“มาร์ค” ปาฐกถา จากนักวิชาการสู่นายกฯ เจอ น.ศ.ถามเหตุปี’53 ยันความจริงจะถูกพิสูจน์

“อภิสิทธิ์”ปาฐกถา “จากนักวิชาการสู่นายกรัฐมนตรี ภาพการเมืองที่เปลี่ยนไปของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ถูก น.ศ.ชูป้ายประท้วง ชี้รัฐบาลแห่งชาติเป็นไปได้ยาก

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 12 กันยายน ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ปาฐกถาในหัวข้อ “จากนักวิชาการสู่นายกรัฐมนตรี ภาพการเมืองที่เปลี่ยนไปของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ว่าในปัจจุบันสังคมยังไม่ได้มีการมาพิจารณาถึงวิสัยทัศน์ที่จะเดินหน้าประเทศไทยอย่างชัดเจน ในตอนนี้ตนเห็นว่าแม่น้ำ 5 สายนั้น พยายามจะทำให้โครงสร้างการเมืองกลับไปก่อนปี 2535 อาทิ การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี โดยมี ส.ว.ร่วมด้วย ซึ่งบางคนก็เรียกระบบนี้ว่า เปรมโมเดล และล่าสุดก็มีการพูดเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ ที่จะเอาคนกลางเข้ามา สำหรับตนมองว่าแนวคิดนี้นั้นเป็นไปได้ยากมาก เพราะในปัจจุบันประชาชนมีความตื่นตัวในเรื่องสิทธิเสรีภาพมาก มีความตื่นตัวตอนไปเลือกตั้งมากกว่าแต่ก่อน ที่ผ่านมาการรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง ทั้งปี 2549 และปี 2557 นั้น ยอมรับว่าปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจากนักการเมือง ดังนั้น ตนอยากให้มองภาพความเป็นจริงว่าจะแก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างไร ปัญหาของประเทศนั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย แม้จะร่างกฎหมายมาดีเท่าไร แต่ถ้าคนจะหาช่องทางทุจริตมันก็ทำได้ ดังนั้น การแก้ปัญหาจะอยู่ที่วัฒนธรรมทางการเมือง ในต่างประเทศนั้นเขาไม่มีการบังคับว่านักการเมืองต้องมาสภา แต่เป็นเรื่องที่อยู่ในจิตใต้สำนึกอยู่แล้วว่าต้องทำหน้าที่

“การมาพูดว่าสร้างความปรองดองนั้นทุกคนจะคิดเหมือนกันคงเป็นไปไม่ได้ ถ้าคิดแบบนั้นก็คงจะลำบาก ในปัจจุบันเทคโนโลยีนั้นมีบทบาทมากขึ้น โซเชียลมีเดียมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งตนคาดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปนั้นจะมีการต่อสู้ทางโซเชียลมีเดียค่อนข้างมาก ดังนั้น คำถามคือจะทำอย่างไรถึงจะทำให้ทุกคนจะได้รับรู้ข้อมูลต่างๆ อย่างครบถ้วนรอบด้าน และทำให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะถ้าเราอยากเห็นประชาธิปไตยดีขึ้น ทุกคนก็ต้องเป็นคนสร้างให้เกิดขึ้น” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการปาฐกถา มีนักศึกษาประมาณ 4 คน โดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือแพนกวิน มาชูป้ายต่อต้าน โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้กล่าวขอบคุณที่มาแสดงความเห็น และขอบคุณที่ไม่แสดงออกอย่างรุนแรง แต่ปัญหาในตอนนั้นก็คือว่ามีผู้ติดอาวุธแฝงอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้การแก้ไขสถานการณ์ทำได้ยาก อันที่จริงตนก็ถูกวิจารณ์จากอีกฝ่ายว่าทำไมส่งทหารไม่มีอาวุธเข้าไปในวันที่ 10 เมษายน 2553 จนทำให้เกิดความสูญเสีย โดยตนก็ได้พยายามอธิบายได้ทำตามขั้นตอนของกฎหมายในการแก้ปัญหา ซึ่งต่อมาหลังจากเหตุการณ์การยิงอาวุธจากทางฝั่งผู้ชุมนุมแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีทางเลือกต้องขอติดอาวุธ เพื่อเข้าปฏิบัติการต่อไป แต่การปฏิบัติการนั้นก็ต้องมีขั้นตอน มีการออกคำสั่งว่าจะสมารถใช้อาวุธได้ในตอนไหน

“ขอย้ำว่าพยายามจะหลีกเลี่ยงความสูญเสีย แต่เมื่อมีการใช้อาวุธกลับมา มันก็ยากที่จะเลี่ยงความสูญเสีย ซึ่งทุกวันนี้ก็มีวาทกรรมมาต่อว่าตนอยู่ แม้ว่าศาลจะได้ตัดสินไปแล้วก็ตาม ดังนั้น ตนขอตั้งคำถามถามว่าแทนที่จะใช้วาทกรรมมาชี้หน้ากันว่าอีกฝ่ายขี้โกง เป็นฆาตกร ทำไมไม่มาพูดคุยกันแบบปัญญาชน มาค้นหาความจริงกันดีกว่าว่ามันคืออะไร ตนยึดมั่นในคำขวัญของพรรค ปชป.ว่าให้อยู่กับความจริง ถ้าเรายึดมั่นอยู่กับความจริงแล้ว สักวันหนึ่งสิ่งที่เรายึดมั่นก็จะได้รับการพิสูจน์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

 


ที่มา : มติชนออนไลน์