“ครม.เศรษฐกิจ” รับทราบมาตรการ “MSME 2020” เล็งแฮร์คัทหนี้เน่าเอสเอ็มอีแสนราย

เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) แถลงผลการประชุมครม.เศรษฐกิจ ว่า ครม.เศรษฐกิจมีมติรับทราบแนวทางการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมครบวงจร หรือ มาตรการ MSME 2020 จำนวน 8 ด้าน 13 มาตรการ ดังนี้ 1.ด้านการส่งเสริมเข้าถึงแหล่งเงินทุน ได้แก่ 1.การปรับสถานะกองทุนภาครัฐที่เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับ MSME ให้เป็นเงินทุนหมุนเวียน (Revolving Fund) เพื่อให้มีแหล่งเงินทุนสำหรับช่วยเหลือสำหรับวิสาหกิจรายย่อยได้ต่อเนื่องในรูปแบบ Revolving Fund

“กำหนดให้สามารถนำเงินที่ SME ชำระคืน ไปหมุนเวียนเป็นสินเชื่อ/เงินอุดหนุน สำหรับ SME รายอื่นอย่างต่อเนื่อง ในโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ผ่านกองทุนส่งเสริม SME (สสว.) วงเงิน 10,000 ล้านบาท ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2562”

2.การเพิ่มรูปแบบการค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ SME (Direct Approach / Direct Guarantee) เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือ มีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอ

“โดยมอบหมายให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมรายย่อย (บสย.) จัดทำกระบวนการ/ระบบการค้ำประกันสินเชื่อโดยตรงให้แก่ SME ก่อนการยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน (Direct Approach / Direct Guarantee)”

ทั้งนี้ 1.ในระยะเริ่มต้นให้ดำเนินการในวงเงินจำกัดไม่เกิน 1,500 ล้านบาท 2.ทดลองดำเนินการกับลูกค้าเดิมของ บสย. 3.สถาบันการเงินต้องร่วมรับความเสี่ยงในอัตราที่เหมาะสม และ 4.ไม่เกิน 5 – 10 ล้านบาท/ราย

3.สินเชื่อระยะสั้น-กลาง สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย สำหรับกลุ่ม SME รายย่อย (Micro Enterprise) ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในกิจการระยะสั้น-กลาง เนื่องจากแหล่งเงินทุนภาครัฐมีระยะเวลาการชำระคืนประมาณ 5-7 ปี แต่ SME บางกลุ่ม มีความต้องการเงินทุนระยะสั้น-กลาง เพื่อใช้ในบางเรื่องเท่านั้น

“มอบหมายให้ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พิจารณาหาแนวทางในการจัดให้มีสินเชื่อระยะสั้น-ระยะกลาง เพื่อใช้หมุนเวียนในธุรกิจ”

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า 2.ด้านการพัฒนาระบบการให้ความรู้ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร ได้แก่ 1.พัฒนาระบบการให้ความรู้ในการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร (SME Academy 365) งบประมาณ 20 ล้านบาท

“มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น OKMD ดำเนินโครงการ SME Academy 365 เพื่อให้บริการองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจแก่ SME อย่างเป็นระบบ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์”

2.การส่งเสริมการจัดทำบัญชีของวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจรายย่อย งบประมาณ 10 ล้านบาท ได้แก่ การสนับสนุนให้ MSME ใช้ซอฟต์แวร์/แอปพลิเคชันในการจัดทำบัญชี การสร้างนักบัญชีชุมชนและการจัดทำมาตรฐานบัญชีสำหรับวิสาหกิจชุมชน

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า 3.ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการ งบประมาณ 30 ล้านบาท คือ Voucher การพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับวิสาหกิจรายย่อย/วิสาหกิจชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ออกแบบสินค้า สำหรับวิสาหกิจรายย่อย/ชุมชน ให้มีโอกาสทางการตลาดมากขึ้น

“สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของวงเงินสนับสนุน (Voucher) 150,000 บาท/สินค้า 1 ชิ้น”

4.ด้านการส่งเสริมด้านการตลาด ได้แก่ 1.พัฒนากลไกกลางในการพัฒนาช่องทางการตลาดให้แก่ SME งบประมาณ 15 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือ SME ด้านการจำหน่ายสินค้า 2.มหกรรมการจำหน่ายสินค้า SME (SME FEST) ระดับประเทศ และสัญจรในภูมิภาค งบประมาณ 40 ล้านบาท เพื่อสร้างรายได้ให้กับ SME และกระจายรายได้ให้เกิดการหมุนเวียนทั่วประเทศ

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า 5.ด้านการฟื้นฟูธุรกิจผู้ประกอบการ MSME ได้แก่ 1.MSME ล้มแล้วลุก เพื่อให้มีมาตรการช่วยเหลือ SME ที่อยู่ในระยะเริ่มต้นธุรกิจได้รับสินเชื่อ / เงินอุดหนุนจากภาครัฐและประสบปัญหาทางธุรกิจจนไม่มีความสามารถในการชำระคืน 2.การลดอุปสรรคในการฟื้นฟูธุรกิจ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ SME ที่ประสบปัญหาทางธุรกิจจนไม่มีความสามารถในการชำระคืน

“มอบหมายให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาการจัดตั้งหน่วยงานกลางทำหน้าที่แก้ปัญหา SME ที่เป็นหนี้เสียของสถาบันการเงินนับแสนรายที่ต้องได้รับการฟื้นฟู เช่น ศูนย์ฟื้นฟูกิจการ SME การจัดตั้ง AMC : Asset Management Company และศึกษากฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการฟื้นฟูธุรกิจของ MSME”

6.ด้านการประเมินศักยภาพและฐานข้อมูล SME Big Data คือ การพัฒนาระบบการประเมินศักยภาพ MSME (SME Scoring) และฐานข้อมูล SME Big Data งบประมาณ 20 ล้านบาท เพื่อเป็นเครื่องมือในการประเมินระดับศักยภาพของ SME และเป็นเครื่องมือให้การคัดเลือก SME เข้าร่วมโครงการภาครัฐ หรือ เป็นเครื่องมือช่วยสถาบันการเงินในการพิจารณาให้สินเชื่อแก่ SME

7.ด้านการพัฒนาระบบการสนับสนุนส่งเสริม SME ให้มีประสิทธิภาพ คือ การพัฒนาระบบให้เอกชนสามารถเป็นหน่วยงานในการให้การส่งเสริม MSME (Business Development Service : BDS) งบประมาณ 80 ล้านบาท เพื่อยกระดับส่งเสริมและพัฒนา MSME ให้สามารรถตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจให้มากขึ้น

“การให้นำภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา/ให้บริการแก่ SME โดยมีกี่สนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนให้ SME”

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า 8.ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดเล็ก คือ ต้นแบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

“เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมทั้งสร้างต้นแบบรูปแบบธุรกิจใหม่ภายใต้แนวคิด Circular Economy กลุ่มเป้าหมายอุตสาหกรรมพลาสติก ฟอกหนังและเกษตรแปรรูป”