เปิดหัว ครม.สัญจร ประยุทธ์ 2 ไดเร็กต์ท่อน้ำเลี้ยง พรรครัฐบาล 900 ล้าน

การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ “ครม.สัญจร” ครั้งแรกของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี “สมัยที่ 2” ระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2562 ที่จังหวัดราชบุรีและกาญจนบุรี ถือฤกษ์ลงพื้นที่ไม่มี ส.ส.ฝ่ายค้านแบ่งเค้ก-แชร์คะแนน

เดิมวางตาราง “ครม.สัญจร” ในเดือนธันวาคม ขยับ “เลื่อนขึ้น” ให้ “เร็วขึ้น” ก่อนเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจธันวาคม 2562 ราชบุรี-กาญจนบุรีเป็นพื้นที่ “พรรครัฐบาล” เพราะพรรคร่วมรัฐบาลกวาดเก้าอี้ ส.ส.ทั้ง 2 จังหวัด-ไม่มีพรรคฝ่ายค้าน

และกาญจนบุรียังเป็นบ้านเกิดของ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่ยึดฐานที่มั่นเกือบยกจังหวัด เหลือให้ภูมิใจไทยเขต 3 เขตเดียว ขณะที่ราชบุรี 5 เขต พลังประชารัฐกวาดไปได้ 3 ที่นั่ง ส่วนอีก 2 เขต เป็นของพรรคร่วมรัฐบาล ประชาธิปัตย์และ ภูมิใจไทย

รายงานจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า กระแสข่าวการเปลี่ยนจากราชบุรีเป็นสุพรรณบุรี เพราะทีมเลขาฯนายกฯ เกรงเรื่องความปลอดภัย จึงมีสุพรรณบุรี มีส.ส.จากค่ายชาติไทยพัฒนา “ยกจังหวัด เป็น “คิวแทรก” แต่ต้องรอให้ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ตัดสินใจขั้นสุดท้าย

ทั้งราชบุรี-กาญจนบุรี-สุพรรณบุรี ก็อยู่ในเขตตรวจราชการที่ 3 ภาคกลางตอนล่าง 1 เป็นความรับผิดชอบของ “อนุทิน” กำกับดูแล ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 40 ล้านบาท

โดยนายอนุทินรับผิดชอบ 10 จังหวัด ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 130 ล้านบาท แบ่งออกเป็น เขตตรวจราชการที่ 3 ภาคกลางตอนล่าง 1 จำนวน 3 จังหวัด เขตตรวจราชการที่ 11 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ นครพนม มุกดาหาร สกลนคร งบประมาณ 40 ล้านบาท เขตตรวจราชการที่ 15 ภาคเหนือตอนบน 1 จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน งบประมาณ 50 ล้านบาท

ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี-ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ รับผิดชอบ
17 จังหวัด ได้รับการจัดสรร 210 ล้านบาท แบ่งออกเป็น เขตตรวจราชการที่ 1 ภาคกลางตอนบน 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง งบฯ 70 ล้านบาท

เขตตรวจราชการที่ 7 ภาคใต้ชายแดน 3 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา งบประมาณ 40 ล้านบาท เขตตรวจราชการที่ 13 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ งบฯ 50 ล้านบาท และเขตตรวจราชการที่ 16 ภาคเหนือตอนบน 2 จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ งบฯ 50 ล้านบาท

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับการจัดสรร 190 ล้านบาท รับผิดชอบ 16 จังหวัด แบ่งออกเป็น เขตตรวจราชการที่ 2 ภาคกลางปริมณฑล 4 จังหวัด นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ งบฯ 50 ล้าน

เขตตรวจราชการที่ 8 ภาคตะวันออก 1 จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง งบฯ 40 ล้านบาทเขตตรวจราชการที่ 12 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด งบฯ 50 ล้านบาท เขตตรวจราชการที่ 17 ภาคเหนือตอนล่าง 1 จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ งบฯ 50 ล้านบาท

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบ 18 จังหวัด ได้รับการจัดสรรงบฯ 200 ล้านบาท แบ่งออกเป็น เขตตรวจราชการที่ 4 ภาคกลางตอนล่าง 2 จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร งบฯ50 ล้านบาท

เขตตรวจราชการที่ 5 ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย 5 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี สงขลา งบฯ 50 ล้านบาท

เขตตรวจราชการที่ 10 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี งบประมาณ 50 ล้านบาท เขตตรวจราชการที่ 18 ภาคเหนือตอนล่าง 2 จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี งบฯ 50 ล้านบาท

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี-หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบ 15 จังหวัด ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 170 ล้านบาท แบ่งออกเป็น เขตตรวจราชการที่ 6 ภาคใต้ฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล งบฯ 70 ล้านบาท

เขตตรวจราชการที่ 9 ภาคตะวันออก2 จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว งบประมาณ 50 ล้านบาท เขตตรวจราชการที่ 14 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี งบฯ 50 ล้านบาท

ในยุค “รัฐบาล คสช.” โครงการ-งบประมาณจะต้องเสนอขึ้นมาจากผู้ว่าราชการจังหวัด “ไดเร็กต์” ถึง พล.อ.ประยุทธ์-หัวหน้า คสช.


แต่ในยุค “รัฐบาลนักการเมือง” โครงการ-งบประมาณจะต้องเสนอขึ้นมาจากพรรคการเมือง-ส.ส.ในพื้นที่ ถึงรองนายกรัฐมนตรี-หัวหน้า และผู้มีบารมีทั้งใน-นอกพรรคการเมือง