“ประชาธิปัตย์” หลังรัฐประหาร 2 รอบ รอดยุบพรรค พลิกกระดานการเมือง

กว่า 71 ปี ที่พรรคประชาธิปัตย์ถือกำเนิดบนยุทธจักรการเมืองไทย เป็นพรรคเก่าแก่ที่สุดที่ยังเหลือลมหายใจมาจวบจนปัจจุบัน

เมื่อ 71 ปีก่อน พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ก่อตั้งด้วยอุดมการณ์อยู่คนละขั้วอำนาจของคณะราษฎรสายพลเรือน-ปรีดี พนมยงค์

เกาะเกี่ยว-รวบรวมชนชั้นสูง ชนชั้นเจ้านายที่หมดอำนาจไปตั้งแต่ปฏิวัติ 2475 กลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายปรีดี กับบรรดาขุนทหารที่กำลังถูกคณะที่เรียกว่า “เสรีไทย” มาบดบังรัศมี เพราะได้รับสนับสนุนทั้งอาวุธ ทั้งปัจจัยการเมืองที่เพียบพร้อมกว่า

หลังปฏิวัติ 2490 พรรคประชาธิปัตย์ขับเคลื่อนด้วยแนวทางอนุรักษนิยม มีแกนหลักเป็นนายทุนเก่า-ชนชั้นนำที่คอยสนับสนุนพรรค ทุกช่วงกาลเวลาบนถนนการเมือง

กว่า 71 ปี พรรคประชาธิปัตย์ ยังคงรักษาแนวทางอนุรักษนิยมไว้อย่างเหนียวแน่น ทำเนียบหัวหน้าพรรคสีฟ้า บันทึกไว้ว่ามีหัวหน้าพรรค 7 คน ตั้งแต่คนแรก “ควง อภัยวงศ์” ถึงคนปัจจุบันชื่อว่า “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

ทว่าในช่วง 2 ทศวรรษหลัง การคงคอนเซ็ปต์อนุรักษนิยม ผสานทุนเก่ากับนักการเมืองที่ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองภาคใต้ กลับไม่ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถครองใจประชาชนภาคอื่น ๆ ได้

เมื่อต่อสู้กับพรรคการเมืองที่รวบรวมกลุ่มคนมีความคิดก้าวหน้า เป็นพรรคของทุนใหม่ ใช้นโยบาย “ประชานิยม” อย่างพรรคไทยรักไทย เข้ามาติดตั้งในระบอบการเมือง สามารถโกยคะแนนเสียงได้อย่างท่วมท้น

กว่า 20 ปี แม้พรรคไทยรักไทย จะถูกยุบเปลี่ยนชื่อพรรคไปแล้ว 2 หน ทว่า… พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ชนะเลือกตั้ง

แต่ในรอบ 20 ปี พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังได้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศถึง 2 ครั้ง ในยุค “ชวน หลีกภัย” และ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” จากเหตุการณ์สลับขั้วการเมือง

โดยเฉพาะครั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่มีเสียงครหาทางการเมืองว่า ได้เป็นรัฐบาลในค่ายทหาร พร้อม ๆ กับกลไกองค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญ 2550 ยังเกื้อหนุนให้พรรคประชาธิปัตย์ “รอดตาย” ทางการเมืองมาได้แทบจะทุกครั้ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้วงเวลาแห่งการรัฐประหาร 2 ครั้งในรอบ 2 ทศวรรษ 19 กันยายน 2549

บอยคอตเลือกตั้ง 2 เมษายน 49

ย้อนไปเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ (ยศในขณะนั้น) ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงการณ์ “ยุบสภา” ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยให้จัดการเลือกตั้งภายใน 30 วัน ! และออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ยุบสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549

25 กุมภาพันธ์ 2549 พรรคประชาธิปัตย์ “จับมือ” กับพรรคชาติไทย-พรรคมหาชน “บอยคอต” ไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมปีเดียวกัน ให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 เป็นโมฆะ

และผลจากเลือกตั้งโมฆะดังกล่าวก็กลายเป็นประเด็นการเมือง ที่ทำให้ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคไทยรักไทยถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคทั้งสอง

แต่แล้วเมื่อ 30 พฤษภาคม 2550 ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ ข้อกล่าวหา จ้างพรรคเล็ก “ใส่ร้าย” พรรคไทยรักไทย

และมีคำวินิจฉัย “ยุบพรรค” ไทยรักไทย ข้อกล่าวหาผิดกฎหมายเลือกตั้ง-“จ้างพรรคเล็ก” ลงเลือกตั้ง “หนีเกณฑ์” ร้อยละ 20 และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 5 ปี

อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคพลังประชาชน (พปช.) พรรค “นอมินีทักษิณ”

รอดยุบพรรค “คำรบที่สอง”

แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้เป็นรัฐบาล หลังการยุบพรรคพลังประชาชน และเกิดการ “พลิกขั้ว” ทางการเมืองเกิดขึ้น แต่ทว่าพรรคเพื่อไทย ในฐานะฝ่ายค้านได้กล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์ กรณีไซฟอนเงิน และเรื่องได้ถึงชอตสุดท้ายที่ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษา ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็เอาตัวรอดจากการยุบพรรคได้เป็น “คำรบที่สอง” ภายหลังวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (4 ต่อ 2) ยกคำร้องยุบพรรค-ตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ข้อกล่าวหาไม่แจ้งรับเงินบริจาคจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) จำนวน 258 ล้านบาท-นำเงินจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง จำนวน 29 ล้านบาท “ผิดวัตถุประสงค์”

เพราะ “อภิชาต สุขัคคานนท์” ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานนายทะเบียนพรรคการเมือง-ผู้ร้อง “ตายน้ำตื้น” ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเกินระยะเวลา 15 วัน

แพ้เลือกตั้ง-สถาปนา กปปส. 

สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองขับไล่ “รัฐบาลอภิสิทธิ์” ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตึงเครียด-นองเลือด มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก อีกทั้งยังใกล้เวลา “ครบเทอม” 4 ของสภาผู้แทนราษฎร ทำให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์-อภิสิทธิ์ ประกาศ “ยุบสภา” ก่อนครบเทอม ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ก่อนจะแพ้การเลือกตั้งราบคาบต่อพรรคเพื่อไทย (พท.) วันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ใส่พานเก้าอี้นายกฯ หญิงคนแรก ให้กับ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

แต่แล้วการเดินหมากการเมืองพลาดตาเดียวล้มทั้งกระดานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จุดชนวนให้นายสุเทพ ถือธงนำขบวน 8 แกนนำ-สาวกพรรคประชาธิปัตย์ลาออกจาก ส.ส. (12 พ.ย. 56) นำขบวนต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม “สุดซอย”-สถาปนาคณะกรรมการ กปปส. ยกระดับขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์-ต่อต้านระบอบทักษิณ ก่อน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จะพาเหรดกันลาออกจาก ส.ส. (8 ธ.ค. 56) ทั้งสถาบันการศึกษา อดีตข้าราชการ ธนาคาร เครือข่ายชนชั้นนำได้ร่วมปฏิบัติการ กปปส. จนมาถึงรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557

บอยคอตเลือกตั้งรอบสอง

แต่ระหว่างทางก่อนถึงวันยึดอำนาจโดย คสช. เมื่อ 21 ธันวาคม 2556 “อภิสิทธิ์” นำทัพพรรคประชาธิปัตย์ประกาศไม่ลงสมัครเลือกตั้งเป็น “รอบที่สอง” ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 โดยให้เหตุผลว่า ประชาชน “หมดศรัทธา” นักการเมือง-พรรคการเมือง ระบบการเลือกตั้ง และต้องการปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง

ยกฟ้องคดีสลายชุมนุม นปช.

วันที่ 31 สิงหาคม 2560 ศาลฎีกามีคำพิพากษา “ยืนตาม” ศาลอุทธรณ์ “ยกฟ้อง” คดีสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 กรณีนายอภิสิทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี-นายสุเทพ อดีตรองนายกรัฐมนตรี-ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นจำเลย เพราะคำฟ้อง “อยู่นอกเหนือเขตอำนาจศาล”

ล้างภาพอนุรักษนิยม 

แต่ทั้งหมดทั้งมวล “กรณ์ จาติกวณิช” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์-อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ฉายภาพประชาธิปัตย์ในมุมมองใหม่ ล้างภาพพรรคอนุรักษนิยม ว่า ในฐานะฝ่ายริเริ่มนโยบายของพรรคสามารถชี้ให้เห็นแนวนโยบายที่จะเป็นทิศทางของประเทศได้ในอนาคต

“กิจกรรมในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเป็นกิจกรรมที่ตัวเองสนใจและอยากช่วยคน ขณะเดียวกันเนื่องจากสวมหมวกนโยบายของพรรคด้วย จึงได้มีโอกาสทดลองหลักคิดของตัวเอง และทดสอบนโยบายเมื่อต้องนำไปสู่การปฏิบัติ อาทิ โครงการ English for All สนับสนุนภาษาอังกฤษเด็กไทยในชนบท โครงการเกษตรเข้มแข็ง-ข้าวอิ่ม และในฐานะประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย ในการผลักดันโครงการสำหรับกลุ่มผู้เริ่มทำธุรกิจของไทย (Start up)”

จับชีพจรคำของ “กรณ์” ระหว่างบรรทัด น่าจะสะท้อนความคิดของนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ได้ไม่มากก็น้อย