“ธีรยุทธ” ออกโรง แนะ “บิ๊กตู่” ใช้บารมีดึงสติกองทัพ-ตุลาการภิวัตน์ถอยกลับกู้วิกฤตขัดแย้ง

ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และมูลนิธิ 14 ตุลา จัดกิจกรรมรำลึกครบ 46 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2562 โดย นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “ประชาชน พรรคการเมือง ทหารไทย ติดกับดัก ก่อวิกฤตใหม่ประเทศไทย” ว่า

@ ติดหล่ม สังคม 3 ยุค

สังคมไทยไม่มีเป้าหมาย จนกลับมาติดกับดักตัวเอง นับจากปี 2500 กล่าวได้ว่า เมืองไทยมี 3 ยุคคือ 1.ยุคพัฒนา (2505-2535) สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อ พล.อ.เปรม ประเทศไทยมีเป้าหมายคือการพัฒนาให้ก้าวขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมแถวหน้าของภูมิภาค ซึ่งได้ผลน่าพอใจ พร้อม ๆ กันไปคือการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งมีทั้งผลดีผลเสียสลับกันไป เพราะยังมีการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองสูง จนมีการแทรกแซงโดยรัฐประหารหลายหน

2.ยุคปฏิรูป ช่วงปี 2535-2557 สังคมมองเห็นทางออกจากปัญหาคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจอย่างไร้สำนึกของนักการเมือง จนเกิดเป็นเป้าหมายใหญ่ของประเทศร่วมกัน คือการปฏิรูปการเมือง แต่กลับล้มเหลว เพราะแม้จะเกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่มากของพันธมิตรและ กปปส. มีการรัฐประหาร 2 หน ก็สะท้อนว่าพลังอนุรักษ์ ระบบราชการ และกองทัพ ไม่พร้อมและไม่สามารถทำการปฏิรูปใด ๆ ได้ เป้าหมายการปฏิรูปจึงคงจะฝ่อลงไปเรื่อยๆ

3.ยุคปัจจุบันคือ (2557-2562) ยุคติดกับดัก เพราะไม่สามารถพบเป้าหมายที่เป็นทางออกได้ อันที่จริง มีเป้าหมายหนึ่งคือ “ประชาธิปไตยที่กินได้” หรือนโยบายประชานิยมที่จับใจชาวบ้าน จนกลายเป็นเสียงที่เหนียวแน่นของพรรคไทยรักไทย แต่ประชานิยมที่เกิดมาทั่วโลกเป็นเพียงเครื่องมือของการเลือกตั้ง ไม่สามารถเป็นเป้าหมายของประเทศได้ และพิสูจน์มาแล้วว่าไม่ยั่งยืน

@ อนาคตใหม่ ไร้แผนข้ามขัดแย้ง

Advertisment

ส่วนพรรคอนาคตใหม่มีฐานเสียงเป็นชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ที่ไม่พอใจระบบเก่า 2 พรรคนี้ยังไม่มีการเสนอยุทธศาสตร์แผนงานหลักที่จะนำพาประเทศข้ามความขัดแย้งนี้ไปข้างหน้า เน้นการจุดประเด็นซึ่งเป็นจุดขายของขบวนการประชานิยม และมักกลายเป็นความขัดแย้งกับฝ่ายรัฐ ส่วนพลังฝ่ายอนุรักษ์หรือทหารเอง แม้จะได้อำนาจมา 5 ปีเศษ แต่ก็ติดกับดักความคิดที่เน้นเฉพาะความมั่นคง ไม่มีเป้าหมายที่จะกินใจประชาชนจนเกิดเป็นเป้าหมายร่วมของประเทศได้

@ “ความเมือง” ครอบงำ “การเมือง”

Advertisment

กระบวนทรรศน์ใหม่ที่เข้ามาครอบงำคนไทย ระบบคิดที่เรียกว่า “ความเมือง” เข้ามาแทนที่ระบบคิดแบบ “การเมือง” ในวงการรัฐศาสตร์มีความคิดหนึ่งซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้น คือความคิดว่าสิ่งที่สะท้อนแก่นแท้ของสังคมมนุษย์มากกว่า “การเมือง” (the politic) คือสิ่งที่เรียกว่า “ความเมือง” (the political) คำว่า การเมือง ซึ่งนิยามว่าเป็นพื้นที่การแข่งขันของความคิดที่ต่างกัน เป็นความไม่ชอบไม่พอใจ (innimicus) หรือโกรธชังกัน (exthrós) ระหว่างบุคคลก็ได้ แต่ก็สามารถหาข้อสรุปโดยเสียงส่วนใหญ่ได้ แต่ทัศนะใหม่เรื่องความเมืองเป็นเรื่องการต่อสู้แบบรวมเบ็ดเสร็จ (totality war) ของกลุ่มคนซึ่งมองอีกกลุ่มในแง่เป็นพวกเรากับศัตรู (the enemy) เป็นความสัมพันธ์เชิงสงคราม (hostis, polémios) ผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดในท้ายที่สุดคือองค์อธิปัตย์ (sovereignty) ของกลุ่ม ซึ่งอาจเป็นผู้นำรัฐหรืออำนาจทางกฎหมายก็ได้

@ มองพวกอื่นเป็นศัตรู

หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกครั้ง ทั้งประชาชนและนักการเมืองไทยจะมองว่าประเทศได้ก้าวเข้าสู่กระบวนการเมืองประชาธิปไตยปกติ คือการแถลงนโยบาย ทัศนะของแต่ละฝ่าย การตรวจสอบ หักล้างด้วยหลักฐานโวหารเหตุผล เพื่อนำไปสู่การแก้ไขผิดเป็นถูก หรือเพื่อล้มรัฐบาลไปสู่การเลือกตั้งใหม่ก็ได้ แต่น่ากังวลว่าปัจจุบันคนไทยส่วนหนึ่งกำลังรับกระบวนทรรศน์แบบ “ความเมือง” ซึ่งมองพวกอื่นเป็นศัตรูที่ต้องล้มล้าง มาใช้แม้ในภาวะปกติซึ่งไม่ได้มีวิกฤตใด ๆ ทำให้เราได้พบเห็นนักการเมืองกลายเป็น “นักความเมือง” พรรคการเมืองกลายเป็น “พรรคความเมือง” นักวิชาการกลายเป็น “นักโฆษณาความเมือง” ทหารฝ่ายความมั่นคงเป็น “ทหารฝ่ายความเมือง”

@ รัฐ-ทหารวางยุทธศาสตร์พลาด

เราได้เห็นนักเคลื่อนไหวความเมือง พวกเขาเริ่มต้นด้วยการมองการกระทำของอีกฝ่ายไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ใด ๆ เป็นภยันตรายร้ายแรงต่อบ้านเมือง เป็นศัตรูที่จะต้องถูกทำลายลงไป ด้วยการขยายประเด็นเกินเหตุและผล ไปจนถึงการฟ้องร้องหาเรื่องดำเนินคดีความ รวมทั้งการใช้อิทธิพลกดดันกระบวนยุติธรรม บางครั้งก็ใช้มาตรการป้องกันล่วงหน้า ปักธงล่วงหน้า (preemptive) ก่อนอีกฝ่ายจะดำเนินการใด ๆ ด้วยซ้ำ ระบบคิดแบบความเมืองทำให้ความขัดแย้งขยายตัวน่ากลัวขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มจากความขัดแย้งเหลือง-แดง ซึ่งเป็นเรื่อง ชนชั้นล่างชั้นกลางในชนบท กับชนชั้นกลาง ชั้นสูงในเมือง ต่อมาเพิ่มประเด็นความเป็น ภาคเหนือ อีสาน ใต้ ความขัดแย้งเผด็จการ-ประชาธิปไตย การเลือกตั้งหลังสุดก็เพิ่มประเด็น คนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ความคิดเก่า ความคิดใหม่ ชาติมหาอำนาจเองก็แสดงจุดยืนชัดเจนคือ ชาติตะวันตก หนุนฝ่ายเสื้อแดง จีนหนุนฝ่ายอนุรักษ์กับทหาร การที่ความขัดแย้งขยายตัวมาตลอด บ่งชี้ว่ารัฐบาลกับทหารจัดการกับวิกฤตการผิดพลาด มองปัญหาใจกลางผิด

@ คนติติงสถาบันแค่ส่วนน้อย

การมองปัญหาใจกลางผิด อาจนำไปสู่ปัญหาใหม่ที่ร้ายแรง ทหารเอาค่านิยมของทหารเองในเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบัน ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ยกให้เป็นปัญหาหลักของประเทศ (ปัญหานี้มีความสำคัญยิ่ง แต่ที่จะหยิบยกให้เป็นปัญหาหลักโดยแง่ความเร่งด่วน อาจผิดพลาดทั้งยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ปัญหาที่ควรหยิบยกเพื่อให้ได้ใจประชาชนส่วนใหญ่ ควรเป็นปัญหาปากท้อง ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งกระทบประชาชนสูงมาก ปัญหาความมั่นคง ควรแก้ไขในลักษณะที่นิ่มนวล แบบแสดงความเข้าใจกันและกัน) เพราะประชาชนทั้งประเทศยึดอยู่ในค่านิยมนี้อยู่แล้ว แต่ส่วนที่อาจจะไม่ชื่นชม ติติงสถาบัน เป็นเพียงส่วนน้อยไม่มีพลังที่เป็นนัยยะสำคัญเลย และที่พวกเขาพูดถึงก็มักจะเป็นการพูดถึงสถาบันกับโลกยุคใหม่เพื่อให้ประเพณีปกครองประเทศส่วนนี้ยั่งยืนสถาพรต่อไป (ส่วนการพูดถึง ซุบซิบนินทาผู้นำประเทศ ดารา เป็นเรื่องสนองความอยากรู้ของมนุษย์ที่มีมาทั่วโลกทุกยุคทุกสมัย จะห้ามปรามอย่างไรก็ไม่สำเร็จ)

@ หวั่นเกิดความรุนแรงขึ้นจริง

การที่กองทัพโยงประเด็นความมั่นคงเข้ากับ สงคราม hybrid สะท้อนว่า ทหารเชื่อว่าสังคมไทยซึ่งในยุครัฐประหารของ คสช ยังอยู่ใน “ภาวะสงครามกลางเมือง” แต่พอ 5 ปีผ่านไป สังคมก็ได้พัฒนาความขัดแย้งมาเป็นสงคราม hybrid ซึ่งร้ายแรงกว่าเดิม เพราะเป็นสงครามยุคหลังสมัยใหม่ที่ไม่จำกัดรูปแบบการต่อสู้ แต่ที่จริงแล้วคติสงครามที่ไร้รูปแบบมีมาตลอด เช่นเรื่องวัสการพราหมณ์ในสมัยพุทธกาล ยุคอาณาจักรลานนา เชียงใหม่ก็ส่งไส้ศึกไปบ่อนทำลายลำพูน ทหารลำปางเคยก่อวินาศกรรมในเชียงใหม่ พม่าส่งสายลับมาทำแผนที่กรุงธนบุรี ปัจจุบันทุกชาติพยายามโฆษณาชวนเชื่อแนวทางของตัวเอง เอาข้อมูลความลับทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหารของกันและกันอย่างเป็นปกติ การนำเอาภาวะไม่ปกติแบบภาวะสงครามมาขยายภาพเกินจริงในภาวะปกติ (normal) ของประเทศหรือโลก มักจะทำให้ความรุนแรงขยายตัวและเกิดสงครามจริง ๆ ขึ้นในที่สุด

ประเทศไทยเคยเกิดความขัดแย้งแบบ “พวกเรา-ศัตรู” เพียงหนเดียว คือการสร้างความคิดฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป และถือนักศึกษาเป็นภัยคอมมิวนิสต์ที่ต้องฆ่าทำลายล้างในช่วง 6 ตุลาคม 2519 แต่การเกิด “ระบบความเมือง” ในขณะนี้ มีการเคลื่อนไหวกว้างขวางจากหลายฝ่ายในสังคม ทั้งฝ่ายมวลชน การใช้สื่อออนไลน์ เฟกนิวส์ สื่อทางการ นักเคลื่อนไหว นักกฎหมาย หน่วยราชการ กองทัพ กระบวนการศาลฯ ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น เป็นวิกฤตใหม่ที่ควรกังวลและต้องช่วยกันให้ทุกฝ่ายคลี่คลาย ผ่อนความขึงตึงจนเกินไปลง

@ รัฐธำรงความเป็นกลาง คือทางออก

หนทางแก้ไข 1.สังคมทั่วไปควรมองสถานการณ์ให้กระจ่าง ตั้งสติอยู่ตรงกลาง หรือเสริมพลังทางบวกที่จะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ของสังคม เสริมความรู้สึกแบบเพื่อนมิตร อย่างรับเหตุผลที่เปิดกว้างหลากหลาย ก็จะไม่ไปช่วยเสริมกระแสพวกเรา-ศัตรูที่เกิดขึ้น 2.ฝ่ายรัฐต้องธำรงความเป็นกลาง ไม่เข้าไปร่วมการใช้ “ความเมือง” ทำลายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะ “ความเมือง” หมายถึงความขัดแย้งแบบทำลายล้างในภาวะสงคราม ถ้าหน่วยรัฐร่วมเป็นฝักฝ่ายด้วยก็จะสร้างความหวาดกลัวว่า รัฐบาลมีความเชื่อว่า “กำลังมีสงครามภายใน” หรือรัฐบาลกำลังประกาศภาวะสงครามหรือความเป็นศัตรูกับประชาชนบางกลุ่ม ซึ่งไม่เป็นผลดีอย่างยิ่งกับบ้านเมือง

@ แนะตุลาการภิวัตน์ ลดบทบาท

ศาลและระบบยุติธรรมเอง ก็ต้องตรึกตรองทุกคดีความหรือทุกปัญหาอย่างมีวิจารณญาณและหลักยุติธรรมอย่างแท้จริง บางทีอาจต้อง devolute คือถอยกระบวนการตุลาการภิวัตน์กลับบ้าง (devolution = วนกลับ กระจายศูนย์ ลดบทบาท) เหมือนกับที่เกิดในสหรัฐและอีกเกือบทุกประเทศ ซึ่งควรจะช่วยบรรเทาความรุนแรงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้จากกระบวนทรรศน์ “ความเมือง” ที่กำลังแผ่ขยายอยู่ในขณะนี้
งานที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ควรทำ รัฐบาลประยุทธ์ในช่วงรัฐประหารมีผลงานจับต้องได้จำนวนหนึ่ง คือโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และการรักษาความสงบไม่ให้มีการชุมนุมประท้วง ส่วนการปฏิรูประบบไม่เกิด การสร้างความสมานฉันท์ก็ไม่เกิด รัฐบาลประยุทธ์ซึ่งมาจากเลือกตั้งจะยิ่งทำงานลำบากกว่าเดิมมาก เพราะโดยโครงสร้างรัฐบาลจะอยู่รอดต่อไปได้ ต้องจัดสรรผลประโยชน์มาให้ทุกกลุ่มการเมือง ซึ่งในที่สุดจะต้องพึ่งพากลุ่มทุนใหญ่

@ บิ๊กตู่ต้องโฟกัส ปัญหาปากท้อง

ดังนั้นภารกิจหลักของรัฐบาลในช่วงหน้าก็คือจะกลายเป็นการดำเนินนโยบายโครงการให้กับกลุ่มทุนใหญ่ เป็นรัฐบาลทหารเพื่อกลุ่มธุรกิจใหญ่นั่นเอง อย่างไรก็ตาม คาดว่าคนจำนวนมากยังต้องการให้ประเทศได้มีรัฐบาลบริหารงานไปอีกสักระยะหนึ่ง ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ควรปรับปรุงวิธีการทำงาน เพราะการควบคุมประสานพรรคร่วมลำบากยากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ควรตั้งเป้าหมายระยะยาว แต่ต้องทำให้ได้ผลจริงจังสักสองสามเรื่องก็พอ

อย่างแรก คือ โฟกัสการแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้าน ที่ผมเคยเรียก “รวยกระจุก จนกระจาย กลางกระจ้อน” (กระจ้อน = แคระ แกร็น) อย่างจริงจัง เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำมีสูง คนจน คนชั้นกลางก็ลำบากจริง ๆ การแก้ปัญหานี้จริง ๆ ทำได้ยาก แต่นายกฯก็ต้องทุ่มเททำ

@ ปฏิรูป การศึกษาสู้ disrupt

อย่างที่สอง คือ การเพิ่มคุณภาพของคนในทุกวัยในด้านการศึกษาพัฒนาทักษะใหม่ อาชีพใหม่สำหรับเศรษฐกิจแบบ disruptive ที่เกิดขึ้นรวดเร็วในหลาย ๆ ด้าน ต้องใช้อำนาจบารมีตัวนายกฯ ประยุทธ์เองลงมือแก้ปัญหาเอง การแก้ปัญหาครบทั้งต้นน้ำปลายน้ำ เช่น ต้องมีการประกันรายได้การงานให้ และควรทำแบบเลือกสรรเฉพาะส่วน เพราะการปฏิรูปทั้งระบบใหญ่โตเกินไป ไม่สามารถทำได้จริง ถ้าทำเช่นนี้ ก็จะเป็นการเลือกลำดับความสำคัญได้ถูกต้องใกล้เคียงมากที่สุด

@ หวังประยุทธ์ใช้บารมีหย่าศึก

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายนายธีรยุทธ เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวได้สอบถามโดยไม่ขอตั้งฉายารัฐบาล โดยกล่าวถึงวิกฤตความขัดแย้ง หากไม่มีความพยายามทางออก ว่า น่าเป็นห่วงมาก ลักษณะที่มีโอกาสเกิดคือจะเกิดวาทกรรมที่แรงขึ้นไปเรื่อยๆ และจะค่อยๆทำลาย คนที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มอื่น หรือคนอื่นที่ละเล็กละน้อย อย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกมองเป็นฮ่องเต้ซินโดรม ใกล้ไปทางฮ่องกง ถูกผลักเป็นคนส่วนน้อย สร้างความเป็นอื่น ถอดความเป็นตัวตนทิ้งไปเรื่อยๆ ให้เปลือยเปล่า ไม่มี identity จนในที่สุด รวมทั้งสร้างภาพว่าเป็นยักษ์เป็นมาร เช่น คอมมิวนิสต์เคยถูกสร้าง จนกระทั่งพระสงฆ์องค์หนึ่งในช่วง 6 ตุลา เทศน์สั่งสอนว่าฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป จะนำไปสู่ลักษณะนี้ การขยายความของพวกความเมืองจะเกิดขึ้น จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงจริงๆ ได้ เริ่มเห็นความจริงไปเรื่อยๆ

“ปกติในสังคมอดีต มีความคิดความเชื่อเรื่องวุฒิภาวะอยู่ ดังนั้นจะมีบุคคลในสังคมเป็นผู้มีวุฒิภาวะอาวุโสในวงการสภา วงวิชาการ เป็นผู้ออกมาช่วยพูดประคับประคองไม่ให้เกินเลย ตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ มีบารมี มีฐานเยอะ ควรใช้ ถ้าใช้พูดด้วยลักษณะเป็นผู้ใหญ่ให้สถานการณ์สงบ เรียบร้อย นุ่มนวล ให้กำลังใจคน ปล่อยวางบางเรื่องบ้าง