3 เดือน “บิ๊กตู่” ไม่พ้นขีดอันตราย เศรษฐกิจโคม่า เสี่ยงคว่ำรัฐบาลเรือเหล็ก

16 ต.ค.คือเวลาครบ 3 เดือน ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับหน้าที่บริหารประเทศ “อย่างเป็นทางการ” หลัง “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะกัปตัน “เรือแป๊ะ” เทียบท่า พร้อมรับผู้โดยสารสายการเมือง ลงลำสู่ “เรือเหล็ก” เป็นรัฐบาล ประยุทธ์ 2/1 และยังเป็นพรรครัฐบาลผสม 19 พรรค มากที่สุดในประวัติศาสตร์

หากผ่านมา 3 เดือน ทั้งโพลการเมือง โพลวิชาการบางสำนัก ต่างประเมินผลงานรัฐบาลว่า “สอบตก” พลาดเป้าไปไกล ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจคือ จุดชี้เป็น-ชี้ตาย ชะตาของรัฐบาล ยังอยู่ในอาการโคมา
สวนทางกับ “พล.อ.ประยุทธ์” สามารถผ่านมรสุมการเมือง “ส่วนตัว” หลายลูกที่ถูกร้องให้ตุลาการพิพากษาในช่วง 3 เดือน ไปได้อย่างราบรื่น

ก้าวพ้น 3 มลทิน

หนึ่ง เริ่มจากฝ่ายค้านยื่นเรื่องให้ตรวจสอบ การที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะหัวหน้า คสช. ไม่ประกาศรายชื่อคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ตามคำสั่ง คสช.ที่ 1/2562 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ลงวันที่ 8 ก.พ. 62 เนื่องจากมีบุคคลในกรรมการ เลือกญาติพี่น้องพวกพ้องคนใกล้ชิดมานั่งเป็น ส.ว. และ ส.ว.หลายคนมีมลทิน มัวหมองทางจริยธรรมและคดีอาญา

ก่อนที่ 11 มิ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 (1) โดยเห็นว่า คำสั่งดังกล่าว มีเนื้อหาสาระสำคัญเป็นเพียงการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่กลั่นกรองเสนอรายชื่อ ส.ว.เท่านั้น ไม่ใช่การออกกฎเกณฑ์ที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป คำสั่ง คสช.ดังกล่าวจึงไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามความหมายของรัฐธรรมนูญมาตรา 231 (1) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้

ผ่านปมถวายสัตย์ฯไม่ครบฉลุย

สอง กรณีที่ฝ่ายค้านยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย กรณี “พล.อ.ประยุทธ์” กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 161ปรากฏว่า 11 ก.ย. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยคำวินิจฉัยตอนหนึ่งระบุว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมือง (political issue) ของคณะรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล (act of govern-ment) ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47 (1) ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้

ไม่ร่วงเก้าอี้นายกฯ

สาม เป็นกรณีที่ 110 ส.ส.ฝ่ายค้านยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งขาดคุณสมบัติการเป็นนายกฯ เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15) หรือไม่

ต่อมา 18 ก.ย. ศาลรัฐธรรมนูญได้ยกคำร้อง โดยคำวินิจฉัยตอนหนึ่งระบุว่า “ตำแหน่งหัวหน้า คสช. ยังเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย ไม่มีกฎหมายกำหนดกระบวนวิธีการได้มา หรือการเข้าสู่การดำรงตำแหน่ง โดยมีอำนาจหน้าที่เป็นการเฉพาะชั่วคราว ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้มีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ และประชาชน ดังนั้น ตำแหน่งหัวหน้า คสช. จึงไม่มีสถานะตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ”

แม้ว่า 3 มรสุมการเมืองเฉพาะตัว”พล.อ.ประยุทธ์” ผ่านฉลุย ทว่า ยังมีกรณีที่สี่ อันเป็นเรื่องของคนในรัฐบาลยังเป็นสายล่อฟ้า “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่เปรียบตนเองเป็น “เส้นเลือดใหญ่รัฐบาล” กลายเป็นเป้าถูกโจมตีและถูกขุดคุ้ยตรวจสอบประวัติสีเทา ถูกสื่อออสเตรเลียเปิดข้อมูลในอดีตว่า เคยต้องคำพิพากษาจำคุกที่ออสเตรเลียมาก่อน บวกกับข้อกังขาเรื่องวุฒิปริญญาเอก

กระทั่ง ร.อ.ธรรมนัสต้องขึ้นโรงพักฟ้อง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในข้อหาหมิ่นประมาท-หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา หลังออกมาแสดงความคิดพาดพิง ที่ระบุว่า ร.อ.ธรรมนัสถูกจำคุกที่ออสเตรเลียอยู่ 4 ปี และกรณีวุฒิการศึกษา

อีกด้านหนึ่งเป็นผลพวงจากการที่ “พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และ ส.ว.โดยตำแหน่ง บรรยายพิเศษหัวข้อเรื่อง “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” ที่หอประชุมกิตติขจร กองบัญชาการกองทัพบกเมื่อ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา สร้างอาฟเตอร์ช็อกทางการเมืองมหึมา ทั้ง 2 เคส ฝ่ายค้านใช้กลไกตรวจสอบในสภาผู้แทนราษฎร เรียก “ร.อ.ธรรมนัส-พล.อ.อภิรัชต์” มาให้ถ้อยคำ-ปรับทัศนคติ

ลาก 2 คีย์แมนซักฟอกในสภา

นั่นทำให้หลังจบศึกอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ใช้เวลา 3 วัน 3 คืน คนในองคาพยพรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังกลายเป็น “เป้าโจมตี” ทางการเมืองไปอีกพักใหญ่ ประเด็น “ร.อ.ธรรมนัส-พล.อ.อภิรัชต์” ที่กระแสซาลงไป ฝ่ายค้านเร่งปฏิกิริยากลับมาจุดให้ร้อนแรงอีกครั้ง ผ่านการเรียกชี้แจงในคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรยังไม่นับปม ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 32 รายที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับ ส.ส.ซีกฝ่ายค้าน

ฝ่ายค้านรุกแก้รัฐธรรมนูญ

และอีกหนึ่งปมร้อนที่จะปะทุขึ้นมา หลังวันที่ 1 พ.ย. เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเปิดสมัยประชุมสามัญปกติ ญัตติที่จะถูก “ผลัก” มาเป็นวาระต้น ๆ คือ วาระตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ 7 พรรคฝ่ายค้าน ตั้งเป้าผลักวาระ นำไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ โดยฝ่ายค้านขอใช้สิทธิใช้เวลาก อภิปรายข้อด้อยของรัฐธรรมนูญ 2560 มากกว่า 1 วัน ช่วยตัวเอง มากกว่าช่วยชาวบ้าน

“สุทิน คลังแสง” ประธานคณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) อภิปรายนอกสภา สรุปการทำงาน 3 เดือนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ว่า เป็น 3 เดือนที่มีปัญหาทุก ๆ ด้าน ไม่มีเวลาทำงาน มีแต่เวลาแก้ปัญหาส่วนตัว เช่น ปัญหาการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจัดตั้งแล้วยังไม่เป็นเอกภาพ ยังต้องแก้ปัญหาทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคแกนนำของตัวเอง ยังต้องแก้ปัญหาความชอบธรรมในตัวเอง ทั้งคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี การถวายสัตย์ฯครบ-ไม่ครบ เสียเวลาทำนโยบาย ทำงบประมาณ

“ใช้เวลาจัดความพร้อมของตัวเองมากกว่าบริหารบ้านเมือง ตั้งรัฐบาลช้ามาก ทำให้งบประมาณล่าช้าไปจากปกติ 4 เดือน สะท้อนการทำงานแบบไม่มีแผนงาน ทำงานไม่มีแผนงาน ไม่มีปฏิทินงาน เป็น 3 เดือนของการแก้ปัญหาของตัวเอง ไม่ใช่แก้ปัญหาของชาวบ้าน”

รธน.-ศก.ตกต่ำ ชนวนตึงเครียด

ฟากนักสังเกตการณ์การเมืองข้างสนาม อย่าง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์สิ่งที่รัฐบาลต้องเผชิญในภายภาคหน้าอย่างปมการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้รัฐธรรมนูญจะกลายเป็นสมรภูมิความขัดแย้งไปอีกหนึ่งเรื่อง รัฐบาลแม้จะมีการแถลงนโยบายว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่แกนนำรัฐบาลส่งสัญญาณในทิศทางว่าจะไม่แก้อยู่ตลอดเวลา

ฝ่ายค้านพอขยับก็ไปสร้างความหวาดระแวงว่าจะรื้อถึงกับขั้นกระทบกระเทือนกับหลายสิ่งหลายอย่างที่คนรับไม่ได้ และระแวงต่อไปอีกว่า รื้อแล้วจะได้อะไรเข้ามาทดแทน เพราะฉะนั้นถ้าบรรยากาศเป็นแบบนี้ก็จะกลายเป็นการต่อสู้ขัดแย้งทางการเมือง มากกว่าจะได้คำตอบว่า รัฐธรรมนูญที่จะมาปรับปรุงแก้ไขจะไปในทิศทางใดอย่างไร

วิกฤตการเมืองที่รัฐบาลต้องเผชิญ “อภิสิทธิ์” ทำนายว่า หนึ่ง ถ้าการเมืองอยู่ในอารมณ์ของความขัดแย้งแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ถึงจุดหนึ่งมันก็จะรุนแรงขึ้นกับสอง ภาวะเศรษฐกิจหรือความเหลื่อมล้ำ มันจะเป็นตัวป้อนนำไปสู่ความตึงเครียดในทางสังคม ในทางการเมืองมากขึ้น ผู้ที่รับผิดชอบจะต้องพยายามคิดไม่ให้ไหลไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร

เศรษฐกิจติดหล่ม ล้ม “บิ๊กตู่”

ส่วนนักสังเกตการณ์นามว่า “นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” อดีตขุนคลัง ในสมัยรัฐบาลพลังประชาชน วิเคราะห์ปัจจัยที่จะเป็น “โดมิโน” ล้มรัฐบาล ไม่ใช่การเมือง หากเป็นเศรษฐกิจ

“ถ้าเปรียบเทียบกับการเกิดของรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ได้มาโดยสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบในช่วงแรก ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้สภาผู้แทนฯโหวตรับ และนำไปสู่การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ 2540 คือ ปัญหาเศรษฐกิจ มันมาพร้อมกับวิกฤตต้มยำกุ้ง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล”

“ถ้าเศรษฐกิจลงมาก ๆ ชาวบ้านจะบอกว่าไม่ไหวแล้ว ขอคนที่เราเลือก หรือขอพรรคการเมืองที่สามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ไหม นี่คือปัญหาย้อนกลับไปตอนปี 2540 ที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อยู่ไม่ได้ ต้องยุบสภา หรือลาออก”

“พอเริ่มลง คนจะยิ่งกลัว ยิ่งบริโภคน้อยลง การบริโภคในประเทศน้อยลง คนไม่เที่ยว ชิม ช้อป ใช้ ก็ได้แค่นั้น อย่าหวังว่าคนจะใช้เกิน 1 พันบาทแล้วจะได้คืน 15 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามองโลกสวย ภาวะเศรษฐกิจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ความมืดของภาวะเศรษฐกิจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแน่”


3 เดือน “พล.อ.ประยุทธ์” แม้พ้นมลทินส่วนตัว ไม่ร่วงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 แต่สำหรับรัฐบาลยังอยู่ในภาวะไม่พ้นขีดอันตราย