ฉะ แฉ ฉาว! ศึกสาวไส้ในอนาคตใหม่ ปัจจัยอันตราย ทำ 12 กรรมการบริหารขาสั่น

กลายเป็นศึก ฉะ แฉ ฉาว ภายในพรรคอนาคตใหม่ ลูกพรรค – แกนนำพรรค สาวไส้กันนัวเนีย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่พรรคอนาคตใหม่ เปราะบางที่สุด เจ็บหนักที่สุด

หนึ่ง เพราะเพิ่งพ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อมนครปฐม เขต 5

สอง เพราะอยู่ระหว่างเผชิญแรงเสียดทานจากการที่พรรคมีมติโหวตคว่ำพ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นหน่วยงานบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 อันเป็นเรื่องที่พรรคร่วมฝ่ายค้านมองว่า เป็นประเด็นละเอียดอ่อน และยอมปล่อยผ่าน มีเพียงอนาคตใหม่พรรคเดียวที่สวนทาง

สาม คดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรค กรณีถือหุ้นสื่อในบริษัท วี-ลัค มีเดีย ใกล้จะรู้ชะตากรรม ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยข้อกฎหมายแล้วว่า “ธนาธร” ถือหุ้นสื่อ นอกจากจะพ้นสภาพ ส.ส. คณะกรรมการการเลือกตั้ง สามารถหยิบเรื่องไปดำเนินคดีอาญาได้อีกทอด 20 พ.ย.ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดชี้ชะตา

อีกทั้ง คดีที่ กกต.ตั้งสำนวนตรวจสอบกรณี “ธนาธร” ถูกร้องให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงิน 191 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจการพรรคอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายพรรคการเมืองหรือไม่ กำลังถูกพูดถึงอย่างมากว่าจะอีกหนึ่งชนวนที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่ต้องถึงทางตันทางการเมืองหรือไม่ เพราะยังมีข้อกังขาว่า “อนาคตใหม่” สามารถใช้ “เงินกู้ 191 ล้านบาท” ของธนาธร ในการทำกิจกรรมทางการเมืองได้หรือไม่?

ในมาตรา 62 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ระบุว่า “รายได้ของพรรคการเมือง” 7 ข้อ 1.เงินทุนประเดิมพรรค 2.เงินค่าธรรมเนียมและค่าบํารุงพรรคการเมืองตามที่กําหนดในข้อบังคับ 3.เงินที่ได้จากการจําหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรคการเมือง 4.เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง 5.เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการรับบริจาค 6.เงินอุดหนุนจากกองทุน 7.ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง

ขณะที่มาตรา 87 ของกฎหมายเดียวกันกำหนดว่า “เงินและทรัพย์สินของพรรคการเมือง” ต้องนําไปใช้จ่ายเพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง ใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและสมาชิก และใช้จ่ายในการบริหารพรรค

มาตรา 87 จึงย้อนกลับไปที่มาตรา 62 โดยต้องตีความว่า “เงินและทรัพย์สินของพรรคการเมือง” จะมาจากการกู้เงินได้หรือไม่ เพราะทั้ง 7 ข้อในมาตรา 62 ไม่ได้บัญญัติเรื่องการกู้เงินมาเป็นรายได้ของพรรค
มีแต่การระดมทุนหรือรับบริจาค!

ซึ่งการบริจาคยังกำหนดในมาตรา 66 ว่าห้ามบุคคลใดบริจาคเงินให้พรรคการเมืองเกิน 10 ล้านบาทต่อปี และพรรคการเมืองจะรับเงินบริจาคเกิน 10 ล้านบาทต่อปี จากคนคนเดียวกันไม่ได้ ถือว่าผิดกฎหมายพรรคการเมือง

แม้ว่าโทษไม่ถึงยุบพรรค แต่ทั้งจำ-ทั้งปรับ และตัดสิทธิการเมือง 5 ปี ทั้งคนบริจาคเกิน 10 ล้าน และหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคที่รับเงิน

เคาะชื่อ 16 กรรมการบริหารพรรค มี ซึ่งเป็น ส.ส.ระดับตัวท็อปทั้งสิ้น 12 คน ที่มีเสียวถูกตัดสิทธิ์ อาทิ ธนาธร – ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค – พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค – พล.ท.พงศกร รอดชมพู – ชำนาญ จันทร์เรือง – ไกลก้อง ไวทยาการ เป็นต้น

เมื่อรวมกับปรากฎการณ์ ฉะ แฉ ฉาว โดยเกิดการสาวไส้กันเองภายใน แล้วออกมาฟ้องสื่อ ปรากฏเป็นข่าวใหญ่โต กระทั่ง ลูกพรรค 120 คน ที่แบ่งเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ 30 คน และสมาชิกพรรคกว่า 90 คนไม่ลงรอยกับกลุ่มหัวหน้าพรรค – แกนนำบริหารพรรค

กระทั่งตบเท้าทยอยเข้ายื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง
“นิพนธ์ แจ่มจำรัส” อดีตผู้สมัคร ส.ส.ชลบุรี เขต 2 พรรคอนาคตใหม่ แกนนำในการยื่นใบลาออก ให้สัมภาษณ์ เมื่อถูกถามว่าการลาออกเป็นเพราะ ไม่ได้รับตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่

“นิพนธ์” กล่าวว่า ไม่ใช่เพราะสมาชิกทุกคนไม่มีใครต่อรองหรือเรียกร้องเรื่องนี้ การต่อรองตำแหน่งไม่ได้เกิดจากการที่พวกเราเรียกร้องหรือร้องขอ แต่เป็นสัญญาจากพรรคที่ให้สัญญาจากที่ประชุม เมื่อคำมั่นสัญญาต่างๆเหล่านั้น มีเรื่องอื่นทับถมขึ้นมาเรื่อยๆ จึงรู้สึกว่าผู้นำไม่รักษาคำพูด เรื่องเล็กน้อยยังรักษาคำพูดไม่ได้ แล้วจะไปทำนโยบายที่ลงไปสู่ประชาชนอีก 60 ล้านคนได้อย่างไร

หน้า 1 หนังสือพิมพ์จึงพาดหัวไปในทางเดียวกันทำนองว่า “แกนนำพรรคไร้สัจจะ”

ขณะที่ “ธนาธร” โต้ข่าวว่า เป็นสิทธิของแต่ละคน ไม่มีผลกระทบกับพรรค พรรคอนาคตใหม่ มีสมาชิกกว่า 60,000 คน ยืนยันจะก้าวไปข้างหน้า โดยให้สมาชิกมีบทบาท มีสิทธิแสดงความคิดเห็น ยืนยันไม่มีความกังวลใจ ขอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ การสร้างพรรคที่ทำมา 1 ปีครึ่ง แน่นอนว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ จะนำประสบการณ์ความผิดพลาดมาเรียนรู้สร้างสรรค์พรรคให้ดีขึ้น

การลาออกของสมาชิก พรรคเป็นกระบวนการปกติ มีคนเข้า มีคนออกยอมรับว่าการเลือกผู้สมัคร ส.ส.ที่ผ่านมามีเวลาสั้นมากเพียง 2 เดือนในการคัดสรรผู้สมัคร ทำให้ไม่สามารถ คัดกรองคนที่มีอุดมการณ์ได้ 100% สถานการณ์และเวลาจะพิสูจน์คน

“ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก ทุกพรรค การเมืองย่อมเป็นแบบนี้ มีคนเดินเข้าก็มีคนเดินออก ทุกวันนี้คนจำนวนมากอยากเข้ามาเป็นสมาชิก มาร่วม ทำงานกับพรรค กรณีนี้จึงไม่ใช่ปัญหา ขอให้ทุกคนตัดสินด้วยใจเป็นธรรม คำถามที่อยากถามสังคมอย่างตรงไปตรงมาคือ การเข้ามาทำงานการเมืองในระบบ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ เป็นสิ่งที่ผิดบาปมากขนาดนั้นเลยหรือ”

นี่ยังไม่นับอีกสารพัดปัจจัยเสี่ยงจากสารพัดคดี ที่จ่อคอหอยพรรคอนาคตใหม่ ราว 20 คดี ที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกยุบพรรคเมื่อถึงคราวนั้น ส.ส.เขต 30 คน และ ปาร์ตี้ลิสต์อีก 38 คน (หักกรรมการบริหารพรรค 12 คนที่เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพราะถูกตัดสิทธิ กรณียุบพรรค) จะเป็นอิสระทันที