอิสระ คานงัดอนาคต “คนการเมือง”

รายงานพิเศษ

ทุกเม็ด ทุกดอก ทั้งฝ่ายแค้นนอกสภาและฝ่ายแค้นในสภา จัดหนัก จับผิดการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ทำงานบริหารประเทศเพียง 3 เดือน ในฐานะรัฐบาลใต้รัฐธรรมนูญ แต่ทว่าญัตติการเมืองร้อนเกือบทั้งหมดล้วนไปตาย-ตกไป ที่องค์กรอิสระ

อาจเป็นเพราะนักร้องการเมือง “มือไม่ถึง” หรือ “ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา” (พล.อ.ประยุทธ์) แก้ต่างมาดีไม่มีใครทราบ เพราะขึ้นกับข้อกฎหมายและคำวินิจฉัยขององค์กรอิสระ

ตัวอย่าง เช่น ปมถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ของ พล.อ.ประยุทธ์ แม้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติว่า พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิญาณไม่ครบถ้วน แต่ที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็ตีตกไป

สถานะของ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่เข้าข่ายสิ้นสุดเฉพาะตัว เพราะคาบเกี่ยวการเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” แล้วมาสมัครเป็นนายกฯ ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกไป และตีตกมาตั้งแต่ชั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนเลือกตั้งใหญ่ 24 มี.ค.

พล.อ.ประยุทธ์ รอดเงื้อมมือองค์กรอิสระมาแบบไร้รอยขีดข่วนและไร้มลทิน

หากประเด็นร้อนที่จะไปสู่องค์กรอิสระนับจากนี้ หาใช่เกี่ยวกับตัว “พล.อ.ประยุทธ์” เพียงผู้เดียว แต่ยังมี ส.ส.ทั้งสภา ฝ่ายค้าน-รัฐบาล กรณีถือหุ้นสื่อคาอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ปัญหา “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้พรรคในไส้ของตนเอง “กู้เงิน” จำนวน 191 ล้านบาท ไปใช้ทำกิจกรรมการเมือง

ขณะที่ฝ่ายค้าน 7 พรรค จ่อยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ขาดมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ จากกรณีปมถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ รวมถึงกรณีแถลงนโยบายโดยไม่ชี้แจงที่มาของเงิน รวมถึงคดีของอดีตนายกฯ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” และเครือข่าย ที่ยังติดบ่วงจำนำข้าวลอต 2 รอ ป.ป.ช.ตัดสินอยู่

เส้นทางของคดีเหล่านี้จะตกตะกอนไปสู่การพิจารณาขององค์กรอิสระทั้งสิ้น

อำนาจที่ 4 ตามรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญ 2560 องค์กรอิสระถูก “มีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะ” สถาปนาความสำคัญให้เป็น อำนาจที่ 4 ในโครงสร้างรัฐธรรมนูญ ยกระดับการทำงานขององค์กรอิสระ ให้ทำงานร่วมกันเป็นเอกภาพ ตามมาตรา 221

“ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้องค์กรอิสระร่วมมือและช่วยเหลือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ในการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กร”

ที่สำคัญ ในมาตรา 141 วรรคสอง ยังบัญญัติในเรื่องการให้งบประมาณขององค์กรอิสระว่า “รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระของรัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ และองค์กรอัยการ”

ขอ 1.5 หมื่น ล.ลุยตรวจสอบ

ดังนั้น เมื่อพลิก “คำขอ” งบประมาณขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2560 พบว่า แบ่งเป็น 2 ก้อน ก้อนแรก เป็น “งบประมาณด้านบุคลากร” โดยองค์กรอิสระของบฯด้านนี้ทั้งสิ้น รวม 11,763,550,800 บาท

1.สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน 1,838,770,500 บาท 2.สำนักงาน กกต. 1,442,894,700 บาท 3.สำนักงาน ป.ป.ช. 1,383,580,900 บาท 4.สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 147,248,100 บาท 5.สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน 230,262,400 บาท 6.สำนักงานอัยการสูงสุด 6,720,794,200 บาท

ก้อนที่ 2 เป็นงบประมาณรายจ่ายขององค์กรอิสระ ตั้งงบฯเป็นจำนวน 4,125,548,900 บาท

โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ของบฯรวม 269,791,900 บาท แบ่งเป็น แผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารภาครัฐ 248,357,600 บาท และแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ 21,434,300 บาท

กกต.ของบฯรวม 337,264,900 บาท

เป็นแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง ด้าน ป.ป.ช.ของบฯ 555,744,100 บาท เป็นแผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 552,036,600 บาท และแผนงานยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม 3,707,500 บาท

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ของบฯ 76,521,200 บาท เป็นแผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอรับงบฯ 90,446,100 บาท เป็นแผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ

และสำนักงานอัยการสูงสุด ของบฯ 2,795,780,700 บาท เป็นแผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 2,715,731,200 บาท และแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 80,049,500 บาท

อัยการครองแชมป์ของบฯมากสุด

รวมทั้ง 2 ก้อน องค์กรอิสระขอรับงบฯทั้งหมด 15,889,099,700 บาทโดยสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งถูกจัดอยู่ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในส่วนขององค์กรอิสระ ได้ของบฯมากที่สุด 9,516,574,900 บาท

อันดับ 2 เป็นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ขอรับเงินรวม 2,108,562,400 บาท อันดับ 3 คือ ป.ป.ช. ขอรับงบฯ 1,939,325,000 บาท

อันดับ 4 เป็น กกต. ขอรับจัดสรรงบฯ 1,780,159,600 บาท ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นอันดับ 5 ได้งบฯ 320,708,500 บาท และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นอันดับ 6 ขอรับ 223,769,300 บาท

ถ้างบฯไม่พอ องค์กรอิสระสามารถ “แปรญัตติ” ขอเพิ่มงบประมาณได้

ศาลรัฐธรรมนูญขอ 281 ล้าน

ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกรวมอยู่ในหน่วยงานศาล ตั้งงบฯด้านบุคลากร 173,396,400 บาท และงบฯแผนงาน 108,074,100 บาท ประกอบด้วย 1.แผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 2.แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาบริการประชาชน และการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ 3.แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนากฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม 4.แผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบ รวมที่ตั้งงบฯ 281,470,500 บาท

ขอเงินลดลง 6 พันล้าน

ขณะที่งบฯขององค์กรอิสระใน 2 ปีหลังสุด คือ ปี 2561 และ 2562 พบว่า ในปี 2561 องค์กรอิสระได้รับงบฯ 15,974.7 ล้านบาท ขณะที่ปี 2562 ได้รับ 22,210.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,235.6 ล้านบาท แต่ในคำขอปี 2563 กลับลดลงเหลือ 15,889.0 ล้านบาท ลดลง 6,321.3 ล้านบาท แยกเป็น 1.สำนักงาน กกต. ปี”61 ได้รับงบฯ 2,264.8 ล้านบาท ปี”62 ได้รับงบฯ 8,247.0 ล้านบาท

2.สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ปี”61 ได้รับงบฯ 263.6 ล้านบาท ปี”62 ได้รับงบฯ 264.2 ล้านบาท

3 สำนักงาน ป.ป.ช. ปี”61 ได้รับงบฯ 2,426.7 ล้านบาท ปี”62 ได้รับงบฯ 2,201.7 ล้านบาท

4. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ปี”61 ได้รับงบฯ 2,263.3 ล้านบาท ปี”62 ได้รับงบฯ 2,284.9 ล้านบาท

5.สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปี”61 ได้รับงบฯ 211.9 ล้านบาท ปี”62 ได้รับงบฯ 211.3 ล้านบาท

และสำนักงานอัยการสูงสุด ปี”61 ได้รับงบฯ 8,544.4 ล้านบาท ปี”62 ได้รับงบฯ 9,001.2 ล้านบาท

เมื่อประเทศถูกขับเคลื่อนด้วยบริหาร – นิติบัญญัติ และตุลาการ แต่องค์กรอิสระคือ ปัจจัยที่ 4 กุมชะตาการเมือง