วังวนปฏิรูปตาชั่ง 100 ปี เมื่อ “ตุลาการ” ถูกตั้งคำถาม

เหตุการณ์เขย่าวงการตาชั่ง-ตุลาการศาลถูกพูดถึงเป็นวงกว้างอีกครั้ง หลังจาก “คณากร เพียรชนะ” ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา “เฉียดตาย” จากกระสุนสังหาร คล้อยหลังจากอ่านคำพิพากษาคดี “ห้าศพบันนังสตา”

เอกสาร 25 หน้าของ “ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา” ก่อนตัดสินใจ “เหนี่ยวไกปืน” เปิดประเด็น “แทรกแซงสำนวน-คำพิพากษา” ของ “อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9”

ก่อนความคิดในสังคมจะแบ่งออกเป็น 2 ข้าง จากการเบี่ยงเบนเป็นประเด็นทางการเมือง-ถูกโยงไปถึงพรรคอนาคตใหม่

ย้อนไปเมื่อปี 2560 เกิดเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนแวดวงตุลาการมาแล้ว เมื่อ “ศิริชัย วัฒนโยธิน” อดีตประธานศาลอุทธรณ์ แถลงข่าวลาออกจากตำแหน่ง เพราะไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งข้ามหลักอาวุโส

การแต่งตั้งนายศิริชัย-ประธานศาลอุทธรณ์ในขณะนั้น ให้เป็น “ที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา” เป็นตำแหน่งปลอบใจ ไม่ใช่ “ประธานศาลฎีกา”

เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนายศิริชัย กรณีการ “โอนย้ายสำนวน”

ย้อนไปปี”60 ถูกโยงเป็นประเด็นทางการเมือง เช่นเดียวกับปี”62 เมื่อ “ชีพ จุลมนต์” อดีตรองประธานศาลฎีกา คนที่ 1 ก.ต.มีมติแต่งตั้งเป็น “ประธานศาลฎีกา”

นายชีพเวลานั้นถูกขุดคุ้ยประวัติ-ผลงานสมัยนั่งบัลลังก์รองประธานศาลฎีกา

ในฐานะ “เจ้าของสำนวนคดี” ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินคดีจำคุก
“ยิ่งลักษณ์กับพวก” คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว

ขณะที่เมื่อปี 2556 อาจจะเรียกว่าเป็นวิกฤตตุลาการเล็ก ๆ เมื่อ “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” อดีตประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกมายอมรับระหว่างจัดการสัมมนาต่อหน้าสื่อมวลชน ที่จังหวัดเพชรบุรี

กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “ยุบพรรค” พลังประชาชน ของนายสมัคร สุนทรเวช คดี “ชิมไป บ่นไป” เป็นการวินิจฉัยที่ผิดพลาด

ก่อนเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญจะออกหนังสือชี้แจง-อธิบายปฏิเสธ

หากย้อนกลับไปไกลเมื่อปี 2534 กรณีเกิดความขัดแย้งในการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา ระหว่าง นายสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลฎีกา-อาวุโสสูงสุด กับ นายประวิทย์ ขัมภรัตน์

นำมาซึ่งความแตกแยกในแวดวงตุลาการครั้งประวัติศาสตร์ เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา-ยกเลิกมติคณะกรรมการตุลาการ และสอบสวน-ลงโทษผู้พิพากษาถูกตั้งข้อหากระทำผิดวินัย

จนนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรม เพื่อความเป็นอิสระ-ปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง

หากย้อนกลับไปไกลกว่านั้น วิกฤตตุลาการ “คดีพญาระกา” เป็น “วิกฤตตุลาการครั้งแรก” เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว

ระหว่าง “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์” พระราชอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ “พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์” พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อกรมหลวงราชบุรีฯได้ทำหนังสือถวายขอลาออกจากตำแหน่งเสนาบดี จากนั้น ข้าราชการกระทรวงยุติธรรม 28 คน ได้ลงชื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาออกตาม

ทุกครั้งที่เกิดเรื่องราวในแวดวงตุลาการ-กระบวนการยุติธรรม

มักนำมาสู่การตั้งคำถามจากสังคมว่าเกิดอะไรขึ้น-เกิดขึ้นเพราะอะไร ?