ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่พรรคเพื่อไทยโหมโรงตั้งแต่เริ่มเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญ ครั้งที่ 2 ว่าเป็นเกมเด็ด-เกมเดือด ล็อกเป้าการบริหารงานที่ล้มเหลว ผิดพลาดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1
แม้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ผสม 16 พรรค ที่มีส่วนผสมเป็นทหารเก่า+นักการเมือง เข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ เพิ่งครบ 4 เดือนเต็ม แต่ศึกนี้ 7 พรรคฝ่ายค้าน นำทีมโดย เพื่อไทย อนาคตใหม่ ประชาชาติ เพื่อชาติ เศรษฐกิจใหม่ เสรีรวมไทย และพลังปวงชนไทย ลั่นวาจาไว้มิอาจอ่อนข้อ
“สุทิน คลังแสง” ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) บอกว่า อภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านไม่หวังว่ามือในสภาจะล้มรัฐบาลได้ แต่มือนอกสภาต่างหากที่รัฐบาลไม่ควรมองข้าม แต่บอกเลยว่ามือนอกสภาไม่ใช่ม็อบอย่างแน่นอน และการอภิปรายในสภาครั้งนี้อาจเป็นแค่เปิดแผล แต่แผลจะมาเน่าข้างนอกสภาจนติดเชื้อ
เบื้องต้นขีดเส้นประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจ 5 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มความผิดทุจริต 2.ไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ 3.ความไม่เหมาะสมในการเป็นผู้บริหารประเทศ 4.การละเมิดกฎหมาย 5.ดิสเครดิตประเทศต่อสายตาต่างชาติ 7 พรรคฝ่ายค้าน จึงตั้ง “ทีมเฉพาะกิจ” เพื่อภารกิจ “ซักฟอก” เป็นการเฉพาะ เฟ้นมือดี มือประสานพรรคละ 1 คน ยกเว้นเพื่อไทยที่มีโควตา 2-3 คน ทำหน้าที่เซตประเด็น ขุดคุ้ยข้อมูลความไม่ชอบมาพากลการบริหารงานของรัฐบาล แบ่งทีมชนิดกระทรวงใครกระทรวงมัน กรมใครกรมมัน แล้วมาแชร์ข้อมูลจัดคิวอภิปรายไม่ให้ซ้ำกันในแต่ละพรรค ป้องกันไม่ให้รัฐบาล “ตัดเกม” ว่าเป็นการ “อภิปรายซ้ำซาก”
และที่สำคัญ “ป้องกันความลับไม่ให้รั่วไปถึงหูรัฐบาล” เพราะหากมากคนมากความ มากพรรคโอกาสเสี่ยงความลับรั่วย่อมมีสูง โดยมี ส.ส.แต่ละพรรคเป็น “กำลังเสริม” ภายนอกคอยป้อนข้อมูลจากพื้นที่ไม่เฉพาะแค่รวบรวมการทำงานของรัฐบาล 4 เดือนที่ ครม.ประยุทธ์ 2/1 เข้าบริหารประเทศ แต่ย้อนกลับไปถึงรัฐบาลลายพราง ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กุมบังเหียน
แหล่งข่าววงในเพื่อไทย บอกว่า หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปกติ ฝ่ายค้านอาจจะหาข้อมูลยากกว่านี้ แต่รัฐบาลปัจจุบัน มีรัฐมนตรีหลายคนทำงานมาตั้งแต่ยุค คสช. ซึ่งปรากฏร่องรอยความผิดปกติต่อเนื่อง สะสมมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ฝ่ายค้านหาข้อมูลไม่ยากนัก แต่ความยากของการซักฟอกตามรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยกระดาษแผ่นเดียว แล้วยืนด่ารัฐบาลได้เป็นชั่วโมงเหมือนในอดีต
“แม้จะเอาผิดทุจริตกับรัฐบาลยาก ต้องตีให้โดน คั้นให้บาดเจ็บ แต่ฟ้องกลับฝ่ายค้านไม่ได้ แล้วโยนให้สังคม โดยเฉพาะสังคมโซเชียลมีเดียจัดการต่อ”
แผนลึก-ลับ อีกชุดหนึ่ง คือ “ทุจริตเชิงนโยบาย” เป็นข้อหาเดียวกับที่พรรคบริวารของ ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชน จนถึงเพื่อไทย ถูกตราหน้าด้วยคำครหานี้ แต่ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจเที่ยวนี้ ฝ่ายค้านวางแผนหยิบมาย้อนศรเล่นงานกลับรัฐบาลประยุทธ์ 2/1
ทั้งการวางผังเมืองเอื้อนายทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) การเข็นโปรเจ็กต์ยักษ์โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 แสนล้านเข้ากระเป๋านายทุนรายใหญ่ ฯลฯ ดังนั้น รายชื่อ-ตัวเต็งที่ปรากฏออกมามีทั้งเบอร์ 1 พล.อ.ประยุทธ์ ในประเด็นการบริหารประเทศที่ล้มเหลว และการปล่อยปละละเลยในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยถูกซักฟอกในภาพรวม ตามด้วยพี่รองแห่งบูรพาพยัคฆ์
“พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย เกี่ยวกับการใช้งบประมาณท้องถิ่น มีปมพิรุธเรื่องเงินกระเด็นหายกลางทางกว่าจะถึงมือท้องถิ่น อาจมี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี เข้าข่ายการบริหารงานด้านเศรษฐกิจล้มเหลว มีโครงการในอีอีซีที่ส่อทุจริต-รวมถึง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”
รมว.คมนาคม ถูกเพ่งเล็งเรื่องความไม่ชอบมาพากลในบางโครงการของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ทีมงานเฉพาะกิจ 7 พรรคฝ่ายค้าน เตรียมสรุปประเด็น-คนที่จะถูกซักฟอกช่วงปลายเดือน พ.ย. จากนั้นจะมีการเขียนญัตติเพื่อยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่เกินวันที่ 5 ธ.ค.และเปิดเวทีซักฟอก คาดว่าไม่เกิน 20 ธ.ค.
ขณะที่ความเคลื่อนไหวพรรคเล็ก 5 พรรคที่เป็นกองหนุนรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคประชาธรรมไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย รวม 8 เสียง กลับจับมือกันแน่นเพื่อต่อรองในเกมอำนาจ
ชัชวาลย์ คงอุดม หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท โต้โผใหญ่ 5 พรรคเล็ก ประกาศว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าฟังแล้วเห็นว่ารัฐมนตรีชี้แจงได้มีเหตุผล จะยกมือให้ แต่ถ้าตอบไม่ดี เหตุผลฟังไม่ขึ้น ก็เอาไว้ไม่ได้ในภาวะรัฐบาลปริ่มน้ำ รัฐบาล ไม่อาจประมาทได้ แม้ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มั่นใจว่ารับมือไหวก็ตาม