ภูมิใจไทย เปิดศึกสื่อค่ายใหญ่ พัวพัน พปชร. “คมนาคม” ในโซนอันตราย

การต่อสู้ของนักการเมืองค่ายภูมิใจไทย (ภท.) กับสื่อ ที่มาจากต้นตำรับ “เพื่อนเนวิน” คู่แฝดอภินิหาร “อนุทิน ชาญวีรกูล” ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรค ไม่ใช่ครั้งนี้ครั้งแรก

หากเริ่มตั้งแต่เมื่อทศวรรษ 2551 ครั้งเป็น “สื่อกระดาษ” ในนาม “หนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์” จนถึงยุคไซเบอร์ ในนามของ “prachatouch”

การจรยุทธ์ในวงการสื่อของพลพรรคภูมิใจไทย นับเป็นสไตล์เฉพาะตัว เป็นเอกลักษณ์ต้นฉบับการเมือง-ที่หาตัวจับยาก

ล่าสุดการเปิดศึก “สื่อค่ายใหญ่” กับ “ภูมิใจไทย” ร้อนแรง แหลมคม

เรื่องราวขยายวงไปถึง ผู้ถือหุ้นใหญ่สื่อใหญ่รายหนึ่งซึ่งเป็นพันธมิตรธุรกิจกับเครือข่ายภูมิใจไทย ส่งสัญญาณ “ไม่เพิ่มทุน”

ข่าวที่ว่า “การเมืองแทรกเพิ่มทุนสื่อค่ายใหญ่” จึงเป็นประเด็นพาดหัวของหนังสือพิมพ์ธุรกิจฉบับในเครือคู่ขัดแย้ง ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562

ไม่กี่ชั่วโมงต่อมาที่อาคารัฐสภา “ศุภชัย ใจสมุทร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นขอหารือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตั้งข้อสังเกตว่า “การเมืองแทรกแซงสื่อ หรือ สื่อแทรกแซงการเมือง”

“ศุภชัย” กระทบชิ่งไปถึง “ภรรยา” เจ้าของสื่อ ที่เป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

“หนังสือที่บริษัท แจ้งต่อกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ได้ระบุเรื่องการเมืองแทรกแซง มีแต่เรื่องเทคโนโลยีคุกคามธุรกิจ จนไม่สามารถทำธุรกิจได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จนถึงวันนี้มีข่าวออกมาตลอดซึ่งพฤติกรรมของซีอีโอหรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทำให้การเมืองเสื่อมเสีย และตัวท่านเองมีรายชื่อที่เป็น ส.ว. สำรอง อยู่ด้วย ตรงนี้จึงถูกตั้งคำถามว่า สื่อแทรกแซงการเมืองหรือการเมืองแทรกแซงสื่อ”

“ความจริงแล้ว ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯนั้น เขา ไม่ได้มีความประสงค์เพิ่มทุน เพราะเป็นปัญหาเรื่องธุรกิจของท่านเอง ตรงนี้เป็นปัญหา ซึ่งเราต้องคิดกัน วันนี้นักการเมืองท่านหนึ่ง ในสภาฯ นี้ เป็นอดีตประธานของเนชั่น ขณะที่สามีท่าน ไปเป็นประธานฯ แทนท่าน จึงไม่รู้ใครครอบงำใคร ใครแทรกแซงใคร”

“ให้ประธานสภา ทำหนังสือสอบถามไปยัง ซีอีโอ.สื่อดัง ว่านักการเมืองที่อ้างถึงคือใคร อ้างลอยๆ แบบนี้เราเสียหาย” นายศุภชัยกล่าว

ปฐมเหตุปรากฏการณ์ที่ผ่านมา เริ่มต้น “สื่อค่ายใหญ่” ตั้งวงวิพากษ์-วิจารณ์ ออกอากาศสถานีโทรทัศน์ ในเครือสื่อรายใหญ่มีคีย์เวิร์ดเกี่ยวกับกรณีที่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ตกเป็นเป้าซักฟอกของฝ่ายค้าน ในประเด็นที่คาบเกี่ยวความไม่ชอบมาพากลที่อาจนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เรื่องราวไปไกลเมื่อ พรรคภูมิใจไทย มีมติให้ลูกพรรคฟ้องร้อง “สื่อค่ายใหญ่” ทั่วประเทศ ฐานหมิ่นประมาท ต้นเหตุจากรายการดังกล่าว ผ่าน “แบบรายงานเหตุอุกฉกรรจ์ และสะเทือนขวัญ และเหตุที่ต้องรายงานด่วน”

ขณะที่ “สื่อค่ายใหญ่” โพสต์ข้อความผ่านทุกเพจในเครือ-เปิดช่องทางให้ ประชาชน ข้าราชการ ทั่วประเทศ ที่พบเห็นพฤติกรรมของผู้แทนภูมิใจไทย เข้าข่ายแทรกแซง หรือ สั่งการโดยมิชอบ ร้องเรียนเข้ามาได้ทันที

เกมนี้ฟัดกันนัว นักวิเคราะห์การเมืองคิดไปไกลถึงเกมแซะเก้าอี้ศักดิ์สยาม ชิดชอบ พ้นตำแหน่ง รมว.คมนาคม เปิดทางให้การเมืองอีกขั้วในพรรคพลังประชารัฐ ที่เกี่ยวดองกับ “สื่อค่ายใหญ่” ได้ซิวตำแหน่งไปครองหรือไม่?

การเมืองแทรกแซงสื่อ หรือ สื่อแทรกแซงการเมือง ขึ้นอยู่กับใครจะเป็นฝ่ายตอบ

แต่ตามประวัติการเปิดศึกระหว่าง “ภูมิใจไทย” กับสื่อไม่ธรรมดา เพราะเคยมีคดีแต่เก่าแก่ตั้งแต่ยังใช้นามเดิม “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ช่วงสมัยปลายยุค “ทักษิณ ชินวัตร” รุ่งเรือง

ข่าวม็อบปิดล้อมอาคารสื่อค่ายใหญ่ โดยมีแกนนำ อย่าง “คำตา แคนบุญจันทร์” ถูกเชื่อมโยงว่ามีสายสัมพันธ์ฐานะ นาย-ลูกน้อง กับนักการเมืองใหญ่รายหนึ่ง สมัยที่นั่งเก้าอี้ อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลไทยรักไทย จนนำไปสู่การฟ้องร้องหลายคดี

เรื่องผ่านศาลชั้นต้น มาถึงศาลชั้นอุทธณ์ ซึ่งจำเลย มี 6 คน ถูกศาลพิพากษาจำคุก ประกอบด้วย นายคำตา แคนบุญจันทร์ สมัชชาเกษตรรายย่อย, นายอรรถฤทธิ์ สิงห์ลอ เลขาธิการคาราวานคนจน, นายชูพงษ์ ถี่ถ้วน, นายธนวิชญ์ ปาละกะวงศ์ ณ อยุธยา แกนนำคาราวานคนจน, นายชิวัฒน์ หาบุญพาด แนวร่วม นปช. และ นายสำเริง อดิษะ แกนนำคาราวานคนจน เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐาน ร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้เกิดความหวาดกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย, กักขัง หน่วงเหนี่ยว และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 กระทั่งบัดนี้ นายคำตาได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2555

ครั้นหลังจากสิ้นยุคไทยรักไทย เข้าสู่ยุค “พลังประชาชน” กลุ่มเพื่อนเนวิน เปิดสื่อหนังสือพิมพ์ในมือชื่อว่า “ประชาทรรศน์” ควบคู่กับ “สื่อทีวี” ของทักษิณและทีม นปช.ยุคที่การเมืองร้อนแรง แตกแยก เหลือง – แดง เป็นยุคที่ “ประชาทรรศน์” ทำเงินจากยอดขายได้พอสมควร แถมเคยบุกแผงหนังสือในร้านสะดวกซื้อ 7-11

จนการเมืองพลิกขั้ว จากวาทกรรม “จบแล้วครับนาย” กลุ่มเพื่อนเนวิน ย้ายมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล มีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วก่อเกิดพรรคภูมิใจไทยขึ้นมา “สี” ของ “หนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์” ก็เปลี่ยนจากสีแดง มาเป็นสีน้ำเงิน ตามสีของภูมิใจไทย เมื่อเปลี่ยนฝั่ง – ย้ายค่ายไม่นาน “ประชาทรรศน์” ก็ปิดตัวลง

ทีมงานประชาทรรศน์” บางส่วนก็ย้ายมาอยู่ “ทีวีมหาดไทย” ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเริ่มตั้งในยุค “ชวรัตน์ ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ขณะนั้น เป็น มท.1 บางส่วนก็ย้ายไปทำงานกับพรรคภูมิใจไทย และหลงเหลือมาเป็นทีมงานโซเชียลฯ ให้ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยคนปัจจุบันนี้

ปฏิบัติการของภูมิใจไทย ที่มีพี่ใหญ่ “เนวิน ชิดชอบ” เป็นอาจารย์ใหญ่ กับสื่อค่ายใหญ่ ไม่ใช่เพิ่งเคยเกิด

แต่ศึกครั้งนี้แรงกว่าศึกครั้งก่อน เพราะ “ศักดิ์สยาม” น้องชายแท้ๆ ของ “เนวิน” กำลังถูกล่อเป้า

ตำแหน่ง รมว.คมนาคมถูกทำให้อยู่ในโซนอันตราย