“ธีรภัทร ประยูรสิทธิ” แมวเก้าชีวิต ประสาน 20 กระทรวง ฝังตัวยุทธศาสตร์ชาติ

สัมภาษณ์พิเศษ

โดย ปิยะ สารสุวรรณ

เป็นข้าราชการซี 11 ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนาในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ “สองแผ่นดิน” เป็นข้าราชการซี 11 ที่ขึ้น “จุดสูงสุด” และลงสู่ “จุดต่ำสุด” ก่อนจะฟื้นคืนชีพ…เป็น “แมวเก้าชีวิต”

“ประชาชาติธุรกิจ” เปิดห้อง-เปิดใจ “ธีรภัทร ประยูรสิทธิ” ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีป้ายแดง “พ่อบ้านทำเนียบรัฐบาล” อดีตอธิบดีกรมป่าไม้-ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดชีวิตข้าราชการต้องนอนกลางดิน-กินกลางป่า-ช่วยชาวนาชาวไร่ในตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี “ธีรภัทร” มีภารกิจหลัก-ภารกิจใหม่-ภารกิจใหญ่ ทั้งระยะสั้น-กลาง ยาวอยู่ในหัว-ในมือ เพราะตำแหน่งนี้สำคัญมากในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

เร็ว รุก สุข จิตอาสาเพื่อสังคม

ทันทีที่ “ธีรภัทร” ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 62 นับ 1 การทำงานภายใต้สโลแกน “เร็ว รุก สุขกับงาน วิชาการนำหน้า จิตอาสาเพื่อสังคม” มีทั้งงานราษฎร์-งานหลวงที่เป็น “งานเร่งด่วน” 1.สนับสนุนการจัดงานพระราชพิธีสำคัญ โครงการพระราชดำริ โครงการจิตอาสาพระราชทาน ๙๐๔ วปร.

2.พัฒนาระบบการทำงานของส่วนราชการสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงการตรวจราชการส่วนราชการให้ทันสมัย รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3.พัฒนาสมรรถนะ ทักษะของบุคลากร วางแผนเส้นทางการทำงาน การเข้าสู่ตำแหน่ง ส่งเสริมสวัสดิการ สร้างความสามัคคี และสร้างความเป็นธรรมให้กับบุคลากรบรรเทาทุกข์ประชาชน

นอกจากงานในแล้ว “ธีรภัทร” ยังมี “งานนอก” เพราะปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง-มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนนโยบายในคณะกรรมการกว่า 158 คณะ

4.พัฒนาการทำงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนชุดต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว 5.บูรณาการเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนทุกระดับโดยเฉพาะผลกระทบ จากภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ภัยแล้งและปัญหาสิ่งแวดล้อม

ประชาราษฎร์ดั่งญาติมิตร

ระยะสั้น 3 ภารกิจหลัก-ภารกิจแรกการเทิดทูนสถาบันหลักและส่งเสริม เอกลักษณ์ของชาติ น้อมนำศาสตร์พระราชา พระราชดำริ และพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางปฏิบัติงาน

ภารกิจที่ 2 การขับเคลื่อนนโยบายรัฐ ต้องติดตามและตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของทุกหน่วยงานให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี รวมถึงบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ภารกิจที่ 3 การบริการประชาชน เช่น การบริการข้อมูลข่าวสารทางราชการโดยไม่กระทบกับความมั่นคงแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน “ปลัดป้ายแดง” ให้คำจำกัดความของ “ผู้ตรวจราชการของสำนักนายกรัฐมนตรี” ว่า เป็น “ซูเปอร์ผู้ตรวจ” ต้องติดตาม-ประสานงาน-บูรณาการ 20 กระทรวงและส่วนภูมิภาคเพื่อกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

“ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ต้องทำ ข้าราชการต้องรับใช้ประชาชน ทำงานเชิงรุกและรวดเร็ว”

“นึกถึงใจเขาใจเรา ต้องมองประชาชนเป็นเหมือนญาติมิตร สมัยก่อนข้าราชการมองประชาชนเป็นคนไกลตัว ทำงานไม่เต็มกำลัง เช้าชามเย็นสามชาม ปัจจุบันดีขึ้นและอนาคตควรจะต้องดีมากขึ้นอีก”

Special Task Force บิ๊กตู่

ในระยะกลาง-ระยะยาว “ธีรภัทร” อาสาเป็น “โต้โผใหญ่”-special task force 1.บูรณาการหน่วยงานในสังกัดนายกรัฐมนตรีแต่ไม่ได้ขึ้นตรงให้เป็นเอกภาพและประสิทธิภาพสูงสุด เช่น สภาพัฒน์ ก.พ. ก.พ.ร. สำนักงบฯ กฤษฎีกา ฯลฯ

2.พัฒนา ปรับปรุง ปรับแก้กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย โดยเฉพาะกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชน

3.กำกับ ติดตามงานราชการส่วนภูมิภาค โดยจะต้องอำนวยประโยชน์ให้กับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ทำงานรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ให้เกิดการเดินขบวนมาที่ทำเนียบรัฐบาล

4.กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น โดยเพิ่มกำลังคน งบประมาณ สุดท้ายบางงานอาจโอนกลับไปให้หน่วยงานเดิมเพื่อแก้ปัญหาไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชน

“ผมอยากชวนผู้บริหารมาคุยกันเพื่อขับเคลื่อนงานให้เป็นประโยชน์มากขึ้น เชิญมาประชุมอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เป็นวาระเฉพาะเรื่อง เช่น การบริหารราชการแผ่นดินเพื่อบูรณาการการทำงานเพื่อพัฒนาประเทศ”

แม้ “กิจวัตร” ของสำนักงานปลัด ทำเป็น “งานประจำ” อยู่แล้ว แต่ “ปลัดไฟแรง” ต้องการให้เสริม-เติมให้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชน และผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

3 หมวกปฏิรูป-ยุทธศาสตร์ชาติ-จิตอาสา

ในช่วงที่ “ธีรภัทร” เป็นผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 2 ปี ยังสวมหมวก กรรมการปฏิรูป-“ที่ปรึกษากรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” และ “ผู้แทนรัฐบาลประสานงานโครงการจิตอาสาพระราชทาน ๙๐๔ วปร.”

“ธีรภัทร” ไม่ขอพูดถึงเหตุผลที่ทำให้ถูกย้ายมานั่ง “ผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” บอกแต่เพียงว่าการทำงานเหมือนการเล่นกีฬาที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวผู้เล่นตามแผนที่วางไว้ เมื่อภารกิจพิเศษสำเร็จก็ส่งอีกทีมลงต่อ และพร้อมรับคำสั่งในการทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย

จากสูงสุด สู่ ต่ำสุด…ฟื้นคืนชีพ

ขึ้นสู่ “จุดสูงสุด” จากอธิบดีกรมป่าไม้-ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ลงสู่ “จุดต่ำสุด” ในตำแหน่ง ผู้ตรวจการก่อน “กราฟชีวิต” จะขึ้นสู่สูงสุดอีกครั้งในตำแหน่งปลัดสำนักนายกฯ เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายหรือไม่ ?

“ผมมองว่าสิ่งที่ทำมาไม่ได้มองว่าต้องเป็นตำแหน่งอะไร ที่ทำงานมาทุกวันนี้ผมทำในหน้าที่ให้ดีที่สุด ทำให้บรรลุเป้าหมายตามแผนที่วางไว้”

“ไม่เคยคิดว่าสิ่งที่ทำไปต้องได้เป็นอธิบดี ต้องได้เป็นปลัดกระทรวง แต่ในส่วนตรงนี้ผู้บังคับบัญชาได้เมตตา ได้เห็นในสิ่งที่เราทำ ผมเป็นอะไรก็ได้ อยู่ที่ไหนก็ทำงาน ถามคนรอบข้างทุกคนได้”

แม้ข้าราชการที่มาดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการถูกมองว่าเป็นการลงโทษ-เด้งมาเข้ากรุ การขึ้นมาเป็นปลัดสำนักนายกฯถือเป็นการฟื้นคืนชีพหรือไม่ ?

“ธีรภัทร” ยอมรับว่า “สมัยก่อน…จริง ๆ คนก็คิดอย่างนั้น”

“ผมทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย ไม่ได้คิดเลยว่าต้องไปเป็นตำแหน่งไหน ถึงอยู่ตรงนี้เป็นผู้ตรวจการไปตลอด ผมก็ยังมุ่งมั่นทำงานตามภารกิจที่รับมอบหมาย และทำเพิ่มด้วย (เสียงดัง) กับอีกหลายภารกิจที่เห็นว่า เราทำได้และจะต้องทำ ไม่เคยหวังว่าจะต้องเป็นปลัดกระทรวงนั้น กระทรวงนี้ หรือปลัดที่นี่ แต่เมื่อได้รับมอบหมายแล้วก็จะทำให้ดียิ่งขึ้น”

ทันทีที่มี “คำสั่ง คสช.” โยกย้าย “ธีรภัทร” จากปลัดกระทรวงเกษตรฯมาเป็นผู้ตรวจการ ข้อความในข่าว “ผสมโรง” กับข้าราชการสีเทา และมีข่าวแพร่สะพัดว่าถูกย้ายเพราะไม่สนองนโยบาย-ทำงานไม่เข้าตาฝ่ายการเมือง

ใช้ความดีสยบคำครหา

“ธีรภัทร” ยืดอกตอบคำถามเสียงดังฟังชัดว่า “คำสั่งย้ายของผมไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ใช่จากคำสั่ง คสช. หรือมาตรา 44 เป็นเรื่องความเหมาะสมในช่วงการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศโดยเป็นมติคณะรัฐมนตรีปกติในข้อความคำสั่ง “เพื่อประโยชน์ของการปฏิรูป”

สำทับกับการให้สัมภาษณ์ของ “วิษณุ เครืองาม” ผู้ที่เห็นคำสั่ง คสช.เป็น คนแรก ๆ ว่า “ไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริต”

“สมัยที่อยู่กระทรวงเกษตรฯสามารถประหยัดงบประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ภายใน 2 ปี ช่วยวางระบบแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย (IUU) ยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก.จากการยึดครองของนายทุนกว่าแสนไร่ เร่งรัดการจ่ายเงินน้ำท่วม-ภัยแล้งที่ค้างปี ภายใน 5 เดือน”

“กองทุนฟื้นฟูฯแก้หนี้เกษตรกร ลงทะเบียนไว้ 5 แสนราย ตรวจสอบตามเกณฑ์ทำให้เหลือเพียง 3 แสนราย อีก 2 แสนรายไม่เข้าเกณฑ์ รวมทั้งวางรากฐานการปฏิรูปด้านการเกษตรและสหกรณ์ในหลายเรื่อง”

อดีตอธิบดีกรมป่าไม้-อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ถูกย้ายมาจากคำสั่งพิเศษและทำผลงานดีไม่มีข้อครหาตลอดชีวิตข้าราชการ

ก่อนมติคณะรัฐมนตรีเพียงวันเดียว เก้าอี้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีปรากฏชื่อ “เสธ.ไก่อู” พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ “ตีคู่” กลับมาเบียด “ธีรภัทร” รู้สึกเซอร์ไพรส์หรือไม่ ?

“ขอไม่พูดเรื่องนั้น ไม่อยากก้าวล่วงตรงนั้น คิดว่าท่านนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วว่าเราสามารถช่วยงานได้
การทำงานที่ผ่านมาผมไม่เคยยึดอยู่กับตำแหน่ง อยู่ที่ไหนก็ทำงานให้ดีที่สุดครับ”

คำถามของข้าราชการที่ถูกเด้งเข้ากรุ-ตบยุงในตำแหน่งผู้ตรวจการ หลายรายมักกินเงินเดือนฟรี ๆ รอวันเกษียณ-การเมืองเปลี่ยนขั้ว ทว่า “ธีรภัทร” ยังทำงานที่นอกเหนือจากหน้าที่ที่รับผิดชอบ เช่น จิตอาสา

“เรื่องจิตอาสาเป็นเรื่องสำคัญ เป็นพระบรมราโชบายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานเพื่อให้คนไทยมีความสามัคคี มีความสุขและประเทศชาติมีความมั่นคง เรามองว่าหลายเรื่องหากเราไม่ทำ รอคนอื่นทำ ทุกอย่างจะกลับมากระทบญาติพี่น้องเรา ครอบครัวเรา ทำให้อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ เพราะวันหนึ่งอาจจะกลับมาเจอกับตัวเรา”

ถึงลูกถึงคน-ลูกน้องตายแทนได้

สไตล์การทำงานชนิด “ถึงลูกถึงคน”- “วีรกรรม” ของ “ธีรภัทร” สมัยอยู่กรมป่าไม้และกระทรวงเกษตรฯ จนได้ชื่อว่าเป็น “ขาลุย”-“สายบู๊” แต่สามารถ “แตะหัวใจ” ลูกน้อง-ผู้ใต้บังคับบัญชา “เข้าไปทำงานใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่การทำงานแบบผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา หรือเจ้านายกับลูกน้อง ทำงานเหมือนเป็นเพื่อนร่วมงาน บางครั้งเป็นงานเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายที่ไปจับกุมผู้มีอิทธิพล ตายแทนกันได้ เราจึงต้องดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพของเขาให้ดีด้วย”

“ตอนย้ายมา เจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โหวตให้ผมเป็นผู้บริหารในดวงใจประจำปี 2560 เท่านี้ผมมีความภูมิใจและมีความสุขแล้ว”