“ทักษิณ” ยังชี้ขาด “เพื่อไทย” พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์ ซุ่มสู้ศึกผู้ว่า กทม.

แม้ไม่มีกำหนดวัน ว. เวลา น.การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทว่าความเคลื่อนไหวศึกชิง”พ่อเมืองเสาชิงช้า” กลับร้อนระอุทั้งในพรรค-นอกพรรคและนอกประเทศ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย (พท.) ภายหลัง

“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีตแกนนำเพื่อไทย ประกาศลงรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนาม “ผู้สมัครอิสระ” โดยมี “คีย์แมน” เพื่อไทยคนสำคัญหลายคนประกาศ “สนับสนุน” ทั้ง นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการบริหารพรรค ท่ามกลางความงุนงงของกลุ่ม ส.ส.กทม.เพื่อไทยที่ต้องการให้ส่ง “มวยแทน” คนใหม่ของพรรคลง “ชิงดำ” เก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.

สอดคล้องกับความเห็นของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานยุทธศาสตร์พรรค-หัวหน้ากลุ่ม กทม.เพื่อไทย ที่ระบุว่า “พรรคต้องประชุม และมีมติเป็นที่สิ้นสุด ว่าจะเอาอย่างไร และอาจจะต้องหารือกับ 7 พรรคฝ่ายค้านด้วยว่าจะเอาอย่างไร” สวนทางกับแถลงการณ์ “หักอก” กลุ่ม กทม.ของพรรค-คุณหญิงสุดารัตน์ ของ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคที่ระบุว่า “พรรคยังไม่เคยมีมติในเรื่องการจะส่งผู้สมัครลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.” ทำให้การประชุมสัมมนาของพรรคเมื่อวันที่ 9-10 ตุลาคม ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต้องมี “วงลับ” เพื่อ “เคลียร์ใจ” ปมผู้ว่าฯ กทม. ระหว่างนายสมพงษ์กับทีม ส.ส.กทม. สายคุณหญิงสุดารัตน์ ที่มี “มติของ ส.ส.กทม.” ที่จะส่งชื่อผู้ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ให้กรรมการพรรค

เมื่อนายชัชชาติ “ตกที่นั่งลำบาก” ประกอบกับอยู่ “กึ่งกลาง” ระหว่างกลุ่มของนายสมพงษ์-หัวหน้าพรรคกับกลุ่ม กทม.เพื่อไทยสายคุณหญิงสุดารัตน์ ซึ่งเคยเป็น “แบ็กอัพ” ให้กับนายชัชชาติไปถึงการเสนอชื่อเป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” แต่ต้องมาระหองระแหงกับคุณหญิงสุดารัตน์เมื่อกระแสของนายชัชชาติ
พุ่งแรง-แซงหน้าคุณหญิงสุดารัตน์

จนสุดท้ายนายชัชชาติต้องพึ่งอำนาจนอกพรรค-คนแดนไกล เดินทางไปพบกับนายทักษิณ และแจ้งขออนุญาตเพื่อขอลงรับสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ เพราะในพรรคขณะนี้มี 2 ทีมที่เป็นฝ่ายบริหาร ทั้งทีมหัวหน้าพรรค และทีมของคุณหญิงสุดารัตน์ “ตนไม่แน่ใจว่าต้องขึ้นตรงกับฝ่ายใดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในพรรค และต้องวางแผนในการทำแคมเปญเลือกตั้งล่วงหน้า จึงต้องขอลงในนามอิสระ ซึ่งนายทักษิณก็รับทราบแล้ว” แหล่งข่าวใกล้ชิดนายทักษิณระบุ

เมื่อเรื่อเข้าหูทำให้คุณหญิงสุดารัตน์บินไปหาคนแดนไกลเล่นบทปาดน้ำตาต่อหน้าทักษิณเพื่อขอความเห็นใจแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดนายทักษิณและครอบครัวชินวัตรเปิดเผยว่า “เขาไม่ได้อยู่ ๆ มาลง เขาปรึกษาผู้ใหญ่หมดแล้ว และส่วนตัวเห็นว่า ถ้านายชัชชาติลงรับสมัครแล้ว พรรคไม่ควรส่งสู้ เพราะจะตัดคะแนนกันเอง และอาจแพ้การเลือกตั้งซ้ำรอย ที่มีความนิยมอย่างเดียวไม่พอต้องมีผู้สนับสนุนทางการเงินด้วย”

ขณะที่พรรคอนาคตใหม่-พรรคพันธมิตรเพื่อไทย แม้ถูกมองว่ามีฐานเสียงเดียวกับเพื่อไทย แต่ปัจจัยชี้ขาดของอนาคตใหม่ในการสู้ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรกของพรรคเที่ยวนี้ คือ “กระแสคนรุ่นใหม่”
ความเคลื่อนไหวล่าสุด ทีมยุทธศาสตร์ของพรรคกำลังฟอร์มทีม เน้นทั้งทีมงานและ “ตัวผู้ว่าฯ กทม.” ส่วนเมื่อเปิดตัวผู้ว่าฯ กทม.-ทีมงานออกมาแล้ว ชื่อ-ชั้นจะเรียกกระแสคนรุ่นใหม่-สร้างปรากฏการณ์สึนามิสนามเล็กได้หรือไม่ยังเป็นเครื่องหมายคำถาม

ก่อนหน้านี้มีข่าวลือออกมาว่า สนามเลือกตั้งท้องถิ่น-เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อนาคตใหม่กับเพื่อไทยจะ “สับหลีก” ไม่ให้ “ทับเส้น-ตัดแต้ม” กันเอง ทว่าการลงสมัครอิสระของนายชัชชาติ และการแบ่งขบเหลี่ยมกันระหว่างกลุ่มนายสมพงษ์กับกลุ่ม กทม.สายคุณหญิงสุดารัตน์ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่อนาคตใหม่จะชนะ โดยใช้ฐานเสียงของเพื่อไทยเหมือนเมื่อครั้งเลือกตั้งสนามใหญ่

ฟากพรรคประชาธิปัตย์-คู่ปรับตลอดกาลเพื่อไทย แม้ว่าจะมีข่าวลือ-ข่าวปล่อยมาตลอดว่า จะไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขันกับพรรคพลังประชารัฐ แต่แกนนำประชาธิปัตย์เสียงหนักแน่นว่า สนามเลือกตั้งใหญ่กับสนามเลือกตั้ง กทม. ไม่มีอะไรสัมพันธ์กับการเมืองภาพใหญ่ และไม่มีความจำเป็นต้องรีบเปิดตัว ทั้งในเงื่อนไขของเวลาและกระแสทางการเมืองที่มีข่าวใหญ่คอยกลบรายวันทำให้ “แป้ก” และ “เสียของ”

ส่วนชื่อที่โยนหินถามทาง-เรียกเสียงเชียร์เป็นระยะ เช่น “กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรองหัวหน้าพรรค-อดีตประธานนโยบาย แต่เส้นทางของ “กรณ์” กับ กก.บห.ชุดใหม่ ดูเหมือนว่าจะไป “คนละทาง” และการถูก “ลดบทบาท”

ส่วนชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรค-กาทิ้งไปได้เลย เพราะเป็นไปได้น้อยที่สุด หลังจากออกมายืนยันว่า ยังไม่ถึงเวลากลับมามีบทบาทนำทางการเมือง รวมถึงลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. และ “อภิสิทธิ์” ยังอยู่ในบัญชี “แคนดิเดตนายกฯ”


ส่วนพรรคพลังประชารัฐแม้ไม่มีความเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการ แต่มีการทาบทามทั้งคนในพรรค-นอกพรรค ส่วนแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ที่มีชื่อก่อนหน้านี้ ทั้ง “ผู้ว่าฯหมูป่า” นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง หรือ “สกลธี ภัททิยกุล” รองผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน แกนนำ กปปส. ล้วนเป็นชื่อ “ผู้ว่าฯในข่าว” ไม่ใช่ “ผู้ว่าฯในพรรค” เพราะวันเลือกตั้งยังไม่ชัดเจน และพลังประชารัฐเป็นพรรคใหญ่ เปิดชื่อแล้ว “หวังชนะ” ไม่เป็นไม้ประดับคน กทม.ไว้วางใจได้ ไม่สนใจว่าคู่แข่งขันจะเป็นใคร เป็นสถานการณ์ชุลมุนศึกชิงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ล่าสุด แต่ไม่ท้ายสุด จนกว่าระฆังเลือกตั้งผู้ว่าฯเสาชิงช้าจะดังขึ้น