“อภิสิทธิ์” ล้างพิษรัฐธรรมนูญ ฝ่าแนวต้านก้างตำคอ “พลังประชารัฐ”

การตั้งลูกแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง 2560 ชุลมุนตั้งแต่ยังไม่เริ่มยกแรก เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้ทีชิงเปิดเกมเสนอชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรค ซึ่งมีจุดยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่ยังไม่ทำประชามติ 7 ส.ค. 2559 นั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

ฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ แกนนำขั้วรัฐบาลที่ได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ 2560 มากที่สุด ตอบโต้ด้วยการเสนอชื่อ “สุชาติ ตันเจริญ” รองประธานสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมาขวางสุดตัว ตามรูปเกม แกนนำฝ่าย พปชร.ออกมาให้สัมภาษณ์เตะสกัดแบบ “เปิดหน้า” ทั้ง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม บิ๊กเบิ้มใน พปชร. กล่าวว่า “ที่มีการเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์เป็นประธาน กมธ. เชื่อว่าเขาอาจจะไม่รับ ควรเป็นแกนนำหลักของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นประธานกรรมาธิการ”

ทั้ง “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พลังงาน ในฐานะเลขาธิการ พปชร. กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ พรรคร่วมรัฐบาลต้องหารือกัน อย่าเพิ่งไปรีบตัดสินใจอะไรกัน

ขณะที่ผู้บัญชาการรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” ตีกรรเชียงหลบปมร้อน “อภิสิทธิ์” โยนให้เป็นเรื่องกระบวนการ-ระบบสภา

“ยังพิจารณาอยู่ คงต้องจัดสรรปันส่วนตามโควตาหรือตามจำนวน กมธ.ทั้งในส่วนรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล และฝ่ายค้านให้สมดุล สามารถพูดคุยกันได้อยู่แล้ว ใครจะเป็นก็เป็น ผมไปก้าวก่ายไม่ได้ เป็นเรื่องของระบบรัฐสภา”

พลิกไอเดียการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ “อภิสิทธิ์” ในขั้นแรกต้องวางประเด็นลงมา อะไรที่คิดว่าในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องเก็บไว้ อะไรที่คิดว่าในรัฐธรรมนูญมันไม่ใช่คำตอบ อะไรเป็นข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข ต้องมาเริ่มต้นพูดคุยกันแบบนี้มากกว่ามาชี้นิ้วกล่าวหากัน กินได้กินไม่ได้ แก้ได้แก้ไม่ได้

“การไปรีบพูดลงไปในรายละเอียดของสาระมันก็อาจไม่ใช่การเริ่มต้นที่ถูกต้อง แต่ต้องเอาทิศทางใหญ่ ๆ ก่อน เพราะถ้าเราชัดเจนอยู่แล้วว่าประเทศไทยต้องเป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียว แบ่งแยกไม่ได้ อยู่ในรูปของระบบรัฐสภา มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รักษาบทบาทสถาบันหลักที่สืบทอดประเพณีมาอย่างไร แต่ต้องทำให้การเมืองตอบสนองประชาชน มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีลักษณะของการส่งเสริมเรื่องเสรีภาพ มีการเปิดโอกาสให้มีบทบาทมากขึ้นที่ไม่ใช่ภาครัฐ การกระจายอำนาจ ซึ่งเราต้องมาตั้งโจทย์แบบนี้ว่าเราจะเคลื่อนกันไปแบบนี้ใช่หรือไม่”

“การตรวจสอบถ่วงดุล จะแก้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาเรามีปัญหาตรงนี้มาโดยตลอดว่า บางยุคบางสมัยในอดีตตรวจสอบถ่วงดุลไม่ได้เลย กลายเป็นเสียงข้างมากใช้อำนาจตามอำเภอใจ แต่บางยุคบางสมัยกลไกตรวจสอบก็ถูกกล่าวหาเสียเองว่าเข้ามามีส่วนในทางการเมืองมากกว่าเป็นเครื่องมือการตรวจสอบ ถ่วงดุลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ต้องเอาสิ่งเหล่านี้มาแลกเปลี่ยนกัน”

ทว่าเกมเตะสกัด ซัดกันแรง เพราะธงหลักของ “อภิสิทธิ์” ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ได้ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ ทั้งที่รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นกลไกทอดสะพานให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เบิ้ลอำนาจต่อจนสำเร็จ

แหล่งข่าวจาก พปชร.ที่ถูกวางตัวเป็นหนึ่งใน กมธ.วิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ยืนยัน 100% ว่าประธานเก้าอี้ กมธ. จะใช่ “สุชาติ ตันเจริญ” หรือไม่ แต่มีความเป็นไปได้สูง ส่วนที่ยืนยันหนักแน่น และแน่ชัดว่าเก้าอี้ประธาน กมธ.จะต้องเป็นของ พปชร. ไม่ใช่ของพรรคร่วมรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน และไม่ใช่ชื่อนายอภิสิทธิ์ ในจังหวะที่ “สุชาติ” ออกโรงลั่นวาจาว่า ถ้า พชปร.หาคนไม่ได้ และมีมติเสนอชื่อตนเองก็ไม่ปฏิเสธ

อย่างไรก็ตาม พลิกสัดส่วน กมธ.คณะดังกล่าวมี 49 คน เป็นจำนวนที่เหมาะสม มาจากรัฐมนตรี 12 คน ฝ่ายค้าน 19 คน รัฐบาล 18 คน ในโควตาฝ่ายรัฐบาลเป็นโควตาของ พปชร. 8 ที่นั่ง ที่เหลือ 10 ที่นั่งเป็นของประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา และพรรคอื่น ๆ ส่วนฝ่ายค้านที่มีสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้นำฝ่ายค้าน ประเมินว่าเพื่อไทยคาดว่าจะได้ 9 ที่นั่ง

ส่วนอนาคตใหม่ได้ 6 ที่นั่งตามขั้นตอน เมื่อตั้ง กมธ.ในสภาแล้วจะมีการประชุม กมธ. เพื่อโหวตเลือกประธาน กมธ. น่าจับตาว่า ระหว่าง พปชร.-ประชาธิปัตย์ และพรรคร่วมรัฐบาลจะเคลียร์กันลงตัวหรือไม่ โดยเฉพาะประชาธิปัตย์ส่ง “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” ไปกล่อมให้ พปชร.ยอมคายเก้าอี้

แต่ในมุมฝ่ายค้าน “ธนาธรจึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ วิเคราะห์สถานการณ์ว่า ที่นั่ง กมธ.ของฝ่ายค้านจะมากกว่าฝ่ายรัฐบาล แต่สิ่งที่ 7 พรรคฝ่ายค้านกลัว คือ เมื่อ พปชร. กระโดดมาเล่นเกมรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยที่สุด คือ hijack คือ ดึงโควตาประธาน กมธ.ให้อยู่กับฝ่ายรัฐบาล เมื่อเขากำหนดตัวประธานได้ ก็กำหนดวาระได้ การ hijack จากเดิมวาระให้เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) อาจกลายเป็นแก้รายมาตราเพื่อตอบคำถามสังคมว่า เห็นไหมแก้แล้ว กลัวว่าจะไปเป็นแบบนั้น


ขณะที่ “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อไทย บอกว่า เราก็ไม่หมูขนาดเตะหมูเข้าปากใครก็ไม่ทราบ