งบฯ 63 ผ่านวาระแรกฉลุย “ฝ่ายค้าน” ขู่ รัฐบาลไม่ทำตามคำแนะนำ วาระ 2-3 เจอคว่ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการอภิปราย ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 พ.ศ….. วันที่ 3 เดินทางมาสู่ช่วงสุดท้าย โดยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน อภิปรายปิดในส่วนของฝ่ายค้าน ตอนหนึ่งว่า ภาพรวมที่น่าสนใจคือ หากเทียบการจัดงบประมาณ 100 บาท งบประจำ 80 เปอร์เซ็นต์ งบลงทุน 20 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่างบพัฒนาประเทศมีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่งบฯค่าจ้างมีเพียง 80 บาทเท่านั้น ตนต้องทวงที่รัฐบาลยึดอำนาจเข้ามา โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศ การจัดงบประมาณต้องปฏิรูปด้วย ถ้างบลงทุนน้อย ประสิทธิภาพการบริหารงบฯยังน้อย จะไปกู้ภาวะเศรษฐกิจได้อย่างไร อีกทั้งยังลงทุนในส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

“ปีที่แล้วรัฐมนตรีตอบเองว่าเก็บรายได้เกินเป้าเกิน 1 หมื่นล้านบาท แต่ปีนี้บอกจะแสนล้านบาท เกินความเป็นจริง เขายังห่วงว่าจะหาเงินไม่ได้ ส่วนอีอีซีกำลังจะเป็นโฮปเวลล์สอง เพราะต่างชาติไม่มา เมื่ออีอีซีตั้งความหวังแล้วต่างชาติไม่มาเพราะประเทศไม่มีหลักนิติรัฐ หลายอย่างความเชื่อมั่นของนักลงทุนไม่มา ดังนั้นภาครายรับเป็นไปไม่ได้ ไม่เชื่อว่าจะจัดเก็บรายได้อีก 1 แสนล้านบาท ถ้าประมาณการรายรับผิด รายจ่ายก็เป๋” นายสุทิน กล่าว

นายสุทิน อภิปรายว่า โครงการ ชิม ช้อป ใช้ เที่ยวเมืองรอง แม้ชาวบ้านบอกดี มีการหมุนเวียนของเงิน ตนฝากไปยังรัฐบาล เอาเงินไปแจกชาวบ้านใครไม่ชอบ มันอยู่ที่คนแจกแล้วมีผลกลับมาได้ภาษีคุ้มค่าหรือไม่ มีการหมุนเวียนหรือไม่ เหมือนลุกดีใจอยากให้ลุกหอมแก้มจ่ายเงิน แต่ถ้าจ่ายลูกให้เงินไปทำงานถึงจะให้เงินมีข้อแลกเปลี่ยน ชิม ช้อป ใช้ทำให้ชาวบ้านดีใจ แต่สิ่งที่น่าคิดคือ มันหมุนกี่รอบ หรือหมุนไปเข้ากระเป๋าใคร มีสมาชิกบอกว่าเข้ากระเป๋าคนรวย มีรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือ ทีดีอาร์ไอ บอกว่าชิมช้อปใช้และเที่ยวเมืองรองทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนน้อยมาก การใช้จ่ายแบบเฮลิคอปเตอร์มันนี่นั้น มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ต่างประเทศบอกว่า ถ้ารัฐบาลเก็บภาษีได้เข้าเป้า ควรใช้จ่ายแบบเฮลิคอปเตอร์มันนี่ คือนำเงินไปแจก แต่วันนี้ภาครัฐเก็บภาษีเข้าเป้าหรือไม่ ทั้งที่มีการกู้เงิน ใครบอกว่าดีกู้เงินแล้วมาแจกชาวบ้าน จึงขอให้รัฐบาลคิดใหม่

นายสุทิน กล่าวว่า สิ่งที่อยากเตือนรัฐบาล เช่น โครงการประกันราคาสินค้าการเกษตร เป็นโครงการที่ดีขอให้ทำต่อ แต่ต้องหาทางปิดไว้ 1.ประมาณการรายได้ไม่ได้ ถ้าราคาผันผวนจะเอาเงินตรงไหนมาจ่าย 2.ที่รับซื้อไปก็จ่ายแทนนายทุน พอมีประกาศราคาปุ๊บราคาตก เพราะพ่อค้ารวมหัวกดราคาต่ำลง แล้วรัฐต้องจ่ายเท่าไหร่ แม้ขณะนี้ข้าวยังไม่ตก เพราะไม่มีข้าวขาย จากเหตุแล้ง น้ำท่วม กดราคาข้าวไม่ลง แต่ยาง ข้าวโพด มันสำปะหลัง นายทุนกดลง รัฐบาลเตรียมตัว ราคาติดดิน 3.ให้ชาวบ้านแจ้งพื้นที่การเพาะปลูกจะเป็นช่องทุจริต ไปสร้างนิสัยทุจริตให้ชาวบ้าน

“แต่ถามว่าเอาเงินมาจากไหน งบประมาณในการมาประกันสินค้า ถามไปถามมาให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จ่ายก่อนแล้ว ธกส.มาเบิกกับรัฐ นี่ไงที่บอกรัฐบาลที่แล้วทำผิดไม่เอางบประมาณเข้ามาใน พ.ร.บ.งบประมาณ ทำให้ตรวจสอบไม่ได้ แล้วงบจะบานเบอะ ทำผิดกฎหมายงบประมาณ ไม่ทันเกมพ่อค้าจะทำให้รัฐเสียหาย แต่เกษตรกรได้โอนตรงให้เกษตรกรต้องขอบคุณ แต่จะประเมินว่าขาดทุนเหมือนจำนำข้าวหรือไม่ จำนำข้าวจ่ายไปมีข้าว แต่นี่ไม่มีข้าว เราไม่ประเมินว่าขาดทุน” นายสุทิน กล่าว

นายสุทิน อภิปรายต่อว่า ส่วนงบไปความมั่นคงเยอะ พัฒนาคน และเศรษฐกิจน้อย แก้ไม่ตรงจุด ปัญหาคือเศรษฐกิจ แต่ไปลงทุนความมั่นคง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เอาเงินไปสะสมอาวุธหลายประเทศจน เพราะงบประมาณมาพอกที่อาวุธ เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่หลังสงครามโลกครั้งที่  2 หลายประเทศตัดงบสงครามออกมาพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น ญี่ปุ่น ตัดงบกลาโหม แล้วเอามาพัฒนาประเทศ ไทยไม่มีสงครามทำไมไม่ตัดงบแล้วมาพัฒนาเศรษฐกิจ

ส่วนกระทรวงศึกษาธิการ ที่ระบุว่าจะเพิ่มขีดความสามารถ แล้วไปตัดงบมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาตัดงบลงจนต่ำกว่างบกระทรวงกลาโหม แล้วเราจะพัฒนาคนหรือพัฒนาอะไร กระทรวงศึกษาจัดอันดับมาเท่าไหร่ไม่ติดอันดับ มหาวิทยาลัยไทยตกอันดับโลก 1-200 เราอยู่ 400 เรียกว่าตกอันดับโลก ดังนั้น ตัดงบความมั่นคง โยกมาที่กระทรวงศึกษา กระทรวงสาธารณสุขได้หรือไม่

เรื่องรายได้งบประมาณฝ่าค้านต้องยื่นตีความ เพราะศาลรัฐธรรมนูญตีความเป็นรายได้ของแผ่นดินต้องเอามาเข้า พ.ร.บ.งบประมาณ งบท้องถิ่นไม่เป็นไปตามระเบียบวิธีงบประมาณ งบกลางสูงขึ้นตลอด 9 หมื่นล้าน ทั้งที่งบกลางตรวจสอบไม่ได้ ไม่โปร่งใส ไม่มีแผนงานรองรับ ซึ่งการทำงบกลางเยอะไม่มีการวางแผน รัฐบาลแอบคิดอะไรอยู่ หรือ งบกลางที่ตั้งไว้แอบไว้ใช้หนี้เหมืองอัครา คนเข้าใจว่าแพ้คดีไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้าน ถ้าไม่ใช่ต้องรีบชี้แจง

นายสุทิน อภิปรายเสนอแนะว่า 1.ยอมรับความจริง ถ้าคนเราจะแก้ปัญหาโดยไม่ยอมรับความจริงจะล้มเหลวแต่ต้น ถ้ายอมรับความจริงจะพัฒนาได้ ยอมรับว่าเศรษฐกิจมีปัญหา ชาวบ้านลำบาก ถ้ายอมรับแล้วชาวบ้านจะยิ้ม 2.ไปเกลี่ยงบใหม่ สิ่งไหนที่คิดว่าฝ่ายค้านแนะนำถูกต้องอยากให้เกลี่ย เกลี่ยมาที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ การศึกษา การพัฒนาคน เกลี่ยจากรัฐรวมศูนย์ที่เป็นงบบริหารจัดการ เกลี่ยไปปลายทางได้หรือไม่ การแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำที่สำคัญที่สุด คือ ยิ้มได้อย่างเดียวประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค มีกองทุนสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนประกันสุขภาพ 3 กองทุน ข้าราชการต่อหัว 1.5 หมื่นบาท บริษัทต่อหัว 6 พันบาท ประกันสุขภาพ 3.6 พันบาท คนเหมือนกันทำไมต่างกัน

นายสุทิน กล่าวว่า ถ้าไม่ยุบรวมกันก็ไว้เหมือนเดิมแต่ไปปรับเกลี่ยใหม่ ตัดงบกองทุนข้าราชการ มาโปะให้ชาวบ้าน สิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้องคือการฟอกไต ครอบคลุมถึงอุบัติเหตุ ถ้าทำได้จะเป็นเทวดาเลย ขวัญใจชาวบ้าน ไม่ต้องควักเงินเพิ่ม  ถ้าประมาณการรายรับต่ำ ผิดเป้า กลัวท่านไปกู้ภาษี กับ รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม เสนอว่า ไม่ต้องกู้เพิ่ม ไม่ต้องเพิ่มภาษี ไปปรับปรุงประสิทธิภาพบริหารงบประมาณ สิ่งที่ค้างท่อ 30-40 เปอร์เซ็นต์ รีดให้ออก เงินจะหมุนได้มาก น่าน้อยใจประเทศจนกู้เงินเพิ่ม กู้แล้วใช้ไม่ทัน ใช้ไม่ถูก จะมีโอกาสได้เห็นการปรับปรุงหรือไม่ หวังว่าจะได้นำข้อแนะนำไปปรับปรุงในวาระที่ 2 ยังมีเวลา และฝ่ายค้าน กระทรวงศึกษา ยินดีปรับปรุง เปลี่ยนแปลง อยากเห็นที่สุดไม่อยากเห็นนายกฯ ยุบสภาหรือลาออก ลาออกก็ไม่อยากเห็น แต่อยากได้งบประมาณที่ดีที่สุด

“วันนี้ที่ว่ามาทั้งหมด ถ้าจะยกมือให้ก็ทำใจลำบาก ถ้าจะยกมือให้ตกเราก็ห่วงประเทศ ใจไม่ได้ด้านพอ ห่วงชาวบ้านรอใช้เงิน และยิ่งช้ามา 4 เดือน มีเวลาใช้เงินไม่ถึง 8 เดือน จะให้โอกาส ท้ายที่สุดชาวบ้านมองเห็นโอกาสของชาวบ้าน ก็จะให้โอกาสผ่านไป แต่มีข้อแม้ว่าในวาระ 2 หวังว่าเราจะช่วยกันดีที่สุดที่ทำได้ แก้ตามที่อำนวย ถ้าทำได้วาระ 3 ยกมือให้ทุกคน ผ่าน บ้านเมืองเดินหน้าได้ แต่ถ้าไม่ทำขอสงวนสิทธิคว่ำเลย อย่าประมาท เลือกตั้งครั้งหน้ามือพวกผมอาจจะเยอะกว่าพวกท่านก็ได้ ฝ่ายค้านให้โอกาสรัฐบาลไปทำตามที่พวกผมเสนอแล้ววาระ 2 วาระ 3 ค่อยว่ากันอีกที” นายสุทิน อภิปราย

จากนั้น ที่ประชุมลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เห็นด้วยเสียง 251 ต่อ 0 เสียง  งดออกเสียง 234 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น  488 คน ต่อมาที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จำนวน 64 คน

แบ่งเป็นคณะรัฐมนตรี กมธ.ในส่วน ครม.15 คน สัดส่วนพรรคการเมือง 49 คน แบ่งเป็น เพื่อไทย 13 คน พลังประชารัฐ 12 คน อนาคตใหม่ 8 คน ประชาธิปัตย์ 5 คน ภูมิใจไทย 5 คน รวมพลังประชาชาติไทย 1 คน ชาติไทยพัฒนา 1 คน พลังปวงชนไทย 1 คน ประชาชาติ 1 คน เพื่อชาติ 1 คน เศรษฐกิจใหม่  1 คน โดยกำหนดระยะเวลาการแปรญัตติในวาระที่ 1 เป็นเวลา 30 วัน โดยเริ่มประชุมนัดแรก พฤหัสบดี 24 ตุลาคม 10.00 น.รัฐสภา เกียกกาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเวลา 18.00 น. 7 พรรคฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังปวงชนไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ ได้ประชุมถึงแนวทางการลงมติ โดยที่ประชุมมีมติว่า 243 เสียงที่มีอยู่ในสภาขณะนี้จะงดออกเสียง แต่ปรากฏว่า ภายหลังการลงมติ เสียงฝ่ายค้านที่งดออกเสียง 234 เสียง หายไปประมาณ 9 เสียง อย่างไรก็ตาม หลังรวมผลคะแนนเสร็จสิ้น น.ส.กิตติ์ธัญญา วาจาดี ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ได้ขอให้ประธานในที่ประชุมบันทึกการลงคะแนนว่าตน “งดออกเสียง” แต่ในใบสรุปคะแนนบันทึกว่า “เห็นด้วย”