“อภิสิทธิ์” ปิดเทอมการเมือง เล็กเชอร์เศรษฐกิจ เกาะสมรภูมิรัฐธรรมนูญ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

สัมภาษณ์พิเศษ
ปิยะ สารสุวรรณ

ชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หายไปจากข่าวการเมืองราว 4 เดือน

บาป 7 ประการคือความเคลื่อนไหวสุดท้าย ก่อนหายที่เขาจะลับหายเข้าไปอยู่ในห้องเล็กเชอร์ ให้กับหลายสถาบันวิชาการ-ธุรกิจชั้นนำทั้งใน-ต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 40 ครั้ง

เป็นการปิดเทอมใหญ่การเมืองครั้งแรกในรอบ 27 ปี

การสนทนาพิเศษ กับ “ประชาชาติธุรกิจ” อภิสิทธิ์-ยังไม่บอกว่าชีวิตการเมืองจะกลับมาเปิดเทอมเมื่อไหร่

บอกนัยแต่เพียงว่าความใส่ใจต่อบ้านเมืองของเขา…ไม่มีวันหยุด

ความท้าทายเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น-ระยะยาว ?

ตอนนี้ความท้าทายทางเศรษฐกิจมีทั้งความท้าทายเรื่องเฉพาะหน้าและเรื่องโครงสร้าง เรื่องเฉพาะหน้าที่จะลุกลามเป็นเรื่องเชิงโครงสร้าง คือ เรื่องสงครามการค้า เศรษฐกิจระหว่างประเทศถูกทำลายลงโดยมหาอำนาจ และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

แม้คนจะมองว่าการเกิดสงครามการค้าทำให้เราได้ประโยชน์บ้าง มีการเบี่ยงเบนการค้าและการลงทุนเข้ามา คงยากที่จะชดเชยกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการหดตัวของเศรษฐกิจโดยรวมของโลก โดยที่ปัจจุบันไม่เหมือนในอดีต เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานเชื่อมโยงกันทั้งหมด ไม่สามารถหยิบจากที่หนึ่งไปวางอีกที่หนึ่งได้โดยง่าย เมื่อประเทศมหาอำนาจเกิดความขัดแย้งกัน

ภายในสิ้นปีนี้กรณีของเบร็กซิตยังส่งผลกระทบต่อเนื่องทั้งในอียูและอังกฤษเอง และยังมีความไม่แน่นอนทั้งในเรื่องของสงคราม ไม่ใช่สงครามทางการค้า แต่เป็นสงครามจริง ๆ ที่มีความละเอียดอ่อนอยู่ในหลาย ๆ จุด ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง รวมไปถึงกรณีของทรัมป์เอง ทำให้เกิดความไม่แน่นอนเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นปัจจัยภายนอกทั้งหมด รวมถึงปัญหาของจีนเอง เช่น การประท้วงในฮ่องกง ทำให้ไม่เอื้อ ซึ่งที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการส่งออกมากพอสมควร ขณะที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวค่อนข้างชัด

ปัจจัยภายในประเทศเอง กว่าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จะบังคับใช้ต้องล่าช้าออกไปถึงต้นปี’63 และความคุกรุ่นทางการเมืองที่มีอยู่ตลอดเวลา

ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยเฉพาะหน้าทั้งหมดที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ

ขณะที่เศรษฐกิจในเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่หนักกว่า ทั้งปัญหาการลดลงของอัตราการเจริญเติบโตโดยพื้นฐาน ซึ่งเกิดจากการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน หรือผลกระทบที่ยืดเยื้อมาจากกำลังซื้อกับหนี้สินครัวเรือนเป็นตัวถ่วง สังคมสูงวัยแบบรวดเร็วในอีกหลายปีข้างหน้า ผลกระทบจากเรื่องแรงงาน และเรื่องอื่นๆ

รวมถึงแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายจากเรื่องสวัสดิการ เรื่องสุขภาพ และเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ คนส่วนใหญ่ของประเทศยังมีความรู้สึกว่าความเป็นอยู่ไม่ได้ดีขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว และหลายพื้นที่อาจจะแย่ลงในรอบหลายปีที่ผ่านมา ยิ่งจะทำให้ภาพรวมตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ไม่ดีอยู่แล้ว ยิ่งไม่สะท้อนปัญหาขนาดที่แท้จริง เพราะต้องยอมรับว่า คนที่รวยที่สุด อาจจะ 10 เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างมาก ก็ยังคงไปได้ดี ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีอยู่กับกลุ่มนี้เท่านั้น และนโยบายหลายอย่างของรัฐบาลเองที่ออกแบบมาลงไปไม่ถึงคนที่เดือดร้อน

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีเอฟเฟ็กต์บ้างไหม ?

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ได้ถูกทำให้เป็นระบบที่จะเป็นสวัสดิการที่เชื่อมโยงกับเรื่องระบบภาษี เช่น ระบบภาษีติดลบ negative income tax ยังถูกมองเป็นโครงการแบบประชานิยมมากกว่า มีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ ไม่มีความชัดเจน จึงไม่ได้ถูกมองว่าเป็นบัตรสวัสดิการ และรัฐบาลก็ยังมีโครงการชิมช้อปใช้ มีเงินโน้น เงินนี้ออกมา จึงถูกมองแค่ว่าเป็นส่วนหนึ่งของประชานิยม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือกระตุ้นให้คนใช้จ่ายเป็นครั้งเป็นคราว มากกว่าที่จะทำให้เขารู้สึกว่ากำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นในปัญหาเฉพาะหน้าและในเชิงโครงสร้าง มันจึงต้องการการแก้ไข การตอบสนองที่ต้องสามารถสร้างความเชื่อมั่นในภาพใหญ่ได้ถึงทิศทาง ซึ่งปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในขณะนี้คือ สภาพการทำงานของรัฐบาลไม่ได้ถูกมองว่าเป็นการทำงานของรัฐบาล แต่เป็นลักษณะรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง พรรคแต่ละพรรค ต่างคนต่างทำในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าควรจะทำ แต่ไม่สามารถสื่อออกมาได้เลยว่า ทิศทางหลัก วิสัยทัศน์ การนำของรัฐบาลจะนำไปสู่ทิศทางไหนและอย่างไร การตอบโจทย์ในปัญหาเฉพาะหน้าก็จะออกมาแบบเป็นโครงการชั่วครู่ชั่วยามและหายไป โดยทำหลายครั้งแล้ว มาแล้วก็หายไป จึงไม่ได้เป็นคำตอบ

ส่วนการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง ไม่ได้ถูกการผลักดันไปสู่นโยบายที่รัฐบาลพูดเอง คือ นโยบาย 4.0 อย่างแท้จริง รูปแบบของความพยายามในการดึงดูดการลงทุน ยังเป็นรูปแบบในยุคอุตสาหกรรมทั้งนั้น ไม่ได้เป็นยุคหลังอุตสาหกรรม และกฎระเบียบ บทบาทของราชการ การรวมศูนย์อำนาจ ความหยุมหยิมของระบบราชการ ซึ่งกระทบไปถึงคนต่างชาติที่ทำงานอยู่ เพราะไปเอากฎหมาย (ตม.30) สมัยเก่า สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาค่อนข้างมาก ทำให้ศักยภาพของเราในการพลิกในเชิงการปรับโครงสร้างไปสู่เศรษฐกิจใหม่จริง ๆ ยังเกิดขึ้นได้น้อย

ช่วงที่ผ่านมาหรือในช่วงนี้ไม่สามารถเรียกว่าเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านเพื่อปรับโครงสร้างได้ ?

คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้มองว่าภาพที่ชัดเจนเราจะไปไหน จึงจะมองว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านไม่ได้ เพราะไม่รู้จะไปไหน

เป็นเพราะไม่มีหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ?

รองสมคิด (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี) เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจไหม

ท่านสมคิดบอกว่าไม่เป็น ?

อย่างมองด้านเศรษฐกิจเลย มันไม่มีใครมองเห็นภาวะการนำรัฐบาลแต่เห็นการทำงานของบุคคลเท่านั้น เช่น การห้ามหรือไม่ห้ามการใช้ 3 สารเคมีเกิดขึ้น ไม่ได้เห็นภาวะการนำของรัฐบาล

ไม่เห็นภาพว่าเป็นภารกิจของรัฐบาลในการเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจหรือการลงทุน ?

อ่า ซึ่งบางส่วนก็มีความชอบธรรมในการถูกตั้งคำถาม แต่พอมันสะดุดลง เช่น เรื่องการประมูล ยิ่งทำให้ไม่เกิดความมั่นใจมากขึ้น

ปีหน้าเศรษฐกิจเรียลเซ็กเตอร์ชาวบ้านจะเจอกับอะไร ?

จริง ๆ เขาเดือดร้อนมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ทุกคนค่อนข้างหวั่นเกรงว่า การหดตัวเรื่อย ๆ ของการส่งออก เช่น ตัวเลขการจ้างงานเดือนสิงหาคมลดลง ทำให้กระทบมากขึ้น ๆ ในแง่มันอาจจะน่ากลัวกว่าการเกิดวิกฤตแรง ๆ เพราะเหมือนว่าเศรษฐกิจค่อย ๆ ซึม แต่ดิ่งลงไป จมลงไป

ภารกิจในการกู้คืน ไม่ได้ชัดเจน ไม่มี special task force เพราะภาพวิกฤตเศรษฐกิจไม่ชัดมากพอ ?

ใช่ เพราะทุกคนมองเห็นปัญหาเฉพาะหน้า ทุกคนมีความห่วงใยในตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ แต่ไม่ได้มีแผนที่ชัดว่าจะนำเศรษฐกิจไทยออกจากจุดนี้

จะให้พูดถึงเรื่องนโยบายประกันราคาสินค้าเกษตร ว่าสำเร็จ ไม่สำเร็จ อย่างไร

ผมคิดว่าโครงการประกันรายได้ เป็นนโยบายที่จำเป็นและอยากให้ผนวกนโยบายประกันรายได้กับนโยบายประกันสวัสดิการเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างกึ่งระบบสวัสดิการ กึ่งความมั่นคงของรายได้ให้กับประชากรโดยทั่วไป

ส่วนประกันรายได้ผมคิดว่าอย่างน้อยมาช่วยกำลังซื้อให้กับเกษตรกรที่เดือดร้อนมาหลายปีแล้ว เพียงแต่ว่า เรื่องปาล์มกับเรื่องยางพาราเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยทำ ซึ่งขณะนี้เดินหน้าเต็มที่แล้ว คงต้องจับตาดูว่าจะมีอุปสรรคหรือปัญหาไหนบ้าง สิ่งที่มองเห็นค่อนข้างชัดก็คือ ปัญหาความครอบคลุมกับเกษตรกร เช่น เรื่องการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและเรื่องเอกสารสิทธิ์

ขณะเดียวกันลำพังประกันรายได้ไม่พอ เพราะตอนนี้ราคายางพาราและปาล์มค่อนข้างต่ำ ถ้ารัฐบาลไม่เร่งให้มีมาตรการยกระดับราคาขึ้นมา นอกจากเป็นภาระงบประมาณเองแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการทุบราคาของตลาด เพราะอาจจะผลักภาระไปที่รัฐบาล เพราะฉะนั้นจึงต้องเร่งหามาตรการมาช่วยตรงนี้ อย่างไรก็ตามผมคิดว่าเป็นนโยบายที่จำเป็นและได้ขับเคลื่อนแล้วเป็นเรื่องที่ดี

ทำอย่างไรถึงจะสามารถนำไปสู่การแก้ไขเรื่องกลไกตลาดได้ในที่สุด ?

ใช่ครับ รัฐบาลต้องไม่หยุดเพียงแค่มีประกันรายได้แล้ว และไม่มีมาตรการอื่น ๆ ไม่ได้ ต้องเร่งยกระดับราคาสินค้าตัวพื้นฐานอื่น ๆ ไปด้วยพร้อม ๆ กัน

แนวทางประกันรายได้บวกประกันสวัสดิการเป็นอย่างไร?

ทุกวันนี้เราแก้ปัญหาเป็นจุด ๆ เฉพาะจุด น้ำท่วมเราก็บอกว่ามีมาตรการเยียวยา ประกันรายได้เกษตรกรได้เงินชดเชย ขณะเดียวกันเราก็บอกว่าคนยากคนจนเอาบัตรสวัสดิการไปนะ ซึ่งเงินที่ออกไปแบบนี้ยังไม่มีการนำไปพิจารณาอย่างจริงๆ ว่า คน 1 คนอาจจะได้รายได้หลายทาง ขณะที่อีก 1 คน อาจจะหลุดหมดเลยทุกทาง เพราะฉะนั้นคนทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจในเรื่อง universal basic income เพราะความไม่แน่นอนและความไม่มั่นคงในการประกอบอาชีพการงาน การประกอบธุรกิจที่มีสูงขึ้นจากโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว จึงจำเป็นต้องเอาทั้งสองเรื่องมาผสมเข้าเดียวกัน และถ้ารู้จักใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี โดยนำข้อมูลจากบุคคลต่างๆ มาสร้างเป็นฐานข้อมูล

แต่ถ้าเรายังทำงานในลักษณะกระทรวงใครก็ทำเรื่องนั้น เราก็จะไปถึงตรงนั้นไม่ได้ เพราะประกันรายได้บางอย่างยังต้องอยู่กระทรวงเกษตรฯ บางอย่างต้องอยู่กระทรวงพาณิชย์ บางอย่างยังต้องอยู่กระทรวงอุตสาหกรรม บางอย่างยังต้องอยู่กระทรวงพลังงานอีก

คนเป็นนายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจเด็ดขาดในรูปแบบการทำงานรัฐบาลผสม?

สมัยผมผมก็ต้องบอกว่า ผมเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ยิ่งเป็นรัฐบาลผสม ยิ่งต้องอาศัยบารมีของผู้นำรัฐบาลเท่าที่ทำได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งไม่ใช่นายกรัฐมนตรียิ่งทำยาก เพราะขณะนี้รองนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นคนกลาง เนื่องจากมีพรรคอยู่ แต่นายกรัฐมนตรีตอนนี้ ถึงแม้จะบอกว่าเป็นคนกลางก็ไม่เชิง เพราะถูกเสนอชื่อโดยพรรค แต่ต้องพยายามมาขับเคลื่อนให้งานพวกนี้ไปด้วยกัน

ยกตัวอย่างเรื่องการห้ามหรือไม่ห้าม 3 สารเคมีต้องไปวิ่งไล่ถามรัฐมนตรีสาธารณสุข รัฐมนตรีเกษตรฯ รัฐมนตรีอุตสาหกรรม แล้วสุดท้ายเราบอกว่าอำนาจอยู่ที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย คำถาม คือ นโยบายของรัฐบาลคืออะไร

ไม่มีรัฐมนตรี หรือฝ่ายนโยบายพูดชัดๆจากทำเนียบ?

ใช่ไหมครับ ก็ Ok ตอนนี้เคลื่อนไปในทิศทางที่ชัดแล้วว่าจะห้าม แต่ความจริงทำไมไม่เริ่มต้นจากรัฐบาลมีนโยบายว่า จะไม่ใช้แล้วนะ ภายในเวลาเท่าไหร่ พอมีนโยบายชัดว่าจะไม่ให้ใช้ ก็ต้องมีคำตอบว่าเปลี่ยนไปใช้อะไร ขณะที่เรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน แต่เราไม่เห็นการทำงานแบบนี้ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เป็นเรื่องที่เฉพาะเรื่องเดียว ยิ่งพูดเรื่องภาพใหญ่ว่าโครงสร้างเศรษฐกิจจะไปทางไหน ตอนนี้จึงมองไม่เห็นเลย

การเคลื่อนการลงทุนถูกพูดถึงกันเยอะตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว มีเมนูการลงทุนที่ชัดเจน เช่น กระทรวงคมนาคมมีโปรเจ็กต์หลายแสนล้านตามไปป์ไลน์ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล แม้แกนนำ หรือ นายกรัฐมนตรีจะเป็นคนเดิม แต่คนคุมภารกิจเปลี่ยนไป ทำให้เสมือนนับ 1 ใหม่ ทำให้การลงทุนสะดุดหรือไม่?

ผมไม่ได้มองว่านับ 1 ใหม่นะ เพียงแต่ในบางโครงการที่มีปัญหาในขั้นตอนการประมูลก็ตาม ก็ต้องเร่งให้เกิดความชัดเจนว่าจะไม่ไปกระทบกระเทือนในทิศทางหลัก

แต่ภาพที่ชัดออกมาคือคนที่คุมกระทรวงการลงทุนเหล่านี้ ทำให้เกิดภาพไม่ใช่ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ช้า และมีบางสิ่งบางอย่างที่อธิบายไม่ได้ เช่น การแยกสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ความสมเหตุสมผลของการเปลี่ยนแปลงมันไม่เกิด หลังจากนี้ต้องใช้ความลงตัวของการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจหรือไม่?

ผมอยากให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลลดปัญหาอะไรที่ทำให้กระทบกับความเชื่อมั่นในขณะนี้

เหมือนกับว่ารัฐมนตรีที่คุมกระทรวงการลงทุนขณะนี้ถูกฝาถูกตัวมากเกินไป?

ผมจะไม่ไปวิจารณ์ตัวบุคคล ผมต้องการจะบอกเพียงว่า โครงสร้างทางเศรษฐกิจขณะนี้ต้องการความชัดเจน ความเชื่อมั่น ต้องการทิศทางมากกว่าที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ และต้องมีภาวะการนำบางอย่างที่จะสร้างตรงนี้ขึ้นมาได้ เข้าใจดีว่ามันยากเพราะเป็นรัฐบาลผสม เพราะแต่ละคนมีภารกิจ แต่จะเห็นว่าหลายเรื่องเชื่อมโยงกันหมด เช่น นโยบายปาล์ม กระทรวงพลังงานต้องเอาด้วย ต้องมาคุยกันให้ชัด ถ้าแต่ละคนดูแลแต่ในส่วนของตัวเอง มันจะติด ๆ ขัด ๆ เรื่อย ๆ ไป

ขับเคลื่อนไปได้ไม่ทั้งขบวน?

อย่างนโยบายยางพารา กระทรวงคมนาคมจะเอาไปทำถนนแค่ไหน

ถ้าคนยังคิดว่าไม่มีความหวังเรื่องเศรษฐกิจ ถ้าคนยังมีความหวังในเรื่องการเมือง 1 เรื่อง ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญพอจะมีความหวังได้หรือไม่ และถ้าจะหวังจะหวังอะไรได้บ้างจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ?

ผมอยากจะเห็นการสนทนาในเรื่องของทิศทางของรัฐธรรมนูญและการยอมรับความจริงจากทุกฝ่าย แต่ขณะนี้รัฐธรรมนูญจะกลายเป็นสมรภูมิความขัดแย้งไปอีกหนึ่งเรื่องเสียแล้ว รัฐบาลแม้จะมีการแถลงนโยบายว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่แกนนำรัฐบาลส่งสัญญาณในมีทิศทางว่าจะไม่แก้อยู่ตลอดเวลา

ส่วนฝ่ายค้านพอขยับก็ไปสร้างความหวาดระแวงว่าจะรื้อถึงกับขั้นกระทบกระเทือนกับหลายสิ่งหลายอย่างที่คนรับไม่ได้ และระแวงต่อไปอีกว่า รื้อแล้วจะได้อะไรเข้ามาทดแทน เพราะฉะนั้นถ้าบรรยากาศเป็นแบบนี้ก็จะกลายเป็นการต่อสู้ขัดแย้งทางการเมืองมากกว่าจะได้คำตอบว่า รัฐธรรมนูญที่จะมาปรับปรุงแก้ไขจะไปในทิศทางใดอย่างไร

ผมอยากเห็นการสนทนาที่เกิดจากการเริ่มต้นว่า อะไรบ้างที่เราคิดว่าต้องแก้ อะไรบ้างที่เราต้องไม่ยุ่งกับมัน ไม่แก้เลย อะไรบ้างที่เป็นปัญหาอยู่แต่อาจจะยังไม่มีคำตอบและช่วยกันหาคำตอบว่าเราจะแก้มันอย่างไร เช่น หมวด 1 หมวด 2 หรือบางมาตราต้องไม่แก้ไข หรือพูดให้ชัดว่า รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้

การตรวจสอบถ่วงดุลต้องมี แต่กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลในปัจจุบันที่อาจจะมีข้อบกพร่อง มีจุดอ่อนอยู่ เช่น องค์กรอิสระ วุฒิสภาที่ปรารถนาควรเป็นอย่างไร ควรต้องมีหรือไม่ในรูปแบบใด อย่างไร ถ้าเริ่มต้นจากการสนทนาแบบนี้มันก็พอจะมีโอกาสที่นำไปสู่การแก้ไข ซึ่งแก้ไขยากอยู่แล้ว โดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน แต่ถ้าไม่เริ่มต้นด้วยการสนทนาจะเป็นปมความขัดแย้งต่อไป ไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย

ทางเลือกของรัฐธรรมนูญแบบใดจะเป็นทางออกจากสมรภูมิความขัดแย้ง?

ต้องวางประเด็นลงมา อะไรที่คิดว่าในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องเก็บไว้ อะไรที่คิดว่าในรัฐธรรมนูญมันไม่ใช่คำตอบ อะไรเป็นข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข ต้องมาเริ่มต้นพูดคุยกันแบบนี้ มากกว่ามาชี้นิ้วกล่าวหากัน กินได้กินไม่ได้ แก้ได้แก้ไม่ได้

มีคำตอบตายตัวหรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่โครงสร้างอำนาจะเป็นอย่างไร ?

ผมก็มีคำตอบและความเชื่อของผม บางเรื่องก็มีหลายคนที่มีความเห็นไม่ตรงกับผม เพราะฉะนั้นผมก็เข้าใจว่า การไปรีบพูดลงไปในรายละเอียดของสาระมันก็อาจไม่ใช่การเริ่มต้นที่ถูกต้อง แต่ต้องเอาทิศทางใหญ่ ๆ ก่อน เพราะถ้าเราชัดเจนอยู่แล้วว่าประเทศไทยต้องเป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียว แบ่งแยกไม่ได้ อยู่ในรูปของระบบรัฐสภามีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รักษาบทบาทสถาบันหลักที่สืบทอดประเพณีมาอย่างไร แต่ต้องทำให้การเมืองตอบสนองประชาชน มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีลักษณะของการส่งเสริมเรื่องเสรีภาพ มีการเปิดให้โอกาสให้มีบทบาทมากขึ้นที่ไม่ใช่ภาครัฐ การกระจายอำนาจ ซึ่งเราต้องมาตั้งโจทย์แบบนี้ว่าเราจะเคลื่อนกันไปแบบนี้ใช่หรือไม่

การตรวจสอบถ่วงดุลเราจะแก้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาเรามีปัญหาตรงนี้มาโดยตลอด ว่า บางยุคบางสมัยในอดีตตรวจสอบถ่วงดุลไม่ได้เลย กลายเป็นเสียงข้างมากใช้อำนาจตามอำเภอใจ แต่บางยุคบางสมัยกลไกตรวจสอบก็ถูกกล่าวหาเสียเองว่าเข้ามามีส่วนในทางการเมือง มากกว่าเป็นเครื่องมือการตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งต้องเอาสิ่งเหล่านี้มาแลกเปลี่ยนกัน

บรรยากาศขณะนี้เพียงแตะมาตราเดียวก็เกิดการฟ้องร้องกันไปมา?

เพราะไม่มีความชัดเจนกันตั้งแต่ต้น ซึ่งจะสะสมปมความขัดแย้งไปเรื่อย ๆ

เราไปห้ามคนที่มีความเห็นหรือพูดอะไรแบบนั้นไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลว่าต้องไม่แก้เลย

วิกฤตที่สุดทางการเมืองในปีหน้าคาดการณ์ได้หรือไม่ว่าจะมีเรื่องอะไรบ้าง?

ผมไม่อยากให้เกิดวิกฤตขึ้นแต่ผมห่วงว่า หนึ่ง ถ้าการเมืองอยู่ในอารมณ์ของความขัดแย้งแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ถึงจุดหนึ่งมันก็จะรุนแรงขึ้น กับสอง ภาวะเศรษฐกิจหรือความเหลื่อมล้ำ มันจะเป็นตัวป้อนนำไปสู่ความตรึงเครียดในทางสังคม ในทางการเมืองมากขึ้น

ผู้ที่รับผิดชอบจะต้องพยายามคิดไม่ให้ไหลไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร

ระหว่างปัจจัยทางเศรษฐกิจกับปัจจัยทางการเมืองต้องเตรียมตัวตั้งรับอะไรก่อน-หลัง?

ตอบยากครับ เพราะการเมืองบางเรื่องอาจเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวได้ เกิดการจุดประกายขึ้นมาได้ แต่เศรษฐกิจพอมันไม่ดี หรือเกิดความเหลื่อมล้ำสูงจะเป็นเหมือนเชื้อที่ติดได้ง่าย และสุมเข้าไปได้ง่าย

ชีวิตช่วงต่อไของอภิสิทธิ์ บทบาทหลังจากนี้ไปเป็นอย่างไร?

พักผ่อน ไปบรรยายให้ที่ต่าง ๆ ไม่ได้พักมานานมาก พักผ่อนส่วนหนึ่ง แต่ก็เป็นปัญหาอยู่ ไม่ว่าจะไปทำอะไรคนก็ไม่ค่อยเชื่อว่าจะหลุดออกจากการเมืองได้ เพราะอายุยังไม่ได้ที่จะบอกว่าหลุดแล้ว

ยังไม่มีบทบาททางการเมือง-ไม่คิดสมัครผู้ว่าฯกทม. แต่ยังเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี?

อันนั้นมันเป็นโดยรัฐธรรมนูญ เป็นแล้วก็ต้องรอเลือกตั้งครั้งต่อไป มันถึงจะลบหายไป ตอนนี้ก็มีบรรยายอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง

ไปเป็นปัญญาชนนักเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภา?

ไม่ขนาดนั้น เพราะผมเคลื่อนไหวอิสระอย่างนั้นไม่ได้เพราะผมยังเป็นสมาชิกพรรค คนก็ไม่ได้มองว่าเป็นกลาง

บทจะไปถึงขนาดนั้นหรือไม่?

ยังไม่ได้คิด และยังไม่เห็นความจำเป็นต้องคิดและวางแผนถึงขนาดนั้น

เป็นอิสระถึงการกลับไปมีตำแหน่งทางการเมืองมาก เป็นอิสระจากความคิดนั้นไปแล้ว?

ผมไม่ได้ยึดติดว่าจะเป็นอะไร จะไม่เป็นอะไร ใช้เวลานี้ถอยออกมา อะไรที่เกี่ยวข้องมานานก็ยังสนใจติดตามดู เพื่อนฝูงก็ยังติดต่ออยู่ตลอดเวลา ยังอยู่ในสภาพนี้อยู่

ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ส่งใครเป็นผู้ว่าฯกทม. แล้วให้ไปช่วย?

ผมเป็นสมาชิกพรรค ผมก็มีหน้าที่สนับสนุน แต่จะสนับสนุนในรูปแบบไหนที่จะเหมาะสมก็แล้วแต่คนที่เขาลงด้วย

ไฟในการทำงานการเมืองลดลงไป?

ไฟไม่ลดลงหรอก เราต้องดูภาวะของสังคม เราพยายามนำเสนอบางสิ่งบางอย่าง สังคมก็บอกยังไม่ใช่สำหรับเขา เราก็โอเค เราก็ให้โอกาสที่เขาอยู่ในภาวะวันนี้ทำกันไป แต่จะบอกว่าไม่กลับไปเด็ดขาดก็ไม่กล้าพูด แต่ถ้าจะบอกว่าจะกลับไปแน่ ๆ ก็ไม่พูดอยู่แล้ว เพราะยังไม่มีความจำเป็นต้องกลับไป

ไม่กลับในช่วงนี้?

ในช่วงไหนก็ตาม แต่สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง ถ้าไม่กลับไปก็ผลักดันเองในเชิงความคิดในรูปแบบอื่น

ถือเป็นช่วงจังหวะชีวิตที่ดี?

ดี ดีมาก เพราะอยู่ในการเมืองต่อเนื่องมาก 27 ปี แบกความรับผิดชอบในฐานะนักการเมืองมา 14 ปี และเป็นพรรคที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ทุกคนมีเสรีภาพสูง พอได้หยุด ได้พักบ้าง ชีวิตก็มีความสุข ไปไหนก็มีแต่คนบอกว่าหน้าตาสดใสขึ้น แล้วไม่เคยเจอปัญหาว่า เคยเป็นอะไรแล้วไม่ได้เป็นหงุดหงิดอยู่ไม่ได้ ไม่มี

เป็นช่วงเวลาที่ได้พูดอะไรที่ สร้างสรรค์ ?

เพราะไม่ต้องไปแบกตรงนั้นอยู่

ฤดูกาลการเมืองของอาจารย์จะปิดเทอมไปยาวนานแค่ไหน?

ผมไม่ทราบ ไม่ได้คิด ยังไม่มีโรดแมปของตัวเอง

ออกจากพรรคมา 2 เดือน ได้พัก นานไหม?

ผมก็ไม่ได้อยู่เฉย ยังติดตามข่าวสาร แต่ไม่ต้องแบก

ยังภักดีกับประชาธิปัตย์พรรคเดียว-จะตั้งพรรคใหม่หรือไม่?


ผมยังไม่มีความคิดตั้งพรรคใหม่