IMF กระทุ้งแบงก์ชาติ ดำเนินนโยบายการเงินผ่อนปรน การันตี เสถียรภาพรัฐบาลบิ๊กตู่

วันนี้ (วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2562) เวลา 08.00 น. ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล นางคริสตาลินา กอร์เกียวา (Mrs. Kristalina Georgieva) กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Managing Director, International Monetary Fund: IMF) เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน สรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีขอบคุณกรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพ การเข้าร่วมของกรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศเป็นประโยชน์กับประเทศสมาชิก และคู่เจรจา และขอบคุณที่มาเข้าเยี่ยมคารวะเป็นโอกาสให้ได้ฟังความคิดเห็นโดยตรง และยินดีที่ให้เกียรติมาเป็นเจ้าภาพร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในงานสัมมนานานาชาติระดับสูงในหัวข้อ “Emerging Markets in the New Normal: Dealing with Rising Domestic Leverage and the International Financial Cycles”

“กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศยินดีความสำเร็จการจัดการประชุดสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องของไทย ชื่นชมบทบาทในเวทีระหว่างประเทศที่มีสนับสนุนความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความท้าทายในโลกปัจจุบันได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสองประเด็นที่ชื่นชมมาก คือมีการหารือเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการร่วมมือกันด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดในภูมิภาค ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมีเสถียรภาพ จึงส่งผลดีต่อการพัฒนาสำคัญทางเศรษฐกิจ”

อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่มีความท้าทายได้แก่การพัฒนาด้านการศึกษา และการพัฒนาแรงงาน ซึ่งรัฐบาลไทยยืนยันให้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเหล่านี้ โดยระบุในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจะมีการตรวจสอบ ปรับปรุงทุก 5 ปี ตลอดจนให้ความสำคัญกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และความเท่าเทียมทางเพศ

ทั้งนี้ในส่วนของการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมกรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ชื่นชมบทบาทไทยในเวทีอาเซียนซึ่งมีผลสำเร็จที่เป็นแผนแม่บทอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าในโอกาสที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ได้ยืนยันชัดเจนที่จะลดการใช้พลังงานหลัก เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการเผาไหม้กาซ CO2 ลดการใช้ขยะ และลดขยะในทะเล ในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายชื่นชมแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสนใจจะศึกษา ถือว่าเป็นประโยชน์กับชาวโลก

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นที่ผู้ว่าการธนาคารแต่ละประเทศเป็นห่วง คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)  ซึ่งแบงก์ชาติแต่ละประเทศต้องปรับตัวเพื่อเตรียมการทางการเงินรองรับ

“ท่านนายก ฯ ตอบกลับต่อ IMF ว่า เราดำเนินการเรื่อง Climate Change เยอะมาก อาทิ แผนปฏิบัติการเรื่องฝุ่น PM 2.5 เรื่องข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศในการรักษาทรัพยากรทางทะเลและขจัดขยะทางทะเล และเรื่องพลาสติกซึ่ง IMF ทราบว่าไทยจะยกเลิกการใช้พลาสติก (Single Use) โดยจะยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกในวันที่ 1 ม.ค.63 ซึ่งได้รับคำชื่นชมจาก IMF”

นางนฤมลกล่าวว่า ในส่วนการรายงานด้านเศรษฐกิจโลก IMF ได้ส่งรายงานมาล่วงหน้าแล้วและธปท.ได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าหลายข้อเสนอแนะจะนำมาดำเนินการ เช่น ช่องว่างที่ยังสามารถปรับได้ในเรื่องนโยบายทางการเงิน (monetary policy) ซึ่ง IMF จะหารือกับผู้ว่าธปท.อีกครั้งต่อไป ซึ่ง IMF เป็นห่วงว่าประเทศไทยยังมีจุดที่สามารถพัฒนาได้อีกเยอะจากศักยภาพที่มี โดยเฉพาะเรื่องนโยบายทางการเงินยังสามารถทำได้อีก เพราะว่าเรายังมีช่องว่างที่จะปรับได้อีกเยอะ

เมื่อถามว่า IMF ต้องการให้ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงใช่หรือไม่ นางนฤมลกล่าวว่า ไม่ได้พูดชัด หรือ เจาะจงไปที่เรื่องดอกเบี้ยนโยบาย เพียงแต่บอกว่าจะมีช่องว่างที่สามารถปรับได้อีกเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนมากขึ้น เพราะถ้าการลงทุนมากขึ้นจะเกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เศรษฐกิจก็จะเติบโตได้

เมื่อถามว่านโยบายด้านการเงินของธปท. นอกจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ก็คือมาตรการผ่อนปรนต่าง ๆ เช่น กฎเกณฑ์เรื่องสินเชื่อใช่หรือไม่ นางนฤมลกล่าวว่า ใช่ คือ การดำเนินการนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อให้เกิดการลงทุนและมีสภาพคล่องทางการเงินและเศรษฐกิจไปได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่ธปท.ที่จะตัดสินใจเพราะเป็นองค์กรอิสระและมีกนง.ที่เป็นอิสระในการกำหนดนโยบายการเงิน  

“ท่านนายก ฯ กล่าวว่า อย่างไรก็ดีธปท.เป็นองค์กรอิสระ ท่านเป็นฝ่ายบริหารไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงได้ ไม่สามารถไปสั่งการธปท.ได้ เพราะเคารพองค์กรอิสระดี”

นางนฤมลกล่าวว่า สำหรับนโยบายการคลังนั้น เมื่อวาน (4 พ.ย.) IMF ได้พบหารือกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว

เมื่อถามว่า IMF เป็นห่วงเศรษฐกิจไทยจุดใดเป็นพิเศษหรือไม่ นางนฤมลกล่าวว่า ไม่มีการพูดถึง อย่างไรก็ดีในรายงานของ IMF ระบุว่า ไทยยังสามารถปรับได้อีก เช่น เรื่องของนโยบายทางการเงิน ซึ่งต้องมีการหารือกันในระดับของผู้ว่าแบงก์ชาติ ซึ่งมีเวทีที่จะหารือกันว่าข้อแนะนำของ IMF จะนำมาดำเนินการได้อย่างไร

นางนฤมลกล่าวว่า นอกจากนี้ IMF อยากจะฝากให้ไทยที่น่าจะพิจารณาได้อีก คือ เรื่องของระยะยาว หรือ structure reform คือ การปรับโครงสร้างขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา พัฒนาอย่างไรให้มีคุณภาพ โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาดำเนินการ เรื่องการพัฒนาบุคลากร หรือ Skill Training พัฒนาทักษะของแรงงานไทย โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ซึ่งนายกรัฐบาลตอบกลับไปว่าอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งต้องทบทวนทุก 5 ปี

นางนฤมลกล่าวว่า IMF ยังได้พูดถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นแนวปรัชญาที่ IMF จะนำไปเผยแพร่ให้ทั่วโลกได้รู้เพราะเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับแนวทางของยูเอ็น ที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเป็นแนวทางที่ไทยชูเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) for การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีขอให้ IMF ช่วยเหลือเรื่องอะไรหรือไม่ นางนฤมลกล่าวว่า ไม่มี มีแต่เรื่องของคำแนะนำที่ส่งมาล่วงหน้าและคำแนะนำที่ส่งมาเพิ่มเติม ซึ่งจะหารือรายละเอียดกับธปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เลย รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินการของ IMF ในทุกมิติเพื่อให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนาที่ดีขึ้น

เมื่อถามว่า IMF ได้กล่าวถึงบรรยากาศภาพรวมของไทยหลังการเลือกตั้งหรือไม่ นางนฤมลกล่าวว่า ไม่ได้พูดถึง เขาพูดถึงรัฐบาลว่ามีเสถียรภาพ หลังเลือกตั้งแล้วน่าจะดำเนินการเรื่องการปฏิรูปในหลาย ๆ ด้านที่ได้กล่าวไป